เสียงสะท้อนหลัง ประมูลคลื่น : เอกชนได้กำไร ประชาชนได้อะไร?

Getting your Trinity Audio player ready...
เสียงสะท้อนหลัง ประมูลคลื่น : เอกชนได้กำไร ประชาชนได้อะไร?

การ ประมูลคลื่น ความถี่ครั้งล่าสุด สะท้อนภาพโครงสร้างตลาดโทรคมนาคมไทยที่เปราะบางและไร้การแข่งขันอย่างสิ้นเชิง อดีตกรรมการ กสทช. นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศาสะท้อนถึงความล้มเหลวทั้งในเชิงนโยบาย กฎหมาย และการบริหารจัดการคลื่นสาธารณะ ซึ่งควรเป็นทรัพยากรเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เครื่องมือผูกขาดของกลุ่มทุน

การประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2568 มีผู้ชนะในแต่ละย่านความถี่ ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จํากัด หรือ เอดับบลิวเอ็น (AWN) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส (AIS) เป็นผู้ชนะในคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ได้รับการจัดสรรชุดคลื่นความถี่จํานวน 3 ชุด โดยมีราคาสุดท้าย 14,850,000,010 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ขณะที่บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จํากัด หรือ TUC ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู เป็นผู้ชนะในย่าน 2300 MHz ได้รับการจัดสรรชุดคลื่นความถี่จํานวน 7 ชุด โดยมีราคาสุดท้าย 21,770,000,168 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งยังเป็นผู้ชนะใน ย่าน 1500 MHz ได้รับการจัดสรรชุดคลื่นความถี่จํานวน 4 ชุด โดยมีราคาสุดท้าย 4,653,960,168 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) นั้นไม่มีผู้ร่วมประมูล

แม้การประมูลจะจบลงอย่างรวดเร็ว และถูกมองว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ท่ามกลางเสียงคัดค้านของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค แต่หากพิจารณาให้ลึก จะพบคำถามสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะเรื่อง “ราคาคลื่น” ที่แทบไม่มีการแข่งขันอย่างแท้จริง และสะท้อนถึงการออกแบบกระบวนการที่อาจไม่ได้ปกป้องประโยชน์สาธารณะอย่างเต็มที่

คำถามสำคัญ คือ นอกจากเอกชนที่สามารถ ประมูลคลื่น ได้ในราคาถูกแล้ว รัฐบาลและประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากการประมูลคลื่นในครั้งนี้บ้าง?

ราคาเริ่มประมูลต่ำ แข่งขันน้อย = เอกชนได้กำไร ประชาชนได้อะไร?

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงษา

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงษา อดีตกรรมการ กสทช. ให้ความเห็นว่า ประเด็นเรื่องการแข่งขันที่ไม่สูงในการประมูลคลื่นครั้งที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ตั้งแต่ต้น เนื่องจากตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยมีผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 2 ราย และปริมาณคลื่นความถี่ที่เปิดให้ประมูลมีมากกว่าความต้องการหรือจำนวนผู้ประมูล หรืออาจเรียกได้ว่า “คลื่นล้นตลาด” เมื่ออุปทานของสินค้ามีมากกว่าอุปสงค์ จึงทำให้การแข่งขันด้านราคาหายไปโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญอยู่ที่การกำหนดราคาคลื่นของสำนักงาน กสทช. ที่ไม่เหมาะสมตั้งแต่ต้น แม้จะใช้หลักการคำนวณราคาทางเศรษฐศาสตร์ แต่มีข้อสังเกตว่าสำนักงานมีแนวโน้มที่จะตัดข้อมูลราคาประมูลที่สูงในต่างประเทศออก ซึ่งส่งผลให้ราคาที่คำนวณได้มีแนวโน้มต่ำลง ทั้งนี้ หากเทียบกับราคาในตลาดที่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที (NT) เคยให้เอกชนเช่าคลื่นจะพบว่า เอกชนเคยเช่าคลื่น 2100 MHz โดยจ่ายปีละ 3,900 ล้านบาทต่อ 1 ชุดคลื่นความถี่ หากคำนวณมูลค่าต่อ 15 ปี โดยคิดอัตราลดทางเศรษฐศาสตร์จะเทียบเท่ามูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อชุด แต่สำนักงาน กสทช. เลือกที่จะกำหนดราคาตั้งต้นเพียง 4,500 ล้านบาทต่อ 1 ชุดคลื่นความถี่

ขณะที่คลื่น 2300 MHz ที่เอกชนเคยจ่ายให้ NT ปีละ 4,500 ล้านบาทต่อ 1 ชุดคลื่นความถี่ หากคิดอัตราลดทางเศรษฐศาสตร์ต่อ 15 ปี จะเทียบเท่ามูลค่า 7,300 ล้านบาทต่อชุด แต่ราคาตั้งต้นของการประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 2,500 ล้านบาทต่อ 1 ชุดคลื่นความถี่ หมายความว่าราคาตั้งต้นที่ กสทช. กำหนดต่ำกว่าราคาตลาดปัจจุบันราว 65%

ทั้งนี้ ราคาตั้งต้นดังกล่าวเป็นราคาเดียวกับการประมูล 3G เมื่อปี 2555 ซึ่งถือเป็นหลักคิดที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากมูลค่าของเงินลดลงตามกาลเวลา เงิน 4,500 ล้านบาทเมื่อ 13 ปีก่อน หากคิดเป็นราคาปัจจุบัน ควรอยู่ที่ประมาณ 5,500 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น ราคาตั้งต้นปี 2555 ดังกล่าวได้ถูกลดลง 30% จากราคาที่ควรจะเป็น การกำหนดราคาคลื่นจึงต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก

“การตั้งราคาที่ไม่เหมาะสมในครั้งนี้ ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้กว่า 70,000 ล้านบาท ในทางกลับกันทำให้บริษัทเอกชนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้และต้นทุนในการประกอบกิจการโทรคมนาคมได้เป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้บริโภคไม่ได้ประโยชน์อะไรจากต้นทุนที่ลดลง” อดีต กสทช. ระบุ

ทั้งนี้ นพ. ประวิทย์ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการประมูลสิทธิเลือกย่านความถี่คลื่น ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ผู้ชนะการประมูลจะต้องเสนอราคาเพิ่มเพื่อเลือกย่านคลื่นที่ต้องการ ปรากฏว่าผู้ให้บริการรายหนึ่งเสนอราคาเลือกย่านคลื่น 2100 MHz เพียง 10 บาท และอีกรายเสนอราคาเลือกย่านคลื่น 2300 MHz และ 1500 MHz เพียงย่านละ 168 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับต้นทุนการจัดประมูลและมูลค่ามหาศาลของย่านคลื่นเหล่านั้น อีกทั้งสำนักงาน กสทช. ก็ไม่มีการกำหนดราคาขั้นต่ำสำหรับการเลือกย่านคลื่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการ “อุ้ม” เอกชนอย่างชัดเจน

ชง กสทช. ออกมาตรการปกป้องประโยชน์ผู้บริโภค

เมื่อถามถึงแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคหลังการประมูลคลื่น อดีต กสทช. เสนอแนะว่า สิ่งที่สำนักงาน กสทช. ควรดำเนินการเพื่อปกป้องและแบ่งปันประโยชน์ให้แก่สาธารณะ มี 3 ข้อ ได้แก่

1) กำหนดเงื่อนไขการลดค่าบริการที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการโทรคมนาคมในราคาที่ถูกลง แม้ที่ผ่านมาเคยมีการกำหนดเงื่อนไขเรื่องการลดค่าบริการ ทั้งกรณีการประมูลคลื่น 3G ปี 2555 และการควบรวมกิจการทรู – ดีแทค ในปี 2562 แต่กลับเป็นการกำหนดให้เอกชนต้องลดค่าบริการ “โดยเฉลี่ย” ซึ่งทำให้ภาคเอกชนสามารถใช้วิธีทางเทคนิค ด้วยการลดราคาบางแพ็กเกจที่อาจไม่ได้ประกาศหรือขายเป็นการทั่วไป และประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการลดค่าบริการจริงหรือไม่ และปัญหาที่พบคือ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์จริงจากการลดค่าบริการ

ดังนั้น กสทช. ควรเปลี่ยนไปใช้เงื่อนไขที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น กำหนดให้ลดค่าบริการแพ็กเกจทุกรายการที่ขายในตลาด ณ ปัจจุบันทันที 10 – 30% เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรงและสามารถตรวจสอบได้

2) ประกาศผู้มีอำนาจเหนือตลาด เป็นมาตรการสากลที่สำคัญอย่างยิ่งในการกำกับดูแลผู้ให้บริการรายใหญ่ได้อย่างเฉพาะเจาะจง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้เล่นรายย่อยในตลาด เพราะปัจจุบันตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยมีผู้เล่นรายใหญ่เพียง 2 ราย และมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่า 99% ซึ่งตามหลักการแล้วถือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างชัดเจน

แต่ กสทช. กลับไม่เคยประกาศผู้มีอำนาจเหนือตลาด ทำให้ไม่สามารถกำกับดูแลราคาได้อย่างเข้มข้น ส่งผลให้ผู้ให้บริการรายใหญ่สามารถเรียกเก็บค่าบริการในราคาสูง เช่น คิดค่าโทรศัพท์เกินแพ็กเกจที่ 50 สตางค์ต่อนาที หรือค่า SMS ที่ 3 บาทต่อข้อความ ทั้งที่ต้นทุนจริงต่ำกว่ามาก หากมีการประกาศผู้มีอำนาจเหนือตลาด กสทช. จะสามารถกำหนดอัตราขั้นสูงของค่าบริการเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

3) กำกับอัตราขั้นสูงของอินเทอร์เน็ตมือถือ ปัจจุบัน กสทช. กำกับดูแลโดยคิดราคาต่อเมกะไบต์ (MB) ซึ่งไม่ทันสมัยเพราะปัจจุบันปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมเฉลี่ยเพียง 2 จิกะไบต์ (Gb) ต่อเดือน กลายเป็น 30–40 GB ต่อเดือน

หากยังคงคิดอัตราค่าบริการแบบเดิม เช่น MB ละ 25 สตางค์ หากใช้ 40 GB ค่าบริการจะสูงถึงประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานจริงและทำให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ใช้ข้อมูลปริมาณมากต้องจ่ายแพง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเปราะบางมักต้องจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตมือถือแพงกว่าคนรวย เนื่องจากไม่ได้ซื้อโปรเหมา 399 599 แต่ใช้แบบเติมเงินซึ่งมักถูกคิดราคาต่อเมกะไบต์

การกำกับดูแลราคาควรปรับใหม่ โดยใช้แนวทางเหมือนอินเทอร์เน็ตบ้าน คือคิดแบบเหมาจ่ายเป็นรายวันหรือรายเดือน เช่น วันละ 3–5 บาท หรือเดือนละ 90 บาท เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียม ถือเป็นแนวทางที่เหมาะสมและเป็นธรรมมากกว่า

ชวนจับตา ‘ราคา – คุณภาพสัญญาณ’ หลัง ประมูลคลื่น

เมื่อถามถึงสิ่งที่ผู้บริโภคสามารถทำได้หลังจากนี้ นพ.ประวิทย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้บริโภคควรติดตามและตรวจสอบสองมิติหลักคือ ราคาและคุณภาพ เนื่องจากผลประมูลคลื่นความถี่ครั้งล่าสุด ทำให้ผู้ให้บริการที่ได้รับคลื่น 2100 MHz มีจำนวนคลื่นเท่าเดิม เนื่องจากเป็นคลื่นที่เคยใช้งานอยู่แล้วผ่านการเช่าจาก NT ดังนั้น การประมูลครั้งนี้จึงไม่ได้ทำให้บริษัทฯ มีคลื่นเพิ่มขึ้น แต่เป็นเพียงการ “รักษาสภาพเดิม” ของโครงข่าย

ในขณะที่อีกหนึ่งผู้ให้บริการได้รับคลื่นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ได้แก่ คลื่น 2300 MHz จำนวน 70 MHz (จากเดิมที่ใช้ร่วมกับ NT เพียง 60 MHz) และคลื่นใหม่ 1500 MHz อีก 40 MHz จึงมีความคาดหวังว่าคุณภาพบริการควรดีขึ้น เพราะมีทรัพยากรมากขึ้นกว่าที่เคย

อดีต กสทช. อธิบายเพิ่มว่า คลื่น 1500 MHz ถูกออกแบบมาสำหรับการดาวน์โหลดโดยเฉพาะ (one-way downlink) อีกทั้งคุณสมบัติที่เดินทางได้ไกลกว่าคลื่นความถี่สูง ทำให้ประหยัดต้นทุนในการขยายโครงข่ายในพื้นที่ห่างไกล ดังนั้นจึงคาดหวังว่า คุณภาพการดาวน์โหลดในเขตเมืองจะดีขึ้นและการให้บริการอินเทอร์เน็ตในเขตชนบทจะครอบคลุมมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรสำรวจสเปกของโทรศัพท์มือถือที่ตนเองใช้ด้วยว่าสามารถรองรับคลื่น 1500 MHz ได้หรือไม่ หากไม่รองรับก็จะใช้ประโยชน์จากคลื่นใหม่นี้ไม่ได้

“ประชาชนควรติดตามและตรวจสอบสองมิติหลัก ได้แก่ 1) ราคา ซึ่งไม่ควรสูงขึ้นเพราะต้นทุนการถือครองคลื่นลดลง 2) คุณภาพ ไม่ควรแย่ลง เพราะต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้น และสำหรับผู้ให้บริการได้คลื่นเพิ่มเติม คุณภาพสัญญาณควรดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม หากพบว่าราคาแพงขึ้นโดยไม่มีเหตุผล หรือคุณภาพแย่ลง นั่นอาจสะท้อนพฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภคและควรมีการดำเนินการตรวจสอบต่อไป” นพ.ประวิทย์ ให้ความเห็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสทช.ประมูลคลื่นฉลุย! True ซิว 2 ย่าน AIS ได้แค่หนึ่ง

ย้อนไทม์ไลน์ข้อเรียกร้องสภาผู้บริโภค ชะลอประมูลคลื่นฯ