ร่าง ‘ผังเมืองรวมกรุงเทพ’… เพื่อใคร ?

‘การวางผังเมือง’ เปรียบเสมือนการชี้นำการใช้ประโยชน์พื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้เมืองเติบโตไปในทิศทางที่ต้องการซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งเรื่องคมนาคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนผังเมืองต้องคำนึงถึงบริบทของสิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบัน และต้องถามความคิดเห็นจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การผังเมืองนั้น ๆ เหมาะสมและสอดรับกับการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างแท้จริง

แต่การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานอย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) กลับพบปัญหาเรื่องการละเลยและลิดรอนสิทธิประชาชน รวมถึงการกระทำบางประการที่ผิดกฎหมาย จนทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในหลายเขตของกรุงเทพฯ เลือกที่จะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง และคัดค้านร่างผังเมืองฉบับดังกล่าว

สภาผู้บริโภคชวนมาพูดคุยกับ ปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ผู้ซึ่งติดตามประเด็นเรื่องผังเมือง รวมทั้งการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มาตั้งแต่ต้น ที่จะมาช่วยฉายภาพความเป็นมา จุดเริ่มต้นของปัญหา รวมถึงสาเหตุของการคัดค้านร่างผังเมืองรวมฯ ฉบับนี้ และข้อเสนอแนะ เพื่อปรับปรุงให้คนกรุงเทพฯ มี “ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” ได้อย่างแท้จริง

จุดเริ่มต้นของ ร่างผังเมืองรวมฯ เจ้าปัญหา

“ต้องเท้าความก่อนว่าประเทศไทยไม่เคยมีการวางผังเมืองอย่างเป็นทางการเลย จนกระทั่งมีพระราชบัญญัติการผังเมืองฉบับแรกเมื่อปี 2518” ปฐมพงศ์เริ่มอธิบาย

นับตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีผังมืองรวมกรุงเทพมหานครมาแล้วทั้งสิ้น 4 ฉบับ ทั้ง 4 ฉบับเป็นไปตามพระราชบัญญัติผังเมืองปี 2518 ซึ่งไม่ได้ระบุเรื่องการรับฟังความเห็นก่อนร่าง แต่กำหนดให้มีการปรับปรุงทุก 5 ปี

ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือ “ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 3)” ซึ่งออกใน ปี 2556 อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดให้มีการประเมินผลผังเมืองรวมกรุงเทพฯ (ปรับปรุงครั้งที่ 3) เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำ ‘ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ (ปรับปรุงครั้งที่ 4)’ ซึ่งก็คือร่างผังเมืองฉบับที่กำลังเปิดรับฟังความเห็น และเป็นประเด็นอยู่ในปัจจุบัน

กระทั่งวันที่ 24 ก.ค. 2561 คณะกรรมการผังเมืองในการประชุมครั้งที่ 7/2561 ได้จัดทำ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) และเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อร่างผังเมืองดังกล่าวในวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 และจะประกาศใช้เป็นร่างผังเมืองรวมฯ (ปรับปรุงครั้งที่4) หลังจากรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว

แต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2562 หรือ 6 วันหลังจากการเปิดรับฟังความเห็นฯ รัฐบาลในขณะนั้นได้ออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง ปี 2562 และเริ่มบังคับใช้ในวันดังกล่าว โดยที่ พ.ร.บ. ผังเมืองฉบับนี้มีรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทําฝังเมืองรวมที่แตกต่างจากพ.ร.บ.ผังเมืองฉบับเดิมหลายประการ สิ่งหนึ่งที่แตกต่างคือ พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2518 กำหนดให้มีการจัดทำผัง 4 ประเภท ได้แก่

1) แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้นำแนกประเภท 2) แผนผังแสดงที่โล่ง 3) แผนผังแสดงโครงสร้างคมนาคมและขนส่ง และ 4) แผนผังโครงการกิจการสาธารณูปโภค ขณะที่ พ.ร.บ. การผังเมืองปี 2562 กำหนดให้มีการจัดทำผัง 6 ประเภท โดยเพิ่มแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนผังแสดงผังน้ำเข้ามาด้วย

คำถามคือ ร่างผังเมืองฯ ที่จัดทำไว้ก่อนหน้านั้นสามารถใช้ได้หรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ กทม. จึงส่งเรื่องไปถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้รับคำตอบว่าให้ กทม. กลับไปปรับร่างผังเมืองให้ มีรายละเอียดครบทั้ง 6 ผัง ตาม พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562 แต่หลังจากนั้นเกิดวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 จึงทำให้กระบวนการทั้งหมดชะงักลง จนกระทั่งปี 2565 หลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤตและสถานการณ์ของประเทศไทยเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ กทม. จึงได้หยิบ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มาปรับแก้

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 กรมโยธาธิการผังเมืองได้ออก ‘คู่มือการปฏิบัติงาน ตามประกาศคณะกรรมการผังเมือง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางและจัดทำผังเมืองรวม ปี 2565’ โดยในบทที่กล่าวถึงสาระสำคัญของประกาศคณะกรรมการผังเมือง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวม ในข้อ 2.1 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้อง “จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวม”

…แต่การปรับแก้ร่างผังเมืองรวมในครั้งนั้น กลับใช้วิธีการเช่นเดิมคือประชุมหารือในคณะที่ปรึกษา และหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องแต่ไม่ได้ถามความเห็นของประชาชนก่อน เหมือนเป็นการ “ทําตามขั้นตอนแบบเดิม แต่อ้างวิธีการแบบใหม่”

การคัดค้านของภาคประชาชน

สิ่งที่เกิดขึ้น นำไปสู่การคัดค้านของประชาชน โดยในการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งจัดขึ้นในพื้นที่ 6 กลุ่มเขตในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 – 24 ธันวาคม 2566 รวมทั้ง การประชุมใหญ่ในวันที่ 6 มกราคม 2567 ที่อาคารกีฬาเวสน์ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) ดินแดง มีประชาชนที่เข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างผังเมืองฉบับดังกล่าว

โดยสาเหตุที่คัดค้านร่างผังเมืองฉบับดังกล่าว นอกจากประเด็นเรื่อง การไม่ปฏิบัติตาม คู่มือการปฏิบัติงาน ตามประกาศคณะกรรมการผังเมือง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความเห็นฯ แล้วยังมีสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้

1) การประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง ไม่เป็นไปตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ. การผังเมือง พ.ศ. 2562 ที่กำหนดว่า การวางและจัดทำผังนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ และผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้คำนึงถึงผู้ที่จะได้รับผลกระทบในผังแต่ละประเภท และต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบด้วยวิธีการที่หลากหลายและทั่วถึง โดยมีข้อมูลเพียงพอต่อการที่ประชาชนจะเข้าใจถึงผลกระทบต่อตัวเอง ชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องแจ้งแนวทางการเยียวยาความเดือดร้อน หรือความเสียหายต่อประชาชนหรือชุมชนด้วย

2) การร่างความเห็นโดยไม่ถามประชาชนนั้น ทำให้ผังเมืองไม่เป็นไปตาม มาตรา 72 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560  ที่ระบุว่า รัฐพึงจัดให้มีการวางผังเมืองทุกระดับและบังคับการให้เป็นไปตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ รวมตลอดทั้งพัฒนาเมืองให้มีความเจริญโดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่

3) มีประชาชนบางส่วนที่โดนเวนคืนที่ดิน โดยอ้างพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) ก่อนที่จะมีการเปิดรับฟังความเห็น

4) รายละเอียดของร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เมื่อปี 2562 และ ปี 2565 จะพบว่ามีการเพิ่มเติมเนื้อหาแค่เรื่อง 2 แผนผัง เพื่อให้ตรงตามที่ระบุใน พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562 แต่ไม่มีการปรับปรุงผังเมือง เพื่อให้เหมาะสมกับการรับมือในกรณีที่เกิดโรคระบาด เช่น โควิด – 19 หรือไม่ได้วางผังเมืองให้เหมาะสมกับภาวะปัญหาฝุ่น pm 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่เพิงเกิดขึ้นในช่วง 2 – 3 ปีให้หลัง

ปัญหาอีกประการหนึ่งอาจเกิดจากแนวคิดของผู้วางร่างผังเมือง ที่มองว่าตัวเองเป็นผู้มีความรู้เป็นผู้เชี่ยวชาญ และสิ่งที่เขาร่างขึ้นมานั้นเป็นไปตามหลักการร่างผังเมือง ประชาชนจึงควรจะเห็นด้วยกับสิ่งที่ กทม. ร่าง และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ กทม. มีท่าทีไม่รับฟังเสียงของประชาชนเท่าที่ควร

“การรับฟังของประชาชนที่จัดขึ้นมีความแตกต่างจากการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชํานาญการ คือบริษัทอสังหาฯ ที่ปรึกษา หรืออื่น ๆ เขาใช้เวลาประชุมเป็นวัน ในขณะที่การรับฟังความเห็นและปรึกษาหารือประชาชนใช้เวลาเพียงจัดครึ่งวัน คือ 3 ชั่วโมง ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงเที่ยง แบ่งเป็นช่วงพิธีการ 1 ชั่วโมง การบรรยายเรื่องผังเมืองและนำเสนอข้อดี ประมาณ 1 – 1.30 ชั่วโมง และเหลืออีกประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนเที่ยง เพื่อให้ประชาชนแสดงความเห็น โดยใช้คำว่า ‘ใครมีคำถามอะไรไหม’ ต่อร่างที่ทำมา” ปฐมพงศ์ระบุ

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ กทม. ดึงดันจะใช้ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับดังกล่าว แทนที่จะเริ่มต้นร่างใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ปฐมพงศ์ เล่าว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวเขาเองติดตามเรื่องผังเมืองตั้งแต่ปี 2562 ที่มีการนำร่างผังเมืองมารับฟังความคิดเห็นของประชาชนจนกระทั่งถึงปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่จับประเด็นได้จากการพูดคุยทั้งครั้งคือ กทม. จะอ้างเรื่องปัญหางบประมาณ “ถ้าทําใหม่เขาไม่มีงบ” และหากต้องฟังความเห็นและร่างใหม่ทั้งหมดก็จะไม่ทันไม่ทันบังคับใช้เพราะ หากนับเวลาแล้ว ชาวกรุงเทพฯ ต้องได้ใช้ผังเมืองรวมฉบับใหม่ ตั้งแต่ปี 2562 แต่ปัจจุบันปี 2567 แล้วก็ยังไม่มีผังเมืองฉบับใหม่

“สิ่งที่ กทม. ทําคือเอาร่างฯ ที่ทําไว้เรียบร้อยแล้วมาถามประชาชนว่า เห็นดวยไหม เอาไหม โดยพยายามนำเสนอข้อดีของผังเมืองฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ทั้งที่เมื่อมองในรายละเอียดจะพบว่าร่างฯ ดังกล่าวไม่ตอบโจทย์เพราะไม่ได้ถามความเห็นของประชาชน และไม่สามารถตอบได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากผังเมืองตั้งแต่ปี 2556 จะถูกแก้ไขอย่างไรในผังเมืองฉบับนี้ ประกอบกับเรื่องโควิด – 19 และ pm 2.5 เมื่อเป็นเช่นนี้ ผังเมื่อที่กำลังจะคลอดออกมา ก็คงไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดชึ้น และไม่สามารถแก้ปัญหาของคนกรุงเทพฯ ที่สะสมมาจากการวางผังเมืองเดิม ๆ ซึ่งเราเห็นตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมา” ปฐมพงศ์ กล่าว

การวางผังฯ ที่ผ่านมา กับ ‘ปัญหาเรื้อรังในกรุงเทพฯ’

ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ยกตัวอย่างผลกระทบต่อประชาชนที่เกิดจากการวางผังเมืองโดยไม่ถามหรือให้ความสำคัญกับความเห็นของประชาชน โดยกล่าวถึง ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ซึ่งแนวคิดเรื่องการกระจายความเจริญออกข้างนอก ทำให้เกิดหมู่บ้านทั้งทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยวรอบนอกกรุงเทพฯ และมีการตัดถนน วางระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนเดินทางเข้ามาทำงานในตัวเมืองในตอนเช้า และเย็นก็กลับไปบ้านที่ชานเมือง

การวางผังเมืองในลักษณะดังกล่าว แม้จะช่วยกระจายความหนาแน่นในเมืองออกไปได้บ้าง แต่เนื่องจากยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมจากชานเมืองเข้ามาในเมือง ทำให้เกิดปัญหารถติดในช่วงเช้าและเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่คนต้องขับรถเข้ามาทำงานและกลับบ้าน ร่างผังเมืองฉบับใหม่จึงกลับแนวคิด โดยมองกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง เพราะมีระบบสาธารณูปโภคครบ จึงออกแบบให้คนเข้าอยู่อาศัยและทำงานในกรุงเทพฯ เพื่อจะได้ใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในการเดินทางไปทำงานได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กทม. “คิดเองเออเอง” ทำให้ภาระตกอยู่ที่ประชาชน

“ถามว่าถนนสุขุมวิทมีรถไฟฟ้ามาหลาย 10 ปีทำไมรถยังติด นั่นก็เพราะมีคนจำนวนน้อยมาก ๆ ที่อาศัยอยู่ในคอนโดติดรถไฟฟ้า และเดินทางไปทำงานที่อยู่ติดรถไฟฟ้าโดยที่ไม่ต้องต่อรถสาธารณะอื่น ๆ ในความเป็นจริงมีหลายคนที่ต้องเดินทางหลายต่อกว่าจะถึงที่ทำงาน ในเมื่อระบบขนส่งสาธารณะไม่ตอบโจทย์ โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้ผู้บริโภคหลายคนเลือกที่จะซื้อรถยนต์ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากการคิดไม่จบ คิดไม่เป็นองค์รวม นี่จึงเป็นสาเหตุที่ กทม. ควรเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนก่อนที่จะลงมือร่างผังเมืองรวมฯ”

ร่างผังเมืองรวมฯ …เพื่อใคร?

กลับมาที่ร่างผังเมืองรวมฯ ที่กำลังเป็นที่ถกเถียง การเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ ที่ถูกระบุในผังเมือง มีเรื่องการขยายถนน ซึ่งดูเหมือนจะดีเพราะว่าถนนในกรุงเทพฯ ในปัจจุบันคิดเป็นแค่เพียงร้อยละ 8 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งโดยมาตรฐานแล้ว เมืองต่าง ๆ ควรจะมีถนนคิดเป็นประมาณร้อยละ 15 ของพื้นที่ทั้งหมด แต่เมื่อดูรายละเอียดจริง ๆ แล้วเป็นเพียงการขยาย ‘เขตทาง’ ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างมีนัยยะสำคัญกับการก่อสร้างอาคารสูงในซอย และอีกประการหนึ่งคือการเปลี่ยนสีพื้นที่ในเขตต่าง ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนเป้าหมายการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้ในหลายพื้นที่มีจำนวนประชากรที่หนาแน่นขึ้น

การปรับเปลี่ยนทั้งสองสิ่งที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้เกิดปัญหาการเวนคืนที่ดินของประชาชน นอกจากนี้ การเปลี่ยนสีพื้นที่ เช่น เปลี่ยนจากพื้นที่จากที่อยู่อาศัยเป็นเขตพาณิชยกรรม จะทำให้สามารถสร้างห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง อาคารพาณิชย์ รวมถึงอาคารสูงต่าง ๆ ได้ การเปลี่ยนสีพื้นที่โดยไม่ดูบริบทและไม่ถามความเห็นของประชาชน อาจนำไปสู่ปัญหาการจราจร มลพิษทางเสียง ขยะต่าง ๆ ปัญหาเรื่องอาชญากรรม ปัญหารถที่จอดริมถนนหรือในซอยเนื่องจากคอนโดมีที่จอดไม่เพียงพอ เป็นต้น

“ทุกคนก็มองออกว่า ร่างผังเมืองรวมฯ เหมือนกับเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะคนที่ได้ประโยชน์คือบริษัทพัฒนาสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นการขยายถนน การกําหนดพื้นที่สีต่าง ๆ ซึ่งดูจะทําให้กรุงเทพฯ หนาแน่นมากขึ้นและมากขึ้นกว่าเดิม” ปฐมพงศ์แสดงความเห็น

แม้จะมีประเด็นที่เจ้าหน้าที่ของ กทม. ให้ข้อมูลไม่ตรงกันว่าการขยายถนนหรือปรับปรุงพื้นที่ตามร่างผังเมืองรวมฯ จำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดินบริเวณนั้น ๆ หรือไม่ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ ประชาชนต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอน เพราะหากเวนคืนที่หมายความว่าประชาชนต้องสูญเสียพื้นที่บางส่วนของบ้านไป เช่น ส่วนที่เป็นสวนหน้าบ้านและโรงจอดรถอาจจะหายไป ซึ่งก็ทำให้เกิดความเดือนร้อน

ในทางกลับกันหากไม่เวนคืนที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้าง เมื่อขยายเขตทางก็ทำให้สร้างอาคารสูงได้ หากมีการก่อสร้างอาคารสูงในบริเวณใกล้บ้าน ก็จะมีปัญหาเรื่องเสียง ฝุ่น อุบัติเหตุจากการก่อสร้าง เมื่อก่อสร้างเสร็จก็มีปัญหาเรื่องการจราจร ที่จอดรถ ฯลฯ เรียกว่า “จะเวนคืนหรือไม่เวนคืนโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง” ดังนั้น จึงมองไม่เห็นว่าเจตนาในการปรับปรุงร่างผังเมืองรวมฯ ในครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร

ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเคยเกิดปัญหาจากการเวนคืนที่ดิน แล้วสุดท้ายไม่ได้นำไปสร้างที่ตกลงไว้กับประชาชน เช่น กรณีบึงรับน้ำแถวเขตบึงกุ่ม ซึ่งมีการกําหนดพื้นที่เป็นพื้นที่รับน้ำ รวมทั้งออกประกาศว่าจะเวนคืนที่ดินดังกล่าว ซึ่งเป็นช่องให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เข้าไปซื้อที่ดินจากชาวบ้านที่เคยอยู่อาศัยในบริเวณนั้นในราคาต่ำ แต่ภายหลังกลับยกเลิกการเวนคืนที่ดิน และไม่มีการสร้างบึงรับน้ำอย่างที่ประกาศไว้ในตอนแรก และพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งเจ้าของโครงการสามารถซื้อที่ดินจากประชาชนในราคาถูกเนื่องจากการออกประกาศของรัฐ

เสนอแก้ปัญหาผังฯ ด้วยการ “ฟัง” ประชาชน

เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ปัญหา ปฐมพงษ์ระบุว่า แนวทางที่ง่ายที่สุดคือ กทม. ต้องเริ่มกระบวนการร่างผังเมืองใหม่อีกครั้ง โดยรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างแท้จริงตั้งแต่ก่อนร่าง เพื่อให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตและเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ได้อย่างแท้จริง

“ในเมื่อกฎหมายหลาย ๆ ฉบับให้สิทธิประชาชนร่วมให้ความเห็นตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังร่าง ประชาชนก็ควรจะได้ใช้สิทธินั้นอย่างเต็มที่ พื้นที่ไหนมีดีอะไร มีอะไรที่ต้องแก้ไข ต้องไปรับฟังเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ร่างผังเมืองจากภาพจินตนาการ รับฟังแค่ความต้องการของนายทุน แล้วยัดเยียดความเป็นแท่งคอนกรีตให้กับประชาชนที่ต้องอยู่กับผังเมืองนี้ไปอีกอย่างน้อย 5 ปี”

ทั้งนี้ นอกจากเรื่องการรับฟังความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับร่างผังเมืองรวมฯ แล้ว ปฐมพงศ์เสนอให้มีการทำ “ผังเฉพาะ” ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดของผังเมืองแต่ละพื้นที่ โดยแนะนำว่าทุกเขตควรมีผังเฉพาะ เนื่องจากกรุงเทพฯ แต่ละเขตมีบริบทที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น เขตลาดกระบังเขตลาดกระบัง ผังเมืองกรุงเทพฯ เป็นเขตที่อยู่อาศัยแบบเบาบางและเกษตรกรรม แต่ก็มีนิคมอุตสาหกรรมปรากฏอยู่ด้วย และมีโซนที่วางตู้คอนเทนเนอร์เป็นเหมือนกับพาณิชยกรรม ขณะที่เขตพระนคร มีโบราณสถาน ตึกรามบ้านช่องเก่า โบราณสถาน พระบรมมหาราชวัง ซึ่งควรจะเป็นเขตอนุรักษ์ ห้ามสร้างตึก

สิ่งเหล่านี้จะเป็นลักษณะเฉพาะที่ไม่ได้กําหนดอยู่ในผังเมืองรวม ซึ่งการจัดทำผังเฉพาะเหล่านี้ก็ต้องถามความคิดเห็นของประชาชนก่อนเช่นกัน “อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ประชาชนสามารถทำได้ คือการร่วมแสดงความเห็นต่อร่างผังเมืองรวมฯ และออกมาช่วยกันคัดค้าน เพื่อแสดงพลังและสะท้อนให้เห็นว่าชาวกรุงเทพฯ ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการร่างผังเมืองโดยไม่ฟังเสียงประชาชน อํานาจเป็นของประชาชน เราไม่ได้จะไปเอาเปรียบนายทุน และจะไม่ยอมให้นายทุนมาเอาเปรียบหรือมาชี้นําเราเช่นกัน” ปฐมพงศ์กล่า

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค