แนะ คปภ. พิจารณา กรณี ‘อาคเนย์’ เลิกกิจการอย่างรอบคอบ หวั่นกระทบผู้บริโภค

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) แนะ คปภ. พิจารณากรณี ‘อาคเนย์’ เลิกกิจการอย่างรอบคอบ หวั่นกระทบผู้บริโภค

จากกรณีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH มีหนังสือแจ้งต่อกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เกี่ยวกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และช่วงเช้าวันที่ 27 มกราคม 2565 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘หมอแล็บแพนด้า’ โพสต์เกี่ยวกับประเด็นการเลิกกิจการของบริษัทประกันภัยดังกล่าว

โดยระบุว่า เริ่มมีแฟนเพจทักไปสอบถามเรื่องบริษัทประกันฯ ที่เพิ่งปิดตัวไป โดยยกตัวอย่างกรณีของแฟนเพจท่านหนึ่งที่รถโดนชน และอาคเนย์ประกันภัยเขียนใบเคลมให้แล้ว โดยทางศูนย์บริการรถยนต์กำลังติดต่อกับอาคเนย์ฯ เพื่อเบิกเงิน แต่เมื่อมีข่าวว่าบริษัทฯ ปิดตัวลง ทางศูนย์ฯ จึงโทรแจ้งให้ไปเอาใบเคลมกลับคืน เนื่องจากทางศูนย์ฯ เคลมให้ไม่ได้แล้วนั้น

โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สอบ. แสดงความเห็นว่า การยกเลิกกิจการดังกล่าวจะต้องไม่กระทบสิทธิผู้บริโภคตามสัญญาประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยโควิด-19 หรือประกันอื่น ๆ โดยบริษัทจะบังคับเลิกสัญญาและคืนเฉพาะเบี้ยประกันไม่ได้ ควรมีการชดเชยความเสียหายแก่ผู้บริโภคเป็นเงิน 5 เท่าของเงินเบี้ยประกัน รวมถึงให้สิทธิผู้บริโภคเลือกโอนสิทธิย้ายกรมธรรม์ของตนไปบริษัทประกันภัยอื่น โดยสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ต้องไม่ลดลง

“คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลต้องพิจารณาการเลิกกิจการดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพราะหากยินยอมให้อาคเนย์ฯ เลิกกิจการได้ ก็จะมีรายอื่น ๆ ทยอยเข้ามาขอเลิกกิจการได้อีก และจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมาก” โสภณกล่าว

สำหรับกรณีผู้บริโภคที่ซื้อกรมธรรม์กับบริษัท อาคเนย์ประกันภัย และได้รับความเดือดร้อนหรือผลกระทบจากการยกเลิกดังกล่าว หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สอบ. ระบุว่า ผู้บริโภคสามารถร้องเรียน ร้องทุกข์มายัง สอบ. ได้ที่ Inbox facebook สภาองค์กรของผู้บริโภค อีเมล [email protected] หรือเบอร์โทรศัพท์ 081 134 9216 โดย สอบ. จะเป็นตัวแทนประสานงานไปยังบริษัทอาคเนย์ฯ และ คปภ. แทนผู้บริโภค

ด้านวิภาพร แซ่ผู่ ทนายความ สอบ. กล่าวว่า การที่บริษัท อาคเนย์ฯ จะประกาศเลิกกิจการ ทั้งที่ยังไม่ได้ขออนุญาตจาก คปภ. ไม่สามารถทำได้ เพราะตามมาตรา 57 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 กำหนดให้ บริษัทประกันวินาศภัยที่ต้องการจะเลิกกิจการ ต้องยื่นคำขออนุญาตต่อคณะกรรมการ คปภ. เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้เสีย โดยคณะกรรมการมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่บริษัทต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จ ก่อนที่คณะกรรมการจะอนุญาตให้เลิกกิจการ หากผู้ใดฝ่าฝืนมาตราดังกล่าวต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท

ทนายความ ของ สอบ. ระบุเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีที่ผู้บริโภคถูกศูนย์บริการรถยนต์ปฏิเสธการเคลมนั้น ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากบริษัท อาคเนย์ฯ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เลิกกิจการ ดังนั้นจึงต้องดำเนินการตามปกติ โดยเป็นความรับผิดชอบของบริษัทฯ ที่ต้องไปเจรจากับศูนย์บริการรถยนต์ รวมถึงบริษัทคู่ค้าอื่น ๆ ให้ชัดเจน

“หากศูนย์บริการฯ ซึ่งเป็นบริษัทคู่ค้าของอาคเนย์ปฏิเสธการเคลมประกันให้ผู้บริโภค จนกระทั่งเลยระยะเวลาที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ก็จะเข้าข่ายประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.วินาศภัยเช่นกัน” วิภาพรกล่าว

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค