ร้อง ‘ประยุทธ์’ หยุดจัดซื้อ ‘ATK’ ไม่มีคุณภาพ

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ปฎิบัติตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และเร่งจัดซื้อ ATK ที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน WHO โดยเร็ว

จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด – 19 (ศปก.สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะประเด็นสำคัญข้อ 6 ที่ระบุไว้อย่างชัดว่า “เร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจหาเชื้อโควิด – 19 แบบแอนติเจน (Antigen Test Kits : ATK) ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มีจำหน่ายในไทย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงที และพร้อมจัดส่งให้ได้ในเวลาที่กำหนด” นั้น

สอบ.ขอให้ รมว.สธ.ปฏิบัติตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งเรียกร้องให้ อภ.ยุติข้อกำหนดการจัดซื้อชุดตรวจหาเชื้อโควิด – 19 แบบแอนติเจน (Antigen Test Kits : ATK) ที่ไม่ได้มาตรฐานการรับรอง ตามที่ WHO กำหนด ซึ่งตามกรอบในแบบยื่นซองเสนอราคาตามการสงวนสิทธิของ อภ. ในข้อ 4.1 ผู้เสนอราคาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใด อภ.จะไม่พิจารณาซื้อหรือพิจารณาซื้อรายถัดไป แล้วแต่จะเห็นสมควร และ 4.2 อภ.ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะลดหรือเพิ่มจำนวน จะงดซื้อหรือเลือกซื้อโดยไม่จำเป็นต้องซื้อจากผู้เสนอราคาต่ำสุดเสมอไป รวมทั้ง สงวนสิทธิที่จะพิจารณายกเลิกการเสนอราคาเพื่อประโยชน์ของ อภ.เป็นสำคัญ ซึ่งสะท้อนว่า อภ.สามารถยกเลิกการประมูลในครั้งนี้ได้

กรณีชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ LEPU นั้น หากพิจารณาคุณสมบัติแล้ว LEPU มีคุณสมบัติไม่ตรงตามมาตรฐานการรับรองที่ WHO กำหนด ซึ่ง LEPU นั้นมีค่าความไว (Sensitivity) ร้อยละ 90 ความจำเพาะ (Specificity) ร้อยละ 98 ขณะที่มาตรฐานของ WHO กำหนดค่าความไวไว้ที่ร้อยละ 95 และค่าความจำเพาะไว้ที่ร้อยละ 99 ซึ่งความแตกต่างของตัวเลขที่ว่านี้ หากนำไปใช้ตรวจเชื้อโควิดจำนวน 8.5 ล้านครั้ง ภายใต้ความชุกของโรคที่ร้อยละ 10 จะก่อให้เกิดผลลบลวง (False Negative) เพิ่มมากถึงจำนวน 40,000 คน ซึ่งหมายความว่า การตรวจเชิงรุก จะชี้ว่า “ผู้ป่วยไม่ติดเชื้อ ทั้งที่ติดเชื้อ” และในทางกลับกัน ชี้ว่า “ติดเชื้อ” แต่ในความจริงแล้ว “ไม่ติดเชื้อ” และจะทำให้มีข้อผิดพลาดจากการตรวจเพิ่มขึ้นทั้งหมดราว 110,000 คน ส่งผลให้ผู้ที่มีผลตรวจระบุว่า “ติดเชื้อ” ทั้งที่ “ไม่ติดเชื้อ” จะถูกส่งตัวไปรักษาดูแลในศูนย์พักคอย โรงพยาบาลสนาม ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด – 19 เป็นอย่างมาก

ดังนั้น สอบ.เห็นว่า คุณภาพของ ATK ควรต้องพิจารณาจากชุดตรวจที่ให้ผลลบลวงน้อยที่สุด มีประสิทธิภาพ และความแม่นยำมากที่สุดมาเป็นลำดับแรก เพราะผลลบลวงเหล่านี้จะส่งผลให้ผู้ป่วยขาดโอกาสที่จะได้รับการดูแลรักษาพยาบาล โดยเฉพาะการได้รับยาจำเป็นอย่างทันการณ์ และการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลเมื่อมีอาการรุนแรง อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่ชุมชนโดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว ทำให้ยากต่อการควบคุมโรค ซึ่งขัดกับแนวทางการควบคุมโรค ที่ต้องการให้มีการควบคุมโรคให้ได้เร็ว และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในฐานะผู้บริโภค สอบ.จึงขอให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรี ที่ต้องการให้จัดซื้อ ATK ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจาก WHO ดังนั้น สอบ.จึงมีข้อเสนอและการดำเนินการ ดังนี้

1. ขอให้ รมว.สธ. และ อภ.ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ที่มีความชัดเจนในการจัดซื้อจัดจ้าง ให้ได้ชุดตรวจ ATK ที่มีคุณภาพระดับที่ได้รับการรับรองจาก WHO เพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดในการตรวจเชิงรุกให้น้อยที่สุด และเร่งจัดซื้อชุดตรวจที่มีคุณภาพให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเร็ว

2. ขอให้นายกรัฐมนตรี และสำนักงานศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ยืนยันตามมติคณะรัฐมนตรีและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564


#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค