เร่งหน่วยงานฯ ออกมาตรการ ปราบแอปฯ เงินกู้เถื่อนออนไลน์

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ทวงถามความคืบหน้า การแก้ไขปัญหาแอปฯ เงินกู้เถื่อนออนไลน์ พร้อมยื่นข้อเสนอจัดระเบียบแอปฯ เงินกู้ออนไลน์ ก่อนที่อาชญากรรมทางการเงิน ทำลายเศรษฐกิจรากหญ้า

        จากประเด็นปัญหาบนโลกออนไลน์ ที่มีผู้บริโภคจำนวนมากได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง เมื่อถูกล่อให้เข้าไปใช้ “แอปพลิเคชัน เงินกู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการตามกฎหมาย” หรือแอปฯ เงินกู้เถื่อน ซึ่งถึงแม้ว่าหน่วยงานของรัฐจะดำเนินการจับกุมขบวนการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการปัญหาได้ทั้งหมด อีกทั้งยังพบว่า ขบวนการดังกล่าวเป็นการหลอกลวงข้ามชาติ โดยมีชาวต่างชาติเป็นนายทุนเบื้องหลังนั้น

        26 มีนาคม 2565 กมล กมลตระกูล ประธานอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สอบ. ระบุว่า สอบ.ทำข้อเสนอส่งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2565 แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด

        ประธานอนุกรรมการด้านการเงินฯ มองว่า ปัญหาแอปพลิเคชันเงินกู้เถื่อนออนไลน์ดังกล่าว ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาอาชญากรรมทางการเงินระดับประเทศ อีกทั้งควรมีกระบวนการที่ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้ ความเข้าใจทางการเงินให้มากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

“ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเป็นหน่วยหลักในการจัดการปัญหาแอปฯ เงินกู้เถื่อน ดังนั้น จึงอยากให้มีหน่วยงานที่เข้ามารับผิดชอบเป็นหลัก เพื่อให้สามารถจัดการปัญหาอย่างทันท่วงที เนื่องจากตอนนี้มีผู้เดือดร้อนจากการกู้เงินผ่านแอปฯ เถื่อนจำนวนมาก” กมลกล่าว

          ทั้งนี้ สอบ.ส่งข้อเสนอเกี่ยวกับแอปพลิเคชันเงินกู้ออนไลน์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1. ธนาคารแห่งประเทศไทย 2. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 3. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ 5. บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีรายละเอียดข้อเสนอ ดังนี้

ข้อเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทย มีทั้งหมด 8 ข้อ ดังนี้

1. จัดตั้งหน่วยงาน One Stop Service รับเรื่องร้องเรียนปัญหาแอปพลิเคชันเงินกู้ออนไลน์โดยตรง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค และเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับบริการแอปฯ เงินกู้ออนไลน์

2. จัดทำฐานข้อมูลของแอปฯ เงินกู้ ที่ขึ้นทะเบียนกับธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้โดยง่าย

3. จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ข้อมูลเกี่ยวกับการขอกู้ยืมเงินจากแอปฯ เงินกู้ออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย เช่น การคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ช่องทางตรวจสอบค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการต่าง ๆ ของแอปฯ เงินกู้ และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น

4. จัดให้มีการแสดงตราสัญลักษณ์หรือลักษณะที่จะตรวจสอบ ณ จุดใช้บริการทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ เพื่อผู้บริโภคสามารถระบุได้ว่าแอปฯ เงินกู้นั้นถูกกฎหมายหรือไม่

5. จัดหาแหล่งเงินทุนที่ถูกกฎหมายที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่ต้องมีหลักประกันเพิ่มขึ้น

6. ขอให้ประสานแจ้งไปยังธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อทบทวนความเข้มงวดของ KYC (Know Your Customer) และ CDD (Customer Due Diligence) โดยเฉพาะการโอนเงินที่ผิดปกติ หรือมีรูปแบบการโกงซ้ำ (Repeated Pattern) เนื่องจากผลสำรวจพบว่า แอปฯ เงินกู้ออนไลน์ส่วนใหญ่ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เป็นแอปฯ ที่เปิดบัญชีโดยธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮาส์ จำกัด (มหาชน)

7. ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกระเบียบกำหนดให้การปล่อยกู้ผ่านแอปฯ เงินกู้ออนไลน์เป็นเรื่องผิดระเบียบและกฎหมาย เพราะไม่มีการจดทะเบียน และห้ามโฆษณาการปล่อยกู้เงินทางสื่อออนไลน์ทุกรูปแบบ

8. ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกระเบียบหรือขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินทั้งหมด สร้างมาตรการ และเครื่องมือเฝ้าระวัง และตรวจสอบธุรกรรมออนไลน์ที่มีลักษณะผิดปกติ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

………..

ข้อเสนอต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มี 5 ข้อ ดังนี้

1. เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการกับแอปฯ เงินกู้ที่ผิดกฎหมายในส่วนของการคุ้มครองความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

2. จัดให้มีมาตรการกำกับดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ โดยจัดให้มีระบบตรวจสอบ กลั่นกรองผู้ประกอบการ ไม่ให้ประกอบธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย

3. ควรมีระบบการกำกับและป้องกันการเผยแพร่ หรือโฆษณาข้อมูลแอปฯ เงินกู้ผิดกฎหมายบนสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

4. ควรดำเนินการตรวจตรา ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และปราบปรามแอปฯ โดยใช้เครื่องมือการค้นหาผ่านกูเกิล (Google) และหากพบว่าเป็นแอปฯ ที่ผิดกฎหมายขอให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 เพื่อเป็นการป้องปรามผู้กระทำความผิด

5. สร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภคให้เท่าทันต่อการปล่อยกู้ออนไลน์ผ่านช่องทางต่าง ๆ

ข้อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มี 3 ข้อ ดังนี้

1. ควรมีมาตรการระงับการส่งข้อความ (SMS) ที่อาจมีข้อความโฆษณาเชิญชวนหรือหลอกลวงให้ผู้บริโภคทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ

2. ขอให้บังคับใช้ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ.2558 เนื่องจากกฎหมายนี้มีโทษปรับสูง ซึ่งอาจจะช่วยป้องกันปัญหาได้

3. ขอให้ควบคุมแอปฯ ที่แฝงผ่านระบบเครือข่ายโทรคมนาคม โดยมีกระบวนการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคโดยผู้บริโภคไม่รู้ตัว โดยเฉพาะแอปฯ ที่ให้เข้าถึงผ่านระบบไมโครโฟนบนโทรศัพท์มือถือ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ แอปฯ ตกแต่งใบหน้า เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันมีการเข้าถึงข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายมือถือ ที่มีนโยบายคุกกี้เก็บข้อมูลชั่วคราวบนคลาวด์ ซึ่งผู้บริโภคไม่รู้ว่ามีการเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภคได้ถึงระดับใด

……….

ข้อเสนอต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มี 4 ข้อ ดังนี้

1. ต้องไม่ปฏิเสธการรับแจ้งความ เมื่อมีผู้ที่ได้รับความเสียหายไปแจ้งความดำเนินคดีกับแอปฯ เงินกู้ที่ผิดกฎหมาย ถึงแม้ว่าจะเป็นการยินยอมทำธุรกรรมร่วมกัน เนื่องจากเป็นการกระทำภายใต้เงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมและผิดกฎหมาย รวมถึงกรณีทวงหนี้ผิดกฎหมายด้วย

2. ควรสนับสนุนกระบวนการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดอย่างรวดเร็วทันการณ์ ภายใน 1 – 2 วัน เช่น การอายัดเงินหรือบัญชี

3. ควรประสานงานกันระหว่างตำรวจท้องที่และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในการดำเนินการ เช่น จัดส่งหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงธนาคาร หรือระงับบัญชีธนาคารได้ทันที

4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และสถานีตำรวจในท้องที่ ควรเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์กับประชาชนให้รับทราบเรื่องคดีที่เกิดขึ้นจากแอปฯ เงินกู้ที่ผิดกฎหมาย ระบบการส่งเอกสารประกอบหลักฐาน

……….

ข้อเสนอต่อบริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด มี 2 ข้อ ดังนี้

1. ขอให้มีนโยบายและมาตรการคัดกรองแอปฯ เงินกู้ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล และปิดกั้นการเข้าถึงแอปฯ ที่ผิดกฎหมาย ก่อนที่จะให้บริการดาวน์โหลดบน Play Store เพื่อเป็นการคัดกรองแอปฯ ที่ผิดกฎหมาย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการให้แก่ผู้บริโภค

2. ควรเชื่อมฐานข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อตรวจสอบแอปฯ เงินกู้ก่อนอนุญาตให้เผยแพร่ให้ผู้บริโภคดาวน์โหลด

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค