แถลงผลงาน 2 ปีครึ่ง ยุติปัญหาผู้บริโภค คิดเป็นมูลค่ากว่า 358 ลบ.

สภาผู้บริโภคแถลงเปิดผลงานคุ้มครองผู้บริโภคในระยะเวลา 2 ปีครึ่ง ช่วยเหลือผู้บริโภคสำเร็จคิดเป็นมูลค่า 358 ลบ. และขยายฐานสมาชิกได้กว่า 300 องค์กร ครอบคลุม 43 จังหวัด พร้อมเดินหน้าผลักดันนโยบายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป             

วันนี้ (28 มีนาคม 2567) สภาผู้บริโภคจัดแถลงข่าวเปิดผลการดำเนินงานการคุ้มครองผู้บริโภคใน 2 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2567 (เดือนตุลาคม 2566 – เดือนมีนาคม 2567) บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – วันที่ 25 มีนาคม 2567 สภาผู้บริโภคช่วยเหลือผู้บริโภคไปแล้ว 6,979 ราย รวมมูลค่าการชดเชยเยียวยา 37,125,683.07 ล้านบาท โดยปัญหาที่ได้รับเรื่องร้องเรียนมากที่สุด บัตรคอนเสิร์ต ชดเชยการประกันภัยโควิด ปัญหาคุณภาพสัญญาณและราคาอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาข้อมูลย้อนกลับไปตลอดระยะเวลา 2 ปี 6 เดือนที่สภาผู้บริโภคดำเนินงานสามารถช่วยเหลือผู้บริโภคที่เข้ามาร้องเรียน ได้ผลสำเร็จคิดเป็นมูลค่าประมาณ 358 ล้านบาท

ยกตัวอย่างกรณีที่มูลค่าความเสียหายจำนวนมากเช่น การแก้ไขปัญหาหนี้สินและสร้างการรู้เท่าทันกลลวงของบริษัทสินเชื่อในกรณีบริษัทศรีสวัสดิ์เข้าช่วยเหลือผู้บริโภคคิดเป็นมูลค่ารวมที่ยุติแล้ว 13,219,333.33 บาท ผลทดสอบหมวกกันน็อกเพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบว่าหมวกกันน็อกยี่ห้อหรือรุ่นใดที่ปลอดภัย ทั้งยังเป็นกรกระตุ้นให้หน่วยงานกำกับดูแลอย่างสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ออกมาตรวจสอบคุณภาพหมวกกันน็อกที่ขายอยู่ตามท้องตลาดอีกครั้งหนึ่ง  

ส่วนการผลักดันด้านนโยบายที่นำไปสู่การแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคมีผลงานเด่น ๆ ที่สร้างผลกระทบต่อสาธารณะดังนี้ ผลักดันแนวคิด ราคาค่ารถไฟฟ้าไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำจนนำไปสู่การทดลองราคาค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายของรัฐบาล การเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบก และบริษัทรถยนต์ให้ความสำคัญและเร่งเปลี่ยนถุงลมนิรภัยที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเมื่อดูจำนวนรถยนต์ที่เข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 จนถึงตุลาคม 2566 จะพบว่ามีผู้บริโภคนำรถยนต์เข้าเปลี่ยนถุงลมนิรภัยจำนวน 118,172 ราย ทั้งยังทำให้บริษัทรถยนต์ที่มีรถยนต์ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยอันตราย ออกมาประกาศแจ้งเตือนให้ผู้บริโภคได้ทราบเพื่อนำรถยนต์ไปเข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยฟรี การยกระดับคุณภาพหน้ากากอนามัยที่ขายในท้องตลาดให้ได้มาตรฐานการป้องกันเชื้อโรคจากการทำการทดสอบหน้ากากอนามัยและเผยแพร่ผลต่อสาธารณะ กรณีการส่งข้อเสนอไปยังสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เพื่อให้กำหนดมาตรฐานของระบบเบรกของรถจักรยานยนต์ ให้ใช้ระบบป้องกันล้อล็อก หรือ ABS (Anti-Lock Brake system)

นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคยังมีการดำเนินการด้านต่าง ๆ ที่ต่อเนื่องเช่นกรณีการฟ้องร้อง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องการควบรวม เพื่อลดการผูกขาดในกิจการโทรคมนาคม การผลักดันให้รัฐบาลลดค่าไฟฟ้า น้ำมัน เพื่อความเป็นธรรมกับผู้บริโภค ผลักดันให้เกิดบำนาญประชาชน และซึ่งเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมาย โดยนับตั้งแต่ ปี 2564 ถึงปัจจุบัน มีผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลเผยแพร่ของสภาผู้บริโภคจำนวน 64,556,136 รีช มูลค่าประชาสัมพันธ์ (PR Value) 592,837,738.1 บาท ทำให้สามารถป้องกันภัยแก๊งคอลเซนเตอร์  สร้างข้อมูลความเท่าทันในประเด็นการเอาเปรียบ ความเสี่ยงต่อชีวิต และภัยจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาใหม่ ๆ ให้ประชาชน

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปี นับตั้งแต่สภาผู้บริโภคจัดตั้งขึ้น มีผลงานที่ประสบผลสำเร็จสามารถเข้าถึงปัญหาของผู้บริโภคในระดับพื้นที่ผ่านองค์กรของผู้บริโภคกว่า 319 องค์กรที่ครอบคลุมพื้นที่ 43 จังหวัด (ข้อมูลวันที่ 13 มีนาคม 2567) โดยการรับเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ย และผลักดันปัญหาจนนำไปสู่ข้อเสนอนโยบาย รวมถึงการพัฒนากลไกในการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับหน่วยงานรัฐ ตลอดจนส่งเสริมการศึกษา วิจัย และเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคตระหนักรู้และเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงและก้าวผ่านปัญหาในปัจจุบันได้

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า การจัดสรรงบประมาณและการดำเนินการว่า ในปีงบประมาณ 2567 สภาผู้บริโภคได้จัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เพื่อดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค เป็นจำนวนเงิน 322.5178 ล้านบาท และคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สภาผู้บริโภคสำหรับใช้ในการดำเนินงานเป็นจำนวน 149.1612 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของประชากรทั้งหมดในประเทศไทย

“สภาผู้บริโภคยืนยันว่า รัฐบาลควรพิจารณาและดำเนินการตามเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ปี 2562 ด้วยการให้งบประมาณสนับสนุนสภาผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวน  350 ล้านบาท โดยคิดเป็นอัตราเฉลี่ยคนละ 5 บาท ต่อจำนวนผู้บริโภคไทย 70 ล้านคน ซึ่งจะช่วยทำให้สภาผู้บริโภคสามารถขยายฐานงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น” เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุ

อย่างไรก็ตามแม้งบประมาณจะมีจำกัด แต่ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน สภาผู้บริโภคได้จัดทำนโยบายระดับประเทศจำนวน 13 เรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ข้อเสนอเรื่องมาตรการจัดการปัญหาภัยทุจริตทางการเงินไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามและผลักดันข้อเสนอรถไฟฟ้า 20 บาท ทำได้ทุกสาย จัดทำข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีเรื่องบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ จัดทำข้อเสนอต่อกระทรวงดีอีและบริษัทไปรษณีย์ไทยเพื่อรับรองสิทธิของผู้บริโภคในการขอเปิดดูสินค้าก่อนจ่ายเงินค่าสินค้าในบริการส่งพัสดุไปรษณีย์ และจัดทำข้อเสนอถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง เป็นต้น

สำหรับประเด็นที่สภาผู้บริโภคเห็นว่าต้องขับเคลื่อนในเชิงนโยบายอย่างเร่งด่วน สารีกล่าวว่า มีทั้งสิ้น 3 ประเด็น ได้แก่ หนึ่ง เรื่องภัยทุจริตทางการเงิน (Cyber Security) สอง การขับเคลื่อนเรื่องกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคให้ทัดเทียมสากลและเท่าทันยุคสมัย และสาม การทำให้ผู้ประกอบธุรกิจให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิผู้บริโภคและดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม เช่น กรณีคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตที่สวนทางกับราคา หรือกรณีตั๋วเครื่องบินราคาแพง เป็นต้น

สารี กล่าวอีกว่า สภาผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันในประเด็นปัญหาของการคุ้มครองผู้บริโภคแต่ละด้าน อีกทั้งเพื่อให้การจัดทำข้อเสนอรวมทั้งการผลักดันข้อเสนอนโยบายหรือมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีพลังเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 46

สภาผู้บริโภคจึงได้ดำเนินการในหลายวิธีประกอบกัน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการจัดทำข้อเสนอ รวมไปถึงการจัดเวทีประชุมกลุ่มเฉพาะและการเปิดเวทีสาธารณะทั้งทางออนไลน์และการลงพื้นที่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดรับฟังข้อมูล ความคิดเห็นกับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ องค์กรของผู้บริโภค องค์กรสมาชิก รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้ หลังการจัดทำข้อเสนอออกไปแล้ว ยังต้องสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อสร้างความตื่นตัวของผู้บริโภคให้เกิดการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนข้อเสนอของสภาผู้บริโภค โดยจากการสื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคผ่านช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายเพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทันและตระหนักถึงสิทธิผู้บริโภค ทำให้สภาผู้บริโภคได้รับรางวัล Winner ในสาขา Best Social Impact Influencer จากเวที Thailand Influencer Awards 2023 ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่ได้เข้าชิงรางวัลในสาขาดังกล่าวนอกจากนี้ยังเป็น 1 ใน 5 องค์กรที่ได้เข้าชิงรางวัล Social Impact of the Year และเมื่อ 28 ตุลาคม 2566 สภาผู้บริโภคได้รับรางวัล Appreciate Award จาก TikTok Award Thailand 2023

ส่วน ลาภิศ ฤกษ์ดี หัวหน้าหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคเหนือ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า เนื่องจากสภาผู้บริโภคมีหน้าที่และภารกิจในการช่วยเหลือและคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ ดังนั้น สมาชิกองค์กรของผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัด และหน่วยงานเขตพื้นที่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้งานคุ้มครอบผู้บริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมยิ่งขึ้น ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่ต่าง ๆ ได้มากขึ้น

“แม้ปัจจุบันจะเข้าสู่ยุคเอไอ หรือเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่ต้องยอมรับว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ถนัดในการใช้เทคโนโลยีหรือเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ดังนั้นการมีองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ คอยให้คำปรึกษา รับเรื่องร้องเรียน ช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหา จึงทำให้ผู้บริโภคได้รับการช่วยเหลืออย่างครอบคลุมและรวดเร็วมากขึ้น”

ลาภิศ กล่าวอีกว่า สภาผู้บริโภคมีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนสมาชิกให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีเงื่อนไขว่าองค์กรที่สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสภาผู้บริโภค ต้องผ่านการจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภคต่อสำนักงานปลัดสำนักกรัฐมนตรี (สปน.) ซึ่งเป็นนายทะเบียนกลาง และนายทะเบียนกลางประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปแล้ว จึงเป็นสิ่งยืนยันว่าองค์กรผู้บริโภคที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกนั้นมีความน่าเชื่อถือ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และสามารถทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

ขณะที่ ธนัช ธรรมิสกุล มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาผู้บริโภค กล่าวเสริมว่า นอกจากการรับเรื่องร้องเรียนแล้ว หน่วยงานประจำจังหวัดยังมีบทบาทสำคัญในเรื่องอื่น ๆ เช่น การทดสอบสินค้าและบริการ การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยแก่ผู้บริโภค การเผยแพร่ความรู้ไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคเท่าทันและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงบทบาทในการนำปัญหาต่าง ๆ ที่เจอผลักดันไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัด ซึ่งอาจถูกพัฒนาไปสู่นโยบายระดับประเทศต่อไป

“อย่างไรก็ตามการทดสอบสินค้าหรือบริการ การให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคทั้งในแง่การแก้ไขปัญหา การฟ้องคดี รวมถึงการดำเนินการอื่น ๆ นั้นจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหลาย ๆ หน่วยงาน เช่น บางองค์กรได้รับเงินสนับสนุนในการทำโครงการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากสภาผู้บริโภค ทั้งในแง่ของการสนับสนุนองค์ความรู้ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากร การสนับสนุนทนายความในการฟ้องคดี รวมไปถึงการสนับสนุนเม็ดเงินเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย”

ทั้งนี้ ในมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยังได้บัญญัติให้สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค และองค์กรของผู้บริโภคมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ดังนั้น องค์กรของผู้บริโภคที่ได้รับการจดแจ้งตามกฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคฯ จึงเป็นองค์กรผู้บริโภคที่มีสถานะตามกฎหมายสามารถดำเนินการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการร่วมงานกับเครือข่ายผู้บริโภคต่าง ๆ ในทุกประเด็นในทุกพื้นที่

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค

ติดตามชมวิดีโอถ่ายทอดสดงานแถลงข่าว ได้ที่ สภาผู้บริโภคแถลงผลงาน ยุติเรื่องร้องเรียนกว่า 358 ล้านบาท