เตือน กสทช. มติควบรวม 3:2:1 ผิดกฎหมาย ย้ำทบทวนก่อนส่งหนังสือแจ้ง ทรู – ดีแทค

สภาองค์กรของผู้บริโภค เตือน กสทช. มติควบรวม 3:2:1 ผิดกฎหมาย ย้ำทบทวนก่อนส่งหนังสือแจ้งทรู – ดีแทค

จากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการลงมติด้วยคะแนนเสียง 3:2:1 โดยมีการสรุปว่าคณะกรรมการได้ตัดสินว่า กสทช. มีหน้าที่เพียง “รับทราบ” 3 เสียง ซึ่งชนะกรรมการที่ลงมติว่า “ไม่อนุญาต” ให้ควบรวมที่มีคะแนน 2 เสียง โดยมีหนึ่งคะแนนเสียง “งดออกเสียง”นั้น

วันนี้ (25 ตุลาคม 2565) สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค และอดีตกรรมการ กสทช. กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ส่งหนังสือด่วนถึง เลขาธิการ กสทช. ว่ามติดังกล่าวอาจเป็นมติที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากผิดระเบียบข้อบังคับการประชุมของ กสทช. และมติดังกล่าวขัดกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ประกอบถ้อยคำให้การที่ กสทช. ให้ไว้ในการพิจารณาคดีที่ศาลปกครองว่า กสทช. เป็น “ผู้มีอำนาจอนุญาต หรือไม่อนุญาต” พิจารณาการควบรวมบริษัท หาก กสทช. ไม่รับฟังการทักท้วงครั้งนี้และจะดำเนินการส่งหนังสือแจ้งมติไปยังบริษัทเอกชนทั้งสอง อาจถือว่าเป็นเจตนาจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมี ภูมิภัส พลการ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร เป็นผู้รับหนังสือแทน

“มติดังกล่าวอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการกล่าวอ้างว่าถึงคะแนนเสียง 2:2:1 ว่าเป็นคะแนนเสียงที่เท่ากันแล้วให้ประธานออกเสียงชี้ขาดเพิ่มอีกหนึ่งเสียงนั้นทำไม่ได้ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบประโยชน์สาธารณะจึงต้องใช้มติพิเศษที่ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจากทั้งหมด ถึงจะมีความชอบธรรม” สุภิญญากล่าว

ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ ระบุอีกว่า การยื่นหนังสือต่อ กสทช. ในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อขอให้ชะลอการส่งหนังสือแจ้งมติและทบทวนมมติให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน เนื่องจาก การประชุมที่มีมติ 2:2:1 แล้วประธานมีการออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเพื่อตัดสินชี้ขาดนั้น อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อ 41 แห่งระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2555

ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากันและไม่ใช่กรณีได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของคะแนนทั้งหมด เนื่องจากกรรมการที่ลงคะแนนเสียงมีทั้งหมด 5 คน และมีการลงมติเห็นชอบจำนวน 2 เสียง ลงมติไม่เห็นชอบจำนวน 2 เสียง และงดออกเสียงจำนวน 1 เสียง ประธานจึงไม่มีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงเป็นเสียงชี้ขาดตามข้อ 41 วรรคท้ายได้ และผลการลงมติดังกล่าวถือว่าเป็นกรณีคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามข้อ 41 (2) เนื่องจากเป็นการประชุมที่ต้องได้รับมติพิเศษ คือ ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการ “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนกรรมการทั้งหมด มติดังกล่าวจึงต้องตกไป และต้องมีการลงมติใหม่ ดังนั้นการที่ประธานมีคะแนนเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดและกำหนดให้การประชุมดังกล่าวมีมติรับทราบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจึงอาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อีกประเด็นหนึ่งที่สุภิญญาเน้นย้ำคือ คำวินิจฉัยของศาลปกครองเรื่องอำนาจของ กสทช. ในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต มติของ กสทช. อาจทำให้ กสทช. ต้องเจอปัญหาข้อกฎหมาย เนื่องจากการลงมติรับทราบดังกล่าวนี้อาจเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยอ้างถึงคดีหมายเลขดำที่ 775/2565 ของศาลปกครองกลาง

กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้มีการยอมรับต่อศาลว่าสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายในการห้ามมิให้มีการรวมธุรกิจ โดยมีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ให้มีการถือครองธุรกิจในประเภทเดียวกัน รวมถึงมีคำสั่งให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ อันอาจเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันได้ และศาลปกครองกลางก็ได้มีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งรับรองอำนาจดังกล่าวของ กสทช. ด้วย

“อยากจะเรียนท่านประธาน และกรรมการ กสทช. และ ท่านรักษาการเลขาธิการ ขอให้ทบทวนมติการประชุมพิเศษวาระเรื่องนี้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง. เพื่อทำมติให้ชัดเจน ครบถ้วน โปร่งใส และเป็นไปตามกฎหมายมากขึ้นกว่านี้” สุภิญญา กล่าวทิ้งท้าย

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค