‘กรุงไทย ออโต้ลีส’ ปิดหนี้แต่ไม่คืนเล่มทะเบียน เรียกร้องค่าเสียหายได้

ผู้บริโภคร้อง ‘กรุงไทย ออโต้ลีส’ ไม่คืนเล่มทะเบียนรถ ทิ้งให้รอแบบไม่มีกำหนด ด้านสภาผู้บริโภค ชี้ เข้าข่ายกระทำผิดสัญญา สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้

วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2567) นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีผู้บริโภคได้รับปัญหาสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จากบริษัท กรุงไทย ออโต้ลีส จำกัด เมื่อส่งเงินคืนครบถ้วนตามสัญญาแล้ว กลับไม่ได้รับเล่มทะเบียนรถยนต์คืนตามสัญญา โดยบริษัทฯ ชี้แจงกับผู้เสียหายว่า ได้นำเอกสารและเล่มทะเบียนของผู้เสียหายไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับสถาบันการเงินเพื่อนำเงินมาหมุนเวียนในบริษัท อีกทั้งทนายของบริษัทได้แจ้งแก่ผู้เสียหายว่าหากทางผู้เสียหายต้องการรับเล่มทะเบียนคืนให้ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล ทั้งนี้ เบื้องต้นมีผู้บริโภคที่พบปัญหาในลักษณะดังกล่าวและร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภคมากกว่า 20 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 5.7 ล้านบาท

นายภัทรกรยืนยันว่า การกระทำของบริษัทฯ ถือเป็นการกระทำผิดสัญญา ซึ่งผู้บริโภคสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ เพราะเป็นเหตุให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายไม่สามารถนำทะเบียนรถไปหาประโยชน์หรือใช้งานรถได้ตามปกติ และได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ตามหลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 458 กำหนดว่า หากผู้ซื้อชําระเงินกู้เสร็จสิ้นตามสัญญาแล้ว สมุดทะเบียนรถยนต์จะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อทันที และมาตรา 459 ระบุว่า ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขหรือเวลาบังคับไว้ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะยังไม่โอนไปจนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเงื่อนไขเวลานั้น ดังนั้นแปลว่าเมื่อผู้บริโภคชำระงวดเงินตามที่ระบุไว้ในสัญญาแล้ว บริษัทจะต้องส่งมอบเล่มทะเบียนรถยนต์ให้กับผู้กู้ตามสัญญา

นอกจากนี้ หากอ้างอิงจากข้อมูลเอกสารสัญญาที่ผู้บริโภคได้ทำร่วมกับบริษัท กรุงไทย ออโต้ลีส จำกัด ในข้อ 17 มีเงื่อนไขระบุ ว่า เมื่อผู้เช่าซื้อได้ชำะเงินค่าเช่าชื่อ และค่าใช้จ่ายที่ผู้ให้เช่าซื้อเรียกเก็บได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว ให้กรรมสิทธิ์เป็นของผู้เช่าซื้อทันที และผู้ให้เช่าซื้อจะโอนทะเบียนรถให้แก่ผู้เช่าซื้อภายใน 30 วัน อีกทั้งในสัญญายังระบุว่า ถ้าผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ จะเสียเบี้ยปรับโดยคำนวณจากมูลค่าเช่าซื้อที่ระบุไว้ ไปจนกว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้น นับจากวันที่ผิดสัญญา ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายสามารถจึงเรียกร้องค่าเสียหายได้

“การกระทำของบริษัทถือเป็นการผิดสัญญาแน่นอน เพราะไม่สามารถโอนทะเบียนรถให้แก่ผู้เช่าซื้อได้ในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา นอกจากนี้จากการพูดคุยกับผู้เสียหายพบว่าบางรายปิดยอดหนี้ไปแล้วกว่า 3 – 5 เดือนแต่ยังไม่ได้รับเล่มทะเบียนคือ และบางรายไม่กล้าไปปิดเพราะกลัวจะไม่ได้เล่มทะเบียน การกระทำของบริษัทในการตามกฎหมายเรียกว่าทำให้เสียประโยชน์ มีความผิดกฎหมายอาญามาตรา 188 เพราะ ลูกหนี้ไม่สามารถที่จะไปรีไฟแนนซ์ได้ หรือค้ำประกันอะไรต่าง ๆ ได้ ในลักษณะแบบนี้ก็ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคโดยตรงอีกด้วย” นายภัทรกร ระบุ

หลังจากนี้ สภาผู้บริโภคจะให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคในการแจ้งความร้องทุกข์ และรวบรวมข้อมูลเพื่อเตรียมส่งฟ้องศาลในความผิดทั้งทางแพ่งและอาญาต่อไป

นายภัทรกร กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับผู้บริโภคที่ทำสัญญาเช่าซื้อ โดยปกติแล้วสัญญาในลักษณะดังกล่าวจะมีระยะเวลาสัญญาประมาณ 3 – 10 ปี จึงแนะนำให้ผู้บริโภคเก็บรักษาสัญญาและหลักฐานไว้ตลอดอายุสัญญา หากเกิดปัญหาในระหว่างการทำสัญญาจะได้ใช้เป็นหลักฐานในการต่อสู้และเอาผิดผู้ประกอบการ สำหรับหลักฐานต่าง ๆ ก็เช่น ใบเสร็จในการชําระเงิน สำเนาสัญญาเช่าซื้อรถและเอกสารการจำนำทะเบียนรถ และเอกสารแผ่นพับ ใบปลิว ข้อความโฆษณาของบริษัท (หากมี)

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถเป็นจำนวนมาก ขอแนะนำให้ผู้บริโภคเลือกรับบริการจากผู้ประกอบการในระบบที่มีมาตรฐาน มีใบอนุญาตถูกต้อง หรือควรเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าบริษัทจำกัด

สำหรับผู้บริโภคที่ได้รับปัญหาจากกรณีดังกล่าวและต้องการร้องเรียน หลักฐานประกอบการร้องเรียนคือ สัญญาเช่าซื้อ สำเนาชื่อจดทะเบียนผู้ครอบครองถือกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญ หลักฐานโอนเงิน และ ใบเสร็จรับเงินที่ชําระปิดงวดสุดท้าย สามารถรวบรวมหลักฐานแล้วร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภคได้ตามช่องทางต่อไปนี้เว็บไซต์ www.tcc.or.th  อีเมล [email protected] สายด่วน 1502 (ในวันเวลาทำการ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 17.00 น.) ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U และอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) สภาองค์กรของผู้บริโภค

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค