Getting your Trinity Audio player ready... |

สภาผู้บริโภคเปิดพื้นที่ สะท้อนปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน พบผลสำรวจ 40% ของเด็กไทยเคยเผชิญความรุนแรงในโรงเรียน พร้อมเร่งผลักดันนโยบายโรงเรียนปลอดภัย
วันที่ 18 พฤษภาคม 2568 สภาผู้บริโภคจัดเวทีสาธารณะ เปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยขึ้นเปิดพื้นที่ให้ตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง และขับเคลื่อนแนวทางป้องกันความรุนแรงในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้โรงเรียนกลายเป็นที่ที่เด็กสามารถเรียนรู้ เติบโต และมีชีวิตที่เปี่ยมด้วยความสุขและคุณภาพ
อรรถพล อนันตวรสกุล ประธานคณะอนุกรรมการด้านการศึกษา กล่าวว่า จุดประสงค์ของเวทีนี้ เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้ส่งเสียงและสะท้อนประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับสถานการณ์ในโรงเรียน โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นปัญหาที่ดำรงอยู่มายาวนาน และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเด็นสุขภาวะทางใจของผู้เรียนกลายเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องได้รับความใส่ใจ
“เวทีนี้จึงเน้นให้เสียงของนักเรียน ผู้มีประสบการณ์ตรง ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียม ร่วมกับครู ผู้ปกครอง และผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ควบคู่ไปกับผลสำรวจออนไลน์เกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในโรงเรียนจากผู้ตอบเกือบ 1,000 คน หวังว่าเวทีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กและเยาวชนทั้งในโรงเรียนและในสังคมในอนาคต” อรรถพลกล่าว
เสียงจากประสบการณ์จริง โรงเรียนไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร
ทั้งนี้ จากแบบสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ซึ่งจัดเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 8 – 22 เมษายนที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมตอบแบบสำรวจจำนวน 798 คน พบว่ามากกว่า 40% ของผู้ตอบแบบสำรวจเคยมีประสบการณ์ตรงหรือใกล้ชิดกับกรณีความรุนแรงในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบทางกาย วาจา สังคม หรือในโลกไซเบอร์ โดยความรุนแรงทางกายที่พบบ่อยที่สุดคือ การตี รองลงมาคือ การต่อย และการเตะ ส่วนในโลกออนไลน์ การถูกโพสต์ด่าทอหรือดูถูกถือเป็นรูปแบบความรุนแรงที่พบมากที่สุดถึงของผู้ตอบแบบสอบถาม
เมื่อสอบถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงในโรงเรียน พบว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่มองว่าเป็นผลมาจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันเอง รองลงมาคืออิทธิพลจากสังคมและสื่อ ขณะที่ครูและบุคลากรในโรงเรียน รวมถึงปัจจัยจากครอบครัว ก็มีส่วนร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความรุนแรงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ นักเรียนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าโรงเรียนยังไม่มีมาตรการที่เพียงพอในการป้องกันหรือรับมือกับปัญหา โดยหลายคนยังรู้สึกไม่ปลอดภัยแม้จะแจ้งครูหรือผู้บริหารแล้ว
ดูสรุปผลแบบสำรวจเพิ่มเติ่มได้ที่ :: แบบสำรวจ 4 มิติ ความรุนแรงในโรงเรียน
สำหรับ ข้อเสนอแนะจากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งนักเรียนและผู้ปกครองสะท้อนความต้องการที่หลากหลาย เช่น การจัดให้มี พื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม เช่น ห้องน้ำให้มิดชิด มีระบบแจ้งปัญหาโดยไม่เปิดเผยตัวตน เพิ่มบทบาทของจิตแพทย์ประจำโรงเรียน และส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างความเข้าใจ ความเคารพซึ่งกันและกันในหมู่เพื่อนนักเรียน รวมถึงการป้องกันการบูลลี่ทั้งในความโลกจริงและโลกออนไลน์

ความรุนแรงที่มองไม่เห็น บาดเจ็บทางใจเด็กบาดเจ็บมากกว่าร่างกาย
กิตติกวิน พิมพ์วัน ตัวแทนนักเรียน มีความเห็นว่า ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนไม่จำกัดอยู่แค่เพียงการทำร้ายร่างกายอีกต่อไป แต่รวมไปถึงความเจ็บปวดทางจิตใจที่เกิดจากแรงกดดัน ความคาดหวัง และค่านิยมในสังคม โดยเฉพาะในระบบการศึกษาไทยที่ยังคงให้ความสำคัญกับมาตรฐานและกรอบแบบแผนมากกว่าการเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนได้แสดงออกถึงตัวตนอย่างแท้จริง เช่น การที่ผู้ใหญ่คาดหวังว่าลูกหลานต้องเป็นหมอ ต้องสอบเข้ามหาลัยที่มีชื่อเสียง หรือแม้แต่ในโลกออนไลน์ที่ไม่มีเส้นแบ่งเวลาและพื้นที่อีกต่อไป ทั้งนี้ ได้เสนอให้สังคมทบทวนค่านิยมและวัฒนธรรมที่เป็นสาเหตุของความรุนแรง และเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนกันโดยไม่ตัดสิน
“ผมว่าจุดเริ่มต้นของความรุนแรงในโรงเรียนมันมาจากคนใกล้ตัวเลยครับ แล้วก็มาจากตัวเราเองด้วย ก่อนจะมองไปรอบข้าง เราต้องเริ่มมองจากตัวเราเองก่อน ผมเคยห่วงความรู้สึกคนอื่นมากจนลืมดูแลความรู้สึกของตัวเอง ทั้งที่เราก็ควรมีสิทธิ มีเสรีภาพของตัวเองเหมือนกัน” ตัวแทนนักเรียนสะท้อนถึงสาเหตุความรุนแรงในปัจจุบัน
ขณะที่ ปาณิตา กัณสุทธิ์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เผยว่า จากข้อมูลที่สะท้อนผ่านแบบสำรวจพบว่า เด็กมากกว่า 40% เคยถูกกลั่นแกล้ง และในจำนวนนี้กว่า 60% ถูกกระทำภายในโรงเรียนเอง โดยกลุ่มเด็กที่มักตกเป็นเป้าคือกลุ่มที่มีความแตกต่าง ทั้งในด้านรูปลักษณ์ ความสามารถ หรือเพศสภาพ โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งยังคงเป็นกลุ่มเปราะบางในบริบทโรงเรียนไทย
นอกจากการกลั่นแกล้งแล้ว สาเหตุที่นำไปสู่พฤติกรรมรุนแรงในโรงเรียนยังเชื่อมโยงกับปัจจัยในครอบครัว การเลี้ยงดูที่ขาดความเข้าใจ การตั้งกฎระเบียบที่ไม่ชัดเจน ตลอดจนปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคสมาธิสั้นหรือภาวะซึมเศร้าที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ยิ่งเมื่อรวมกับอิทธิพลของสื่อออนไลน์ที่ไม่มีเวลาปิด เด็กจำนวนไม่น้อยจึงต้องเผชิญกับความเครียดสะสมโดยไม่มีพื้นที่ให้พักใจหรือขอความช่วยเหลือได้
“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีทั้งแบบที่มองเห็น และแบบที่มองไม่เห็น ที่ทางโรงเรียน ทั้งครู เพื่อน รวมถึงบุคลากรในโรงเรียน ต้องสังเกต และไม่เพิกเฉยกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น หากทุกคนช่วยกันสังเกตและแจ้งเบาะแส เราจะเปลี่ยนจากโรงเรียนเสี่ยงภัย ให้กลายเป็นโรงเรียนพื้นที่ปลอดภัยได้จริง” ปาณิตากล่าว
การคุ้มครองเด็กต้องมาจากทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงการดูแลพื้นที่ปลอดภัย จะต้องเป็นเรื่องของครูเพียงคนเดียวหรือไม่นั้น ทัตชญา ศิริทรงภากุล เครือข่ายก่อการสิทธิเด็ก ในฐานะครูแนะแนว ให้ความเห็นว่า การสร้างพื้นที่ปลอดภัย ในโรงเรียนไม่ควรเป็นภาระของครูเพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรอบตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน เพื่อน และภาครัฐ เพราะความปลอดภัยของเด็กไม่ใช่แค่เรื่องกายภาพ แต่ยังรวมถึงจิตใจ จิตวิญญาณ และสิทธิขั้นพื้นฐานที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การมีโครงสร้างที่ชัดเจน เช่น กฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัยในโรงเรียน ซึ่งออกแบบร่วมกับเด็กจะเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันปัญหาความรุนแรงได้อย่างเป็นระบบ
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในอุปสรรคสำคัญของระบบการศึกษาไทยคือ ความเชื่อเดิมที่มองข้ามรูปแบบความรุนแรงในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะความรุนแรงเชิงเพิกเฉย ขณะที่ครูหลายคนต้องรับภาระมากเกินไปโดยขาดเครื่องมือ สนับสนุน และการอบรมที่เพียงพอ แม้จะมีนโยบายในระดับประเทศ แต่การขาดความต่อเนื่องและการขับเคลื่อนเชิงระบบ ก็ยังทำให้ความเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนเกิดขึ้นอย่างล่าช้า
“สิทธิของเด็กไม่ควรถูกผูกไว้กับคำว่าหน้าที่ แต่คือรากฐานของพัฒนาการและการเรียนรู้ หากเด็กยังเข้าไม่ถึงความปลอดภัยในโรงเรียน เขาก็ไม่อาจเติบโตหรือเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ ระบบจึงต้องเปลี่ยน และเปลี่ยนจากความเชื่อก่อน เพราะเมื่อความเชื่อเปลี่ยน วิธีการก็เปลี่ยน และครูก็ไม่จำเป็นต้องต่อสู้เพียงลำพัง” ทัตชญาให้ความเห็น
เธียรทอง ประสานพานิช ผู้อำนวยการกองคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า แนวคิดเรื่องเซฟโซน หรือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กได้เริ่มถูกนำไปสู่การปฏิบัติในเชิงนโยบายมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคการศึกษาและงานคุ้มครองเด็กของภาครัฐ ซึ่งมุ่งเน้นทั้งด้านกายภาพ เช่น สภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่ปลอดภัยจากความรุนแรงทางกายและจิตใจ และด้านวัฒนธรรมองค์กร เช่น การออกแบบกฎแห่งความปลอดภัยร่วมกับนักเรียน เพื่อสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วม โดยหน่วยงานอย่างกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้ขยายบทบาทการทำงานจากการรับมือไปสู่การป้องกันล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นในประเด็นความรุนแรงในครอบครัว ไปจนถึงภัยแฝงในโลกออนไลน์
นอกจากนโยบายส่วนกลางแล้ว หน่วยงานในระดับโรงเรียนและชุมชนยังสามารถเป็นผู้ก่อการ ในการสร้างระบบคุ้มครองเด็กได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องรอกฎเกณฑ์จากส่วนบน ซึ่งรวมถึงการตั้งกลไกครูดูแล การอบรมความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็ก การสร้างช่องทางแจ้งเหตุ ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ปลอดภัยที่เชื่อมโยงกับความไว้ใจ ไม่ใช่แค่ระบบราชการ
“นโยบายการปกป้องคุ้มครองเด็กสามารถเริ่มต้นได้เลยโดยไม่ต้องรอส่วนกลาง ขอแค่มีผู้ก่อการในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นครูหรือสภานักเรียน ที่ช่วยกันออกแบบระบบความปลอดภัยร่วมกับเด็กและผู้ปกครอง นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของโรงเรียนปลอดภัยอย่างแท้จริง” เธียรทองกล่าว
สิทธิเด็กไม่ใช่แค่การมีชีวิตรอด แต่รวมถึงสิทธิในการพัฒนา
ด้าน สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ที่ปรึกษาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจเรื่องสิทธิของเด็กตั้งแต่ในห้องเรียน โดยชี้ว่าการรู้เท่าทันสิทธิของตนเองไม่ควรจำกัดอยู่แค่การมีชีวิตรอด แต่รวมถึงสิทธิในการพัฒนาและมีส่วนร่วมในสังคมด้วย เด็กทุกคนควรได้รับพื้นที่ให้คิด วิเคราะห์ และเสนอความคิดเห็น เพราะหลายครั้งแนวคิดจากเด็กกลับสะท้อนถึงช่องโหว่ของระบบที่ผู้ใหญ่มองข้ามไป และหากสังคมเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกมากขึ้น อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้
นอกจากนี้ ยังมีการเน้นย้ำว่าปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนและสังคมไทยในปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปแบบและยกระดับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเมื่อสื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาท จึงยิ่งจำเป็นต้องทำให้โรงเรียน เป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ทางกายภาพ แต่รวมถึงความไว้วางใจ ความเข้าใจ และการดูแลทางจิตใจด้วย ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้พร้อมดูแลเด็กในทุกมิติ ไม่ใช่เพียงแค่การเรียนการสอนเท่านั้น
“ถ้าเรากลับเข้ามาที่โรงเรียน แล้วทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้อย่างแท้จริง มันคือการลดปัญหา เพราะเด็กใช้ชีวิตในโรงเรียนมากกว่าครอบครัว ถ้าที่บ้านมีปัญหาแล้วโรงเรียนยังไม่มีใครรับฟัง เขาจะเหลือที่พึ่งที่ไหนอีก” สรวงมณฑ์กล่าว
นอกจากนี้ กิจกรรมในเวทียังมีการแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิดเกี่ยวกับปัญหาที่พบในโรงเรียนของตนเอง และออกแบบข้อเสนอเชิงนโยบายแก้ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ทั้งนี้ เสียงสะท้อนจากเวที และข้อมูลจากแบบสำรวจนี้จะถูกนำไปวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน สู่การพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและแนวปฏิบัติที่เหมาะสม


