ร่างผังเมืองรวม กทม. สะท้อน ความล้มเหลวกระบวนการมีส่วนร่วม

สภาผู้บริโภคชี้ การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นผังเมืองรวม กทม. ยากต่อการเข้าถึง หรือสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน พร้อมตั้งข้อสังเกต ‘ร่างผังเมืองรวม กทม.’ เอื้อประโยชน์เอกชนหรือไม่

จากกรณีที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร ได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เมื่อวันที่ 23 – 24 ธันวาคม 2566 นั้น

วันนี้ (26 ธันวาคม 2566) พรพรหม โอกุชิ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค ได้เข้าร่วมประชุมรับฟังความเห็นฯ ดังกล่าว และพบว่ามีประชาชนจำนวนมากไม่ทราบถึงการดำเนินการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ ขณะที่ผู้ที่ทราบและได้รับการประชาสัมพันธ์เข้าร่วมประชุมรับฟังความเห็น ก็ไม่เข้าใจถึงเนื้อหาการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ  เนื่องจากเนื้อหาที่นำเสนอในการบรรยายและในเอกสารประกอบการประชุมรับฟังความเห็นเป็นเนื้อหาเชิงวิชาการที่เข้าใจยาก ทั้งยังไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบและแนวทางการเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำผังเมือง

พรพรหม กล่าวอีกว่า การกระทำดังกล่าวไม่เป็นไปตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การวางและจัดทำผังนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามมาตรา ๘ (๑) และผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามมาตรา ๘ (๒) ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการผังเมืองกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ โดยให้คำนึงถึงผู้ที่จะได้รับผลกระทบในผังแต่ละประเภท และต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบด้วยวิธีการที่หลากหลายและทั่วถึง โดยมีข้อมูลเพียงพอต่อการที่ประชาชนจะเข้าใจถึงผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และแนวทางการเยียวยาความเดือดร้อน หรือความเสียหายแก่ประชาชนหรือชุมชน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการวางแผนผังคมนาคมและผังน้ำ ซึ่งในร่างผังเมืองรวมฯ มีการวางแนวขยายถนนกำหนดเขตทางให้มีความกว้างกว่าเดิม เช่นจาก 6 เมตร ขยายเป็น 12 เมตร จาก 8 เมตร ขยายเป็น 16 เมตร รวมไปถึงการตัดถนนใหม่ที่มีเขตทาง ตั้งแต่ 20 เมตร ไปจนถึง 60 เมตร พาดผ่านบ้านเรือนและหมู่บ้านของประชาชนหลายแห่ง อีกทั้งยังมีการขยายคลอง การขุดคลองระบายน้ำใหม่ การสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่ม

“สำนักผังเมืองฯ อ้างเหตุผลว่าจะทำให้การสัญจรสะดวกคล่องตัวมากขึ้น และการระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่จากการประชุมรับฟังความเห็นจากประชาชนครั้งที่ผ่านมากลับมีเสียงสะท้อนจากประชาชนว่า การวางผังคมนาคมและผังน้ำในลักษณะดังกล่าวทำให้เกิดความเดือดร้อนในหลายชุมชน และประชาชนในหลายชุมชนไม่ทราบถึงข้อมูลดังกล่าวมาก่อน นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการตามผังคมนาคมบางส่วนมีการออก พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดินแล้ว โดยที่ไม่ได้มีการลงพื้นที่หรือสำรวจความเห็นจากประชาชนก่อน” พรพรหมระบุ

ทั้งนี้ พรพรหมแสดงความเห็นว่า การดำเนินมาตรการต่าง ๆ ของหน่วยงานผู้จัดทำ โดยไม่สอบถามความคิดเห็นของประชาชนนั้น อาจมองได้ว่าเป็นการเอื้อผลประโยชน์แก่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ เช่น มาตรการส่งเสริมการพัฒนาด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR Bonus) ที่ให้สิทธิ์ผู้ประกอบการโดยสามารถเพิ่มพื้นที่อาคารได้สูงสุดร้อยละ 20 จาก พื้นที่เดิมโดยให้ทำตามเงื่อนไขที่หน่วยงานกำหนดในมาตรการผังเมือง ในขณะที่ปัจจุบันกลุ่มประชาชนผู้บริโภคผู้มีรายได้น้อยต้องลำบากในการหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับรายได้ของตัวเอง แต่กลับจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แสดงให้เห็นว่าการจัดทำผังเมืองรวมฯ ครั้งนี้ ทำเพื่อส่งเสริม สนับสนุนการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากกว่าคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน

“เมื่อเป็นเช่นนี้อาจสรุปได้ว่าถึงการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐว่าดำเนินการอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ล้มเหลว ทั้งในแง่ของการประชาสัมพันธ์และการให้ข้อมูลต่อประชาชนที่ไม่เพียงพอ และเป็นการดำเนินการโดยขัดต่อกฎหมายผังเมือง และไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง” พรพรหมกล่าวทิ้งท้าย

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค