กระตุ้นภาครัฐคุมการผลิต ‘ฟ้าทะลายโจร’ ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

นักวิชาการด้านยาเตือนผู้บริโภค ควรอ่านฉลากยาฟ้าทะลายโจรก่อนการซื้อหา เพื่อตรวจดูมาตรฐานการผลิต ป้องกันความเสี่ยงได้ยาคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน หรือเป็นยาปลอม และกระตุ้นหน่วยงานภาครัฐให้ควบคุมกำกับการผลิตยาฟ้าทะลายโจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือ ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ปลูกจนถึงการสกัดสารสำคัญ และฉลากบนผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องรวมถึงคำเตือนในการใช้ยา

จากการผลิตยาฟ้าทะลายโจรออกมาเป็นจำนวนมาก สอดรับกระแสความนิยมใช้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งพบว่ายาฟ้าทะลายโจรจำนวนมากไม่ได้คุณภาพตามที่กำหนด และไม่มีฉลากข้อมูลเพียงพอ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านยา

วันนี้ (24 มีนาคม 2565) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ร่วมกับ ศูนย์เฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ศูนย์สารสนเทศทางยาและคุ้มครองผู้บริโภค คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีนำเสนอ และ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจาก 2 โครงการ ได้แก่ ‘โครงการทดสอบสินค้าฟ้าทะลายโจรที่กระทบสิทธิผู้บริโภค’ และ ‘โครงการสำรวจและวิเคราะห์ฉลากยาฟ้าทะลายโจรในท้องตลาด’ เพื่อตีแผ่ประเด็นความปลอดภัยของผู้บริโภคดังกล่าวและหาทางออกร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพ และสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในการใช้ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร  

ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สอบ.กล่าวว่า จากการประชาสัมพันธ์การใช้ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด-19 ของภาครัฐ ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีมากขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการได้ผลิตหรือจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้นตาม จึงมองว่าการมีผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ในท้องตลาดเป็นจำนวนมากนั้นอาจสร้างความสับสน และทำให้ผู้บริโภคเกิดข้อสงสัยในวิธีการดูฉลากของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น หรือการโฆษณาแบบใดที่ไม่เกินจริง

“ฉลากเป็นเครื่องมือหลักของผู้บริโภค หากฉลากมีความเหมาะสม ผู้บริโภคก็เข้าใจได้มากยิ่งขึ้น ขณะที่หน่วยงานก็ทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น” ภก.ภาณุโชติ กล่าว

จากประเด็นปัญหาดังกล่าว สอบ.จึงร่วมมือกับหน่วยงานข้างต้นจัดทำโครงการทดสอบและสำรวจผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาดให้มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคอีกด้วย ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนในครั้งนี้จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละส่วนมีข้อมูลที่เพียงพอเพื่อนำไปปรับปรุง แก้ไข และหน่วยงานยังสามารถไปสนับสนุนให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายปรับแก้ไขให้ถูกต้อง หากพบว่าผลิตภัณฑ์ยังไม่เป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนดได้

ด้าน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้ คือ ผู้บริโภคเกิดความสับสนในการใช้ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร เนื่องจากมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบผง และชนิดสารสกัดต่าง ๆ ที่มีความเข้มข้นแตกต่างกันไป รวมถึงยังมีการขึ้นทะเบียนเป็นทั้งเครื่องสำอาง อาหาร ยาแผนโบราณ และยาสามัญประจำบ้าน (ผลิตภัณฑ์สมุนไพร) และเมื่อ 1 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา มีการประกาศออกมาให้ใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรหลักในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ระยะเริ่มต้น หรือผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่มีอาการไม่รุนแรง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเกิดคำถามว่า หากต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรมารับประทานจะซื้อได้เองหรือไม่ หรือควรซื้อแบบใด หรือต้องให้แพทย์เป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเห็นว่า หน่วยงานต้องรีบเร่งเผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง ทั้งข้อมูลการใช้ที่ถูกต้อง วิธีดูฉลากผลิตภัณฑ์ ราคาเท่าใดถึงไม่แพงเกินควร หรือหากพบว่าผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่พบแพงเกินควร มีการกักตุนสินค้า หรือพบว่าผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน ผู้บริโภคจะสามารถร้องเรียนได้อย่างไร โดยที่ไม่ต้องไปหลายหน่วยงาน เนื่องจากการร้องเรียนหลายหน่วยงานจะสร้างภาระให้ผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่ โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สอบ. กล่าวว่า จากการจัดทำโครงการข้างต้น สอบ. เครือข่ายนักวิชาการ และเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคจัดทำข้อเสนอในการควบคุมผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรขึ้น โดยจะจัดส่งข้อเสนอให้หน่วยงานทำงานเชื่อมโยง ประสานข้อมูลระหว่างกัน รวมถึงปรับปรุงแก้ไขเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรในท้องตลาดให้มีคุณภาพ รวมทั้งเพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่ถูกต้องประกอบการตัดสินใจในการซื้อสินค้าและบริการ ขณะเดียวกันหลังจากส่งข้อเสนอให้แต่ละหน่วยงานแล้ว สอบ.จะติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และนำเสนอให้กับสาธารณชนต่อไป

ทั้งนี้ ข้อเสนอมีดังนี้

ในประเด็นมาตรฐานวัตถุดิบก่อนการแปรรูป
ขอให้กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ อย.
(1) ให้ข้อมูล ความรู้ และพัฒนาเกษตรกรในการเพาะปลูกฟ้าทะลายโจร และการเก็บเกี่ยวฟ้าทะลายโจร
(2) วิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตของฟ้าทะลายโจรอย่างต่อเนื่อง

(3) กำหนดมาตรฐานวัตถุดิบฟ้าทะลายโจรที่แตกต่างกันตามประเภท หรือรูปแบบการนำมาใช้งาน เช่น การกำหนดมาตรฐานวัตถุดิบฟ้าทะลายโจร ที่จะนำมาผลิตเป็นยาเพื่อใช้รักษาโรคที่มีความรุนแรง การกำหนดมาตรฐานฟ้าทะลายโจรที่ใช้ภายนอกหรือใช้สำหรับโรค หรืออาการที่ไม่รุนแรง โดยมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิตฟ้าทะลายโจร ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 มาตรา 6(10)

(4) กำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย ตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 มาตรา 76 – 77

และ ขอให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ผลิตสารสกัดฟ้าทะลายโจรผงต้องได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก. 2928-2562)

ในประเด็นทะเบียนผลิตภัณฑ์
ขอให้ อย.
(1) สนับสนุนประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องคำแนะนำการใช้ส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2565 ซึ่งไม่มีฟ้าทะลายเป็นพืชที่ให้ใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยจะต้องดำเนินการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 6(8) กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย
(2) กำกับผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรดูแลภายใต้ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 หรือ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562
(3) มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิตฟ้าทะลายโจร ตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 มาตรา 6(10) หรือมีประกาศคณะกรรมการผลิตภัณฑ์สมุนไพร เรื่อง กำหนดวิธีควบคุมคุณภาพและข้อกำหนดเฉพาะของฟ้าทะลายโจร ตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 มาตรา 15(9)

ในประเด็นฐานข้อมูลทะเบียนผลิตภัณฑ์
ขอให้ อย.

(1) ปรับปรุงฐานข้อมูลสำหรับประชาชนในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรให้สามารถใช้งานได้จริง มีข้อมูลเพียงพอเพื่อตรวจสอบได้

ในประเด็นข้อมูลบนฉลาก
ขอให้ อย. และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
(1) มีคำสั่งแก้ไขรายการทะเบียนตำรับ แก้ไขใบรับแจ้งรายละเอียด แก้ไขใบรับแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อแก้ไขข้อบ่งใช้ วิธีการรับประทาน วิธีการเก็บรักษา ตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 มาตรา 42 หรือมาตรา 51 แล้วแต่กรณี
(2) แก้ไขประกาศคณะกรรมการผลิตภัณฑ์สมุนไพร เรื่อง กำหนดให้แสดงคำเตือนและข้อความคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาที่ต้องแจ้งคำเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและที่เอกสารกำกับยา และข้อความของคำเตือน ฉบับที่ 63 ให้เพิ่มข้อความในฉลาก คือ “4. หากใช้ติดต่อกันเกิน 3 วัน แล้วไม่ดีขึ้น หรืออาการรุนแรงขึ้น ระหว่างการใช้ยาควรหยุดใช้ และพบแพทย์ 5. หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการอ่อนแรง”
(3) กำหนดลักษณะของฉลากฟ้าทะลายโจรในผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 มาตรา 15(7)
(4) ควรกำหนดให้สรรพคุณ ข้อบ่งใช้ วิธีใช้ที่ปรากฏในฉลากสอดคล้องกับข้อมูลวิจัยทางคลินิก หรือข้อมูลในบัญชียาหลักแห่งชาติ

ในประเด็นการโฆษณา
ขอให้ อย. และผู้ประกอบการด้านแพลตฟอร์ม หรือตลาดออนไลน์
(1) ปรับปรุงฐานข้อมูลการอนุญาตให้ผู้บริโภคทราบรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตโฆษณา
(2) ปรับปรุงระบบการออกใบอนุญาต หรือกำหนดบทบาทหน้าที่ต่อเจ้าของแพลตฟอร์มหรือตลาดออนไลน์ เช่น ตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 มาตรา 70 วรรคสอง หรือกำหนดในหลักเกณฑ์เงื่อนไขการโฆษณา ตามมาตรา 6(21)
(3) ประสานความร่วมมือกับเจ้าของแพลตฟอร์มหรือตลาดออนไลน์ให้มีช่องกรอกข้อมูลเลขที่การได้รับอนุญาตโฆษณา หรือมีช่องทางสำหรับรายงานผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาโฆษณา

ในประเด็นการแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหา   
ขอให้ อย. สคบ. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม          
(1) มีเว็บไซต์หรือช่องทางเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาด้านคุณภาพ ความปลอดภัย
(2) มีเว็บไซต์หรือช่องทางเผยแพร่ข้อมูลที่มีความเชื่อมโยงระหว่างกัน
(3) การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาผลิตภัณฑ์ ระบบการรายงานผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหา

ในประเด็นการแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหา   
ขอให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ 
(1) กำหนดราคาขายหรือมาตรการอื่น ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 9 และมาตรา 25
(2) กำหนดมาตรการห้ามกักตุนสินค้า ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 30
(3) กำหนดมาตรการอื่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ.2495 มาตรา 5

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค