
ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจและสังคม คลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ เช่นเดียวกับกิจการพลังงาน การควบรวมกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทยได้สร้างสถานการณ์ที่น่าห่วงใย เมื่อคลื่นความถี่ซึ่งเป็น “สมบัติสาธารณะของชาติ” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 60 กลับตกอยู่ในมือเอกชนเพียงไม่กี่ราย
ท่ามกลางเสียงคัดค้านที่เกิดขึ้นจากองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ แต่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ด้วยมติเสียงข้างมาก 5:1:1 ทำให้คลื่นความถี่ตกอยู่กับผู้ประกอบเพียง 2 ราย ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างรุนแรง
จากการเปิดเผยข้อมูลและงานวิจัยล่าสุดของสภาผู้บริโภค พบว่า หลังจากการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมที่ผ่านมา ตลาดมือถือไทยได้กลายเป็นตลาดที่ “กระจุกตัว” อย่างรุนแรง โดยมีผู้เล่นหลักเพียง 2 ราย ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค 110 ล้านเลขหมายทั่วประเทศ นี่คือวิกฤตโครงสร้างพื้นฐานของชาติที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างรุนแรง
สัญญาณเตือนที่เกิดขึ้นแล้ว
หลักฐานในเชิงตัวเลขชี้ชัดว่า การควบรวมกิจการส่งผลกระทบต่อราคาอย่างรุนแรง โดยทำให้
1. ราคาค่าบริการพุ่งสูงขึ้น
- แพ็กเกจเติมเงิน เพิ่มขึ้นสูงถึง 12 – 16% ปลายปี 2024
- แพ็กเกจรายเดือน เดิมที่ 350 บาท หายไป กลายเป็น 400 – 500 บาท
- แพ็กเกจอันลิมิต ที่เคยขาย 100 บาท ปัจจุบันหายไป เหลือประมาณ 200 บาท
สิ่งที่น่าสะเทือนใจคือ กลุ่มผู้ใช้เติมเงินซึ่งคิดเป็น 70 – 80% ของตลาด ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย กลับเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด
2. คุณภาพบริการตกต่ำ ไม่เพียงแต่ราคาที่เพิ่มขึ้น คุณภาพบริการกลับแย่ลง
- ผู้บริโภค 30% พบปัญหาคุณภาพสัญญาณที่ส่งผลกระทบต่อการใช้งาน
- ในภาคอีสาน พบปัญหาถึง 50%
- การติดต่อศูนย์บริการ ยากขึ้น 2 เท่า รอคิวผ่าน AI 1 – 2 ชั่วโมง
3. ตัวเลือกของผู้บริโภคหายไป เมื่อมีผู้ให้บริการเพียง 2 ราย สิทธิในการเลือกของผู้บริโภคก็หายไป เช่น
- สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ถูกตัดออก เช่น ตัวขยายสัญญาณ เน็ตแถม
- โปรโมชัน ที่หลากหลายลดลงอย่างมาก
- การแข่งขันด้านนวัตกรรม ลดลง เมื่อก่อนมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มากมาย
ผลกระทบระยะยาว “ภัยคุกคามความมั่นคงชาติ”
ดร.ชัยยศ จิรบวรกุล นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญว่า “ปัจจุบันโครงข่ายมือถือที่ประชาชนทั้งประเทศใช้อยู่ 99% อยู่บนโครงข่ายของเอกชนโดยสิ้นเชิง” คำถาม คือ ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน 110 ล้านเลขหมาย จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมหรือไม่? และบริษัทที่ดูแลโครงข่ายมีความสามารถในการทำหรือไม่ทำอะไรได้บ้าง? นี่ถือเป็น ความเสี่ยงด้านความมั่นคงของข้อมูล
เมื่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญตกอยู่ในมือเอกชนไม่กี่ราย จะทำให้เกิด การสูญเสียอำนาจการต่อรองของรัฐ โดยรัฐจะสูญเสียอำนาจการต่อรองในการกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น
- การขยายโครงข่ายไปยังพื้นที่ห่างไกล อาจไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ
- การกำหนดราคาที่เป็นธรรม สำหรับผู้มีรายได้น้อย
- การพัฒนานวัตกรรม เพื่อประโยชน์สาธารณะ
นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การขาดการแข่งขันส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวม ดังนี้
- งบลงทุนลดลง เมื่อไม่มีการแข่งขัน ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติม
- นวัตกรรมชะลอตัว ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ลดลง
- ต้นทุนการประกอบการสูงขึ้น ธุรกิจ SME ต้องจ่ายค่าโทรคมนาคมแพงขึ้น
ความล้มเหลวของกลไกกำกับดูแล
จากการศึกษาของสภาผู้บริโภค พบว่า มาตรการการกำกับดูแลของ กสทช. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เช่น
- มาตรการที่ปรึกษาต้นทุน ที่ควรจัดจ้างภายใน 30 วัน แต่ล่าช้าไปกว่า 1 ปี จนถึงมิถุนายน 2567 เพิ่งอนุญาตให้จัดจ้าง แต่เอกชนยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ
- มาตรการลดราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก 12% ควรบังคับใช้ใน 90 วัน แต่ กสทช. ไม่ได้มีการมอนิเตอร์ราคาในตลาด
- มาตรการส่งเสริมการแข่งขัน กำหนดให้แบ่ง 20% ความจุให้ MVNO แต่ไม่มีการบังคับใช้จริง
ปัญหาโครงสร้างการกำกับดูแล
นักวิชาการยังชี้ให้เห็นว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาระบบที่เกิดจากองค์กรอิสระอย่าง กสทช. นับตั้งแต่ กระบวนการสรรหา ที่ไม่เหมาะสม กลไกการตรวจสอบ ที่อ่อนแอ และ วิธีการทำงาน ที่ล้าสมัย ยังเป็นแบบอนาล็อก ขณะที่กิจการที่กำกับเป็นแบบดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักวิชาการ นักกฎหมาย และภาคการเมือง ได้เสนอทางออกที่เป็นไปได้ คือ
1. ปฏิรูปกลไกการกำกับดูแล
การสรรหา กก.กสทช. ควรมาจากหลายภาคส่วน รวมถึงผู้แทนผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง
การเปลี่ยนวิธีการทำงาน จากอนาล็อกเป็นดิจิทัล สามารถมอนิเตอร์ได้เรียลไทม์ ผ่านระบบ IoT และเซนเซอร์ต่าง ๆ
กลไกการตรวจสอบ เพิ่มบทบาทสภาผู้แทนราษฎรและภาคประชาชนในการตรวจสอบ
2. ส่งเสริมการแข่งขันอย่างจริงจัง
เพิ่มศักยภาพ NT หรือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ ให้เป็นผู้เล่นรายที่ 3 ที่แข่งขันได้จริง โดยใช้กลไกของรัฐ เช่น งบประมาณราชการให้ใช้เฉพาะเครือข่าย NT
พัฒนา MVNO ให้ กสทช. เป็นเจ้าภาพในการให้ MVNO เข้าถึงโครงข่ายได้ง่ายขึ้น
ใช้ประกาศที่มีอยู่ บังคับใช้ประกาศ 4 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขัน
3. ปรับปรุงกฎหมาย
ในแง่ของการบังคับใช้กฎหมาย หลายประเทศได้ปรับกฎหมายให้มีความทันสมัยมากขึ้น เช่น อังกฤษ ที่มีกฎหมายใหม่ปี 2024 จัดตั้ง CMA (Competition and Markets Authority) เพื่อกำกับดูแลการแข่งขันและการควบรวมกิจการ พร้อมอำนาจปรับสูงสุด 10% ของรายได้ที่เกิดขึ้นจากตลาดทั่วโลก
ประเทศไทยกำลังยืนอยู่ ณ จุดเปลี่ยนที่ “ต้องเลือก” เราจะปล่อยให้คลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะของชาติ ตกอยู่ในมือเอกชนไม่กี่ราย แล้วยอมรับผลกระทบที่ตามมา หรือจะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของประชาชน? ดังที่ผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวไว้ว่า “ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการควบรวม ไม่มีใครเลยนอกจากเจ้าของบริษัท ประเทศชาติไม่ได้ประโยชน์ ประชาชนได้รับผลกระทบ”
ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องร่วมกันเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกลไกการกำกับดูแล เพื่อคืนสิทธิให้แก่ประชาชน และปกป้องคลื่นความถี่ให้เป็นสมบัติสาธารณะของชาติอย่างแท้จริง