เตือนภัย : “ขนมเปี๊ยะยิ้ม” ทำฉลากใหม่ทับฉลากเก่า เข้าข่ายแสดงฉลากที่อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค กรณีสั่งซื้อขนมเปี๊ยะ ยี่ห้อเปี๊ยะยิ้ม (PIA YIM) และพบว่ามีการปิดฉลากใหม่ทับฉลากเดิม เปลี่ยนแปลงวัน/เดือน/ปี ที่ผลิตและวันหมดอายุโดยฉลากเก่าระบุวันที่บรรจุ 12 กรกฎาคม 2566 หมดอายุ 12 มกราคม 2567 ส่วนฉลากใหม่ที่ติดทับระบุวันที่บรรจุ 20 มกราคม 2567 หมดอายุ 18 กรกฎาคม 2567 นั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อมูลจากที่เคยระบุไว้ในฉลากที่ติดไว้ในครั้งแรกซึ่งอาจสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภคได้และ อาจเข้าข่ายการแสดงฉลากเพื่อลวง เปลี่ยนแปลงวันหมดอายุ ถือเป็นความผิดตามมาตรา 25(2) และ 27(4) ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 100,000 บาท และอาจเข้าข่ายการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ถือเป็นความผิดตามมาตรา 6(10) ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท  อย่างไรก็ตามสภาผู้บริโภคจะดำเนินการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไปและขอเตือนภัยให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการเลือกซื้อและควรตรวจสอบวัน/เดือน/ปีที่หมดอายุบนกล่องก่อนรับประทานเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

บนฉลากอาหาร ควรแสดงอะไรบ้าง

อาหารทุกประเภทที่มีการวางจำหน่าย จำเป็นต้องมีสัญลักษณ์และตัวเลขบริเวณบรรจุภัณฑ์ที่เป็นข้อมูลสำคัญ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2557 ทั้งนี้สำนักงานมาตรฐานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการกำหนดไว้ว่าอาหารที่จำหน่ายต้องมีข้อความภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ต้องแสดงข้อมูลบนฉลากอย่างถูกต้องและครบถ้วนซึ่งแสดงรายละเอียด โดยมีสาระสำคัญได้แก่

  • ชื่ออาหาร
  • สารบบอาหาร โดยมีเครื่องหมายแสดงทะเบียนหรือเลขอนุญาตใช้ฉลากอาหาร สัญลักษณ์ของ อย.ตามด้วยเลขทะเบียนและปีที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน
  • ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ
  • ปริมาณสุทธิของอาหารเป็นระบบเมตริก
  • ส่วนประกอบที่สำคัญ หรือ ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (GDA) การแสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ที่มีอยู่จริงในผลิตภัณฑ์อาหารนั้น
  • ข้อความว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” ถ้ามีการใช้
  • ข้อความว่า “เจือสีธรรมชาติ” หรือ “เจือสีสังเคราะห์” แล้วแต่กรณีที่มีการใช้
  • แสดงข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร
  • การแสดงวัน เดือนและปีที่ผลิตและหมดอายุ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและควรอยู่บนผลิตภัณฑ์ทั้งอาหารสำเร็จรูปแบบแห้งและแบบปรุงสุก
  • ราคาของสินค้าพร้อมระบุหน่วยบาท

หากผู้บริโภคท่านใดพบปัญหาความบกพร่องของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับฉลาก เช่น ไม่แสดงฉลากภาษาไทย แสดงฉลากไม่ครบถ้วนหรือแสดงฉลากอย่างไม่ถูกต้อง สามารถแจ้งร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ผ่านสายด่วน อย. 1556 หรือทางอีเมล [email protected] และสามารถยื่นเรื่องร้องเรียน แจ้งเบาะแสเข้ามายังสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ผ่านสายด่วน 1502 หรือตามช่องทางด้านล่าง เพื่อที่ทาง สภาผู้บริโภคจะดำเนินการประสานเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคต่อไป

  • ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain…  
  • ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
  • อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
  • อีเมล : [email protected]
  • โทรศัพท์ : เบอร์สายด่วน 1502

ข้อมูลจาก : จี้ อย. ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เอาผิดร้านค้าติดฉลากลวง ฉลากไม่ถูกต้อง ชี้ ผิด พ.ร.บ.อาหาร