ชัยชนะของผู้บริโภค! กรณีสัญญาไม่เป็นธรรม – ไฟแนนซ์ไม่คืนเล่มรถ

ชัยชนะของผู้บริโภค! กรณีสัญญาไม่เป็นธรรม - ไฟแนนซ์ไม่คืนเล่มรถ

สภาผู้บริโภคเผย ชัยชนะของผู้บริโภค ในสองคดีสำคัญ ทั้งกรณีบริษัทไฟแนนซ์ไม่คืนเล่มทะเบียนรถหลังชำระหนี้ครบ และคดีเจ้าหนี้หลอกทำสัญญาขายฝากที่ดิน สะท้อนความก้าวหน้าในการคุ้มครองสิทธิประชาชนในวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวถึงความคืบหน้าในการช่วยเหลือผู้บริโภค 2 คดี ได้แก่ 1. คดี ‘กรุงไทย ออโต้ลีส’ ไม่คืนเล่มทะเบียนรถยนต์ให้กับผู้บริโภค แม้ชำระหนี้ครบแล้ว โดยในคดีดังกล่าวศาลพิพากษาให้บริษัท กรุงไทย ออโต้ลิส จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายรวม 30,000 – 90,000 บาท พร้อมค่าเสียหายเชิงลงโทษและค่าป่วยการแก่สภาผู้บริโภค 25% (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ‘กรุงไทย ออโต้ลีส’ ปิดหนี้แต่ไม่คืนเล่มทะเบียน เรียกร้องค่าเสียหายได้) และ 2. คดีที่ผู้บริโภคต้องการกู้ยืมเงิน แต่ถูกเจ้าหนี้หลอกทำสัญญาขายฝากที่ดิน และถูกฟ้องขับไล่ โดยคดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าเจ้าหนี้มีเจตนาไม่สุจริตและยกฟ้องโจทก์ ถือเป็น ชัยชนะของผู้บริโภค ใน “วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย” (30 เมษายน ของทุกปี)

ชัยชนะของผู้บริโภค! กรณีสัญญาไม่เป็นธรรม - ไฟแนนซ์ไม่คืนเล่มรถ : ภัทรกร ทีปบุญรัตน์

ธิดารัตน์ (สงวนนามสกุล) หนึ่งในผู้เสียหายที่ถูกฟ้องขับไล่จากกรณีถูกเจ้าหนี้หลอกทำสัญญาขายฝากที่ดิน และได้รับความช่วยเหลือจากสภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า การถูกฟ้องคดีส่งผลต่อสุขภาพจิต รวมถึงการประกอบอาชีพด้วย เนื่องจากตัวเองต้องต่อสู้คดีอีกทั้งต้องถูกบังคับให้ย้ายออกจากบ้าน ทำให้รู้สึกท้อแท้และหมดหวัง จนถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย

*กรณีการหลอกให้เซ็นสัญญาขายฝากเคยเกิดขึ้นมาแล้ว โดยทำให้ผู้เซ็นเข้าใจผิดว่าเป็นการนำที่ดินไปค้ำประกัน ดังเช่นในข่าวนี้ ตายายระทม ถูกหลอก นำที่ดินขายฝาก เป็นหนี้กว่า30ล้าน

“ตั้งแต่ถูกฟ้องคดีทำให้รู้สึกเราเครียด และโดดเดี่ยวมาก เนื่องจากไม่ได้บอกให้ลูกรับรู้เพราะกลัวเขาเป็นกังวล หลังจากรู้ว่าศาลยกฟ้อง รู้สึกโล่งใจและรู้สึกขอบคุณสภาผู้บริโภคที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ไปจนถึงช่วยต่อสู้ด้านคดีจนได้รับชัยชนะในที่สุด และไม่คิดค่าใช้จ่ายเลยแม้แต่บาทเดียว ทำให้เรารู้สึกว่าความยุติธรรมมันมีอยู่จริง”

ธิดารัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับผู้บริโภคคนอื่น ๆ ที่มีปัญหาหรือได้รับความเดือดร้อน อยากให้ลองติดต่อสภาผู้บริโภคเพื่อปรึกษาหาทางแก้ไขปัญหา เพราะเจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภคให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เหมือนที่ตัวเองได้รับความช่วยเหลือ


สำหรับกรณีของธิดารัตน์ เริ่มต้นเมื่อปี 2565 ได้ไปกู้เงินจากผู้ปล่อยกู้ที่อยู่ใกล้บ้าน จังหวัดนนทบุรี โดยผู้ปล่อยกู้ให้เซ็นสัญญาโดยที่ตัวเองเข้าใจว่าเป็นสัญญาเงินกู้และมีการใช้ที่ดินเป็นหลักค้ำประกันระหว่างที่ผ่อนชำระมีงวดที่เธอไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จึงพยายามติดต่อเจ้าหนี้เพื่อเจรจา แต่เจ้าหนี้กลับหลีกเลี่ยงการพบเจอและเจรจา จนกระทั่งสุดท้ายตัวเองถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องเพื่อขับไล่ให้ออกจากที่ดินที่อาศัยอยู่ ทำให้เธอพบความจริงว่าสัญญาที่เธอเซ็นตอนกู้ยืมเงินนั้นไม่ใช่สัญญาเงินกู้ แต่เป็นสัญญาขายฝากที่ดิน

เมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้บริโภคแพ้คดี และเจ้าหนี้ได้ส่งคนมาข่มขู่ ทำให้จำเป็นต้องย้ายออกจากบ้านไปพักที่อื่นชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เกิดปัญหาเรื่องการผ่อนชำระหนี้ ตัวเองได้ติดต่อไปที่สภาผู้บริโภคเพื่อปรึกษาซึ่งสภาผู้บริโภคได้ให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ให้คำแนะนำ ช่วเหลือทางคดี ส่งทนายความไปช่วยเหลือ กระทั่งมีการอุทธรณ์คดีและสุดท้ายพบประเด็นเรื่องการปลอมเอกสาร จนเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 ศาลอุทธรณ์ จังหวัดนนทบุรี ได้พิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าผู้ปล่อยเงินกู้มีเจตนาไม่สุจริต