เปิดมุมมอง Gen Z ถึงเวลาใช้สิทธิผู้บริโภค เสียงเล็กที่สะเทือนโลก

เมื่อพูดถึงคำว่า “ผู้บริโภค” คุณนึกถึงอะไร? สำหรับคนส่วนใหญ่อาจหมายถึงเพียงผู้ซื้อสินค้า แต่สำหรับ น้อง ๆ มัธยมปลาย Gen Z ทั้ง 7 คนจากค่าย “Gen กล้าดี” ที่สภาผู้บริโภคจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 – 20 กรกฎาคม 2568 มองว่าคำนี้มีความหมายที่กว้างกว่านั้นมาก

ซูโม่ – วุฒิภัทร ศรียางนอก จากโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ มองว่าคือผู้ที่ใช้ประโยชน์จากการบริโภคทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอาหาร การใช้บริการขนส่ง หรือการใช้สินค้าต่าง ๆ เช่นเดียวกับ บลิ๊ง – เมธปรียา คงเจริญ จากโรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี ที่สรุปง่าย ๆ ว่าผู้บริโภคคือ “ทุกคน” เพราะล้วนต้องซื้อและใช้บริการ ส่วน Go-Go – กฤติน เวนเต้น และ ป้อง – สกรรจ์ ตั้งศิริสกุล จากโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย เสริมว่าผู้บริโภคคือทุกคนที่มีสิทธิเป็น “ผู้รับบริการ” หรือสินค้าเหล่านั้นอย่างเท่าเทียม

ความเข้าใจที่หลากหลายนี้สะท้อนว่าน้อง ๆ ตระหนักดีว่าบทบาทของผู้บริโภคนั้นผูกพันกับชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก ไม่ใช่แค่เรื่องการซื้อกินซื้อใช้ แต่ยังรวมถึงการรับบริการทุกรูปแบบ และด้วยการเติบโตในยุคดิจิทัลที่ทุกสิ่งเชื่อมถึงกัน ทำให้ “สิทธิผู้บริโภค” ยิ่งมีความสำคัญและใกล้ตัวพวกเขามากขึ้น

ปัญหาผู้บริโภคใกล้ตัว… ที่คนรุ่นใหม่เผชิญ

ในโลกที่ข้อมูลและสินค้าไหลเวียนไม่หยุดนิ่ง ปัญหาผู้บริโภคที่ใกล้ตัวน้อง ๆ จึงมีหลากหลายและส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จากการพูดคุยพบว่ามีปัญหาหลัก ๆ ที่เผชิญบ่อยครั้ง 3 อันดับแรก ได้แก่

ปัญหาอินเทอร์เน็ตและสัญญาณมือถือ ดูเหมือนจะเป็นปัญหายอดฮิตอันดับต้น ๆ ของคนรุ่นใหม่ ซูโม่ เคยประสบปัญหาอินเทอร์เน็ตความเร็วลดลงกะทันหันจนต้องร้องเรียนบริษัท ในขณะที่ Go-Go ประสบปัญหาเรื่องสัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ตที่ไม่ตรงตามแพ็กเกจที่ซื้อไว้บ่อยครั้ง ซึ่งมักเกิดจากรายละเอียดแฝงที่ไม่ได้แจ้งชัดเจน และการแก้ไขก็มักใช้เวลานาน โดยมองว่านี่เป็นผลจากการผูกขาดของสัญญาณมือถือที่ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้นเพื่อสัญญาณที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม

การสั่งของออนไลน์ที่ไม่ตรงปกหรือถูกฉ้อโกง เป็นปัญหาคลาสสิกที่น้อง ๆ หลายคนเจอ บลิ๊ง เผยว่าปัญหาสั่งของออนไลน์แล้วไม่ตรงปกเป็นเรื่องที่พบเจออยู่เสมอ เช่นเดียวกับ ไอโฟน – ณภณธ์ วิรัญกูล จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่บอกว่าเจอทั้งของไม่ตรงปกและได้ของปลอมจากแพลตฟอร์มที่รับรองว่าเป็นของแท้ ส่วน น้ำขิง – ณัฐฐิตา อินทร์หอม จากโรงเรียนสตรีวัดระฆัง ผ่านประสบการณ์สั่งพัดลมออนไลน์แล้วได้รับอุปกรณ์ไม่ครบ ขณะที่ เตย – กัณปภัค สุทธิชัย จากโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชลาดกระบัง พบเจอกรณีสั่งขนมที่โฆษณาว่าแป้งนุ่ม ไส้เยิ้ม แต่เมื่อได้รับกลับพบว่าแป้งไม่ได้มาตรฐาน ไส้ก็เหมือนจะบูดเสีย นอกจากนี้ยังผ่านเหตุการณ์สั่งเสื้อผ้าออนไลน์แล้วสินค้าไม่ตรงปก เมื่อต้องการเคลมก็ถูกบล็อกช่องทางการติดต่อ ทำให้ไม่สามารถติดตามเรื่องได้ จึงทำได้แค่ปล่อยผ่านไป

ปัญหาจากการซื้อบริการและการฉ้อโกงรูปแบบต่าง ๆ ก็เป็นอีกด้านที่น้อง ๆ เผชิญ ไอโฟน เล่าถึงประสบการณ์การถูกโกงบัตรคอนเสิร์ตบ่อยครั้งจากคนกลาง ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับเงินคืน นอกจากนี้ บลิ๊ง ยังเคยเจอเหตุการณ์คอร์สเรียนออนไลน์หายไปหลังจากจ่ายค่ามัดจำ ส่วน น้ำขิง เคยพบกับเหตุการณ์แม่ค้าในโรงเรียนแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมจนต้องรวบรวมหลักฐานไปปรึกษาคุณครู ขณะที่ ซูโม่ พบว่าสินค้าบางอย่างมีราคาสูงกว่าปกติมากเมื่อเทียบกับร้านอื่น แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร จนกระทั่งได้เรียนรู้เรื่องสภาผู้บริโภคจึงทราบว่าสามารถแจ้งเรื่องได้

ปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าน้อง ๆ เผชิญกับความท้าทายในฐานะผู้บริโภคอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในโลกออนไลน์หรือในชีวิตประจำวัน ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ไขได้ด้วยตนเอง

สภาผู้บริโภค… รู้จักหรือไม่? รู้จักแค่ไหน?

ก่อนหน้านี้ สภาผู้บริโภคอาจเป็นชื่อที่วัยรุ่นหรือหลายคนยังไม่คุ้นเคยนัก แต่หลังจากได้เรียนรู้ผ่านค่ายดังกล่าว มุมมองก็เปลี่ยนไป โดยก่อนรู้จัก บลิ๊ง และ ไอโฟน ยอมรับว่า “ไม่รู้จักเลย” เช่นเดียวกับ เตย ที่รู้สึก “งง ๆ ว่าอะไรคือสภาผู้บริโภค” ส่วน ซูโม่ มีความเข้าใจผิดคิดว่าสภาผู้บริโภคเป็นหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะเรื่องอาหารเท่านั้น ขณะที่ Go-Go เคยเข้าใจว่าสภาผู้บริโภคเป็นองค์กรของรัฐที่อาจไม่น่าเชื่อถือนัก

เมื่อถามถึงการมาร่วมค่าย Gen กล้าดีฯ ได้อย่างไร ส่วนใหญ่รู้จักสภาผู้บริโภคจากการที่เพื่อนชวนไปเข้าร่วมค่าย หรือคุณครูที่โรงเรียนแนะนำ ไอโฟนพบข้อมูลจากโปสเตอร์ที่เพื่อนส่งมาให้ ส่วนป้องก็ยอมรับว่าถูกเพื่อนชวนมา

หลังจากได้สัมผัสและเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในค่ายดังกล่าว น้อง ๆ หลายคนรู้สึกว่าโลกทัศน์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้เปิดกว้างขึ้นอย่างมาก ซูโม่ ทราบว่าสภาผู้บริโภคมีหน้าที่ดูแลครอบคลุมทั้งเรื่องสินค้าและการบริโภคต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะผู้บริโภคทุกคนมีสิทธิที่จะใช้สิทธิและเรียกร้องได้ บลิ๊ง รู้สึกว่าสภาผู้บริโภคช่วยให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น และทำให้รู้สึก “ฮีลใจ” เพราะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ เตย รู้สึก “เปิดประสบการณ์” และเพิ่งรู้จริง ๆ ว่าสิทธิผู้บริโภคไทยมีถึง 5 ข้อ ที่ใกล้ตัวมาก ไอโฟน รู้สึก “ประทับใจมากขึ้น” เพราะเมื่อก่อนไม่รู้ว่าจะต้องไปแจ้งเรื่องที่ใคร แต่ตอนนี้มี “แหล่งรวมที่รับเรื่องร้องเรียนผู้บริโภค” ทำให้ง่ายขึ้นมาก น้ำขิงได้เรียนรู้ว่าสภาผู้บริโภค “ทำทุกอย่างเพื่อผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบ”

ที่น่าสนใจคือ Go-Go และ ป้อง ซึ่งเคยลังเลในบทบาทของสภาผู้บริโภค ได้เปลี่ยนความเข้าใจจากองค์กรรัฐที่อาจไม่มีประสิทธิภาพ มาเป็นการรวมตัวขององค์กรต่าง ๆ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าดูน่าสนใจมาก และยังแสดงให้เห็นว่าหลาย ๆ เสียงมันรวมกันกลายเป็นเสียงใหญ่ที่จะช่วยเรียกร้องให้กับคนกลุ่มน้อย

อนาคตของสภาผู้บริโภค… ในมุมมองของคนรุ่นใหม่

เมื่อได้สัมผัสและทำความเข้าใจบทบาทของสภาผู้บริโภคแล้ว น้อง ๆ ก็มีความคาดหวังต่อสภาผู้บริโภคที่จะเดินหน้าต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น

การเข้าถึงที่ง่ายขึ้นและการประชาสัมพันธ์ที่แพร่หลาย ทั้งมีความคาดหวังว่าสภาผู้บริโภคจะเข้าถึงหลาย ๆ ที่มากขึ้น เพื่อลดปัญหาการฉ้อโกงในพื้นที่ที่ยังเข้าไม่ถึง รวมถึงคาดหวังให้สภาผู้บริโภคมุ่งทำให้คนรู้จักมากขึ้น โดยอาจผ่านการจัดบูธตามโรงเรียนหรือประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวางกว่าเดิม พร้อมทำสื่อโฆษณาองค์กรมากขึ้น เพราะปัจจุบันคนทั่วไปยังไม่ทราบถึงการมีอยู่หรือช่องทางการร้องเรียน

การดูแลคุณภาพและความปลอดภัย ต้องการให้สภาผู้บริโภคดูแลเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคได้รับ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่มีเลข อย. หรือสัญลักษณ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. รวมถึงตั้งเป้าหมายว่าสภาผู้บริโภคจะดูแลผู้บริโภคให้ดี

ราคาที่เป็นธรรม มีความมุ่งหวังว่าสภาผู้บริโภคจะช่วยดูแลเรื่องราคาอินเทอร์เน็ต และหวังให้ราคาย่อมเยาลง เนื่องจากอินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน

การมีส่วนร่วมของเยาวชน ได้มีความเชื่อมั่นถึงการมีสภาผู้บริโภคในภาคเยาวชนที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของการมีส่วนร่วมจากคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่หลากหลายของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการเห็นสภาผู้บริโภคเป็นที่พึ่งที่เข้าถึงได้ง่าย มีบทบาทเชิงรุกในการปกป้องคุณภาพสินค้าและบริการ รวมถึงการให้ความรู้เพื่อสร้างผู้บริโภคที่รู้เท่าทันสิทธิ

จากความรู้สู่การปฏิบัติ ใช้สิทธิเมื่อถูกละเมิด !

หลังจากที่ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภคและบทบาทของสภาผู้บริโภคแล้ว คำถามสำคัญคือ จะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ปกป้องสิทธิของตนเองหรือไม่เมื่อถูกละเมิด? ซึ่งเสียงตอบรับส่วนใหญ่แสดงให้เห็นถึงความตระหนักและความพร้อมที่จะใช้สิทธิของตนเองมากขึ้น

ทั้งนี้เสียงจากเยาวชนต่างสะท้อนหลายด้านทั้ง อาจจะร้องเรียนหากเจอของไม่ตรงปกแล้วเสียความรู้สึก หรือคอร์สเรียนหายไป เพราะไม่อยากให้คนอื่นเจอประสบการณ์ที่ไม่ดีเช่นเดียวกัน รวมถึงพร้อมจะใช้สิทธิผู้บริโภคในบางสถานการณ์ ที่รู้ว่าต้นเหตุคือเราไม่ได้เข้าใจผิด และยังได้เรียนรู้ว่าหากร้านค้าออนไลน์ไม่แสดงราคา สามารถร้องเรียนไปที่กรมการค้าภายในและมีสิทธิได้รับรางวัลนำจับอีกด้วย อีกทั้งยืนยันหนักแน่นว่าจะใช้สิทธิของตัวเองและจะจัดการหากถูกละเมิดสิทธิ แม้จะกล่าวว่าปกติไม่ค่อยประสบปัญหามากนัก

พร้อมเน้นย้ำว่า “เราต้องอย่าทอดทิ้งความไม่ยุติธรรม เราต้องใช้สิทธิ รักษาสิทธิ อะไรที่เราพึงมีและควรได้ เราต้องเรียกร้อง ไม่ควรหยุดแค่บ่น” อีกทั้งต้องแสดงเจตนาที่จะใช้สิทธิผู้บริโภคหากเผชิญกับการถูกหลอกลวง

ทั้งหมดจากคำตอบของน้อง ๆ ส่วนใหญ่แสดงให้เห็นถึงความตระหนักและความพร้อมที่จะใช้สิทธิของตนเองมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของการเป็นผู้บริโภคที่รู้เท่าทันและไม่ยอมให้ตนเองถูกเอาเปรียบ

สภาผู้บริโภคกับการสร้าง “Gen กล้าดี”

บทสรุปเสียงของคนรุ่นใหม่ทำให้เห็นถึงความท้าทายที่คนรุ่นใหม่เหล่านี้ต้องเผชิญในฐานะผู้บริโภค ทั้งปัญหาอินเทอร์เน็ต สินค้าไม่ตรงปก การถูกฉ้อโกง หรือแม้แต่การบริการที่ไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าชื่นชมคือความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และเข้าใจสิทธิผู้บริโภค รวมไปถึงบทบาทของสภาผู้บริโภค แม้ในตอนแรกหลายคนจะยังไม่รู้จัก หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนไปบ้างก็ตาม

ความคาดหวังที่อยากเห็นสภาผู้บริโภค เข้าถึงง่ายขึ้น สร้างการรับรู้ในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ดูแลคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าอย่างเข้มงวด และ เป็นที่พึ่งที่แข็งแกร่ง เหล่านี้ล้วนเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ ที่ตอกย้ำถึงบทบาทของสภาผู้บริโภคในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้าง “Gen กล้าดี” ซึ่งเป็น ผู้บริโภคที่รู้เท่าทันสิทธิของตนเอง กล้าที่จะใช้สิทธิของตนเองอย่างเต็มที่

สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงจากภายในสู่ภายนอก จากผู้บริโภคที่เคยถูกเอาเปรียบ ถูกละเมิดสิทธิ แต่อาจไม่กล้าร้องเรียนหรือไม่รู้ช่องทางร้องเรียน มาเป็นผู้ที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ด้านสิทธิผู้บริโภคด้วยเสียงของตนเอง และส่งต่อความเข้าใจเหล่านี้ออกไปสู่ครอบครัว โรงเรียน และชุมชนวงกว้าง เป็นการเปลี่ยนผ่านจากผู้บริโภคที่เคยเงียบงัน ให้กลายเป็น Gen กล้าดี ผู้ซึ่งจะลุกขึ้นเล่าเรื่องราวและเปลี่ยนเสียงสังคม

เมื่อคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงพลังในมือของตนเอง และพร้อมที่จะใช้สิทธิอย่างชาญฉลาด สภาผู้บริโภคก็จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้จุดประกาย เป็นแหล่งความรู้ และเป็นช่องทางให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถเป็นแกนนำสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจและขับเคลื่อนให้คนรอบข้างกล้าที่จะใช้สิทธิ สร้างสรรค์สังคมผู้บริโภคของไทยให้ก้าวหน้า แข็งแกร่ง และเป็นธรรมอย่างแท้จริงในทุกมิติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บลิ๊ง – เมธปรียา คงเจริญ
Go-Go – กฤติน เวนเต้น และ ป้อง – สกรรจ์ ตั้งศิริสกุล (2 คนตรงกลาง)
ซูโม่ – วุฒิภัทร ศรียางนอก (คนที่ 3 นับจากทางซ้าย)
เตย – กัณปภัค สุทธิชัย
ไอโฟน – ณภณธ์ วิรัญกูล
น้ำขิง – ณัฐฐิตา อินทร์หอม