
เตือนภัยผู้บริโภค ซื้อสินค้าป้ายเหลืองอาจไม่ปลอดภัย ระวังของหมดอายุ เลยวันที่ควรบริโภค เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ ด้านผู้ขายเสี่ยงผิดกฎหมาย
ควรบริโภคก่อน (BBE/BBF) vs หมดอายุ (EXP) ต่างกันยังไง
ทุกวันนี้ผู้บริโภคหลายคนอาจยังคงสับสนว่า ฉลากที่ระบุคำว่า BBF (Best Before) กับ EXP (Expiration Date) นั้นมีความหมายต่างกันอย่างไร สภาผู้บริโภคจะอธิบายความหมายของแต่ละคำแบบ เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกซื้ออาหารได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้น
- ควรบริโภคก่อน (BBE/BBF) คือ อาหารจะมีรสชาติดี ยังคงคุณค่าทางอาหารครบถ้วน ตามที่ระบุไว้บนฉลากอาหารจนถึงวันนั้น หลังจากวันนั้นไปรสชาติ คุณภาพและคุณค่าทางอาหารจะลดลง
- หมดอายุ (Expiry Date หรือ EXP) คือ วันที่อาหารนั้น หมดอายุ หลังจากวันนั้น ไม่ควรเอาอาหารนั้นมากิน เพราะ อาหารนั้นจะเน่า เสีย หรือบูดแล้ว จึงห้ามรับประทาน เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย
สำหรับร้านค้าที่วางขายอาหารเลยวันควรบริโภคก่อน หรือ วันหมดอายุ อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่ในกรณีของอาหารที่เลย วันควรบริโภคก่อน ยังต้องพิจารณาเพิ่มเติมว่า สินค้านั้นเสื่อมคุณภาพจนไม่เหมาะแก่การบริโภคแล้วหรือไม่
หากร้านค้าขายสินค้า หมดอายุ อาจเข้าข่าย อาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค ตาม มาตรา 25(4) ของพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งหมายรวมถึงอาหารที่หมดอายุหรือเสื่อมคุณภาพจนไม่เหมาะแก่การบริโภค มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ทั้งนี้ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ไม่ได้กำหนดให้การขายอาหารหมดอายุเป็นความผิดโดยตรง แต่ต้องพิสูจน์ได้ว่าอาหารดังกล่าวอาจเป็นมีการเปลี่ยนสภาพ อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จึงจะลงโทษ
ยกเว้นถ้าอาหารที่หมดอายุนั้นมีสารอันตรายต่อสุขภาพปะปนอยู่และเห็นได้ชัดเจน เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย หรือสารพิษอันเนื่องมาจากการหมดอายุ จะเข้าข่าย อาหารไม่บริสุทธิ์ ตามมาตรา 26(1) ซึ่งมีบทลงโทษเดียวกันอย่างไร
อย่างไรก็ตาม เรื่องการจำหน่ายสินค้าหมดอายุหรือเลยวันที่ควรบริโภคก่อน ยังคงเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ไม่ใช่แค่ในห้างสรรพสินค้า แต่รวมถึงร้านค้ารายย่อย หรือแม้แต่ตลาดนัด จากกรณีข่าว กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) จับกุมผู้กระทำผิดที่ลบวันหมดอายุออกแล้วนำสินค้ากลับมาขายซ้ำ (อ้างอิงจากข่าว :: https://www.naewna.com/local/882641)
ขณะที่ สภาผู้บริโภคเองก็ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีอาหารหมดอายุมาไม่น้อย ตลอด 3 ไตรมาสของปี 68 พบว่า มีเรื่องร้องเรียนที่ครอบคลุมประเด็นดังกล่าว จำนวน 65 กรณี ไม่ว่าจะเป็นของกินของใช้ที่หมดอายุ ขึ้นรา หรือสภาพไม่พร้อมทาน หรือแม้แต่การเอาสติกเกอร์ไปแปะทับวันหมดอายุเพื่อหลอกลวงผู้บริโภค
ทั้งนี้ มีการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาร้องเรียนของผู้บริโภค โดยประสานกับหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจตรวจสอบ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และติดต่อผู้ประกอบการหรือร้านค้าที่ถูกร้องเรียนเพื่อแจ้งเรื่อง สอบถามแนวทางการแก้ไข เช่น การตรวจสอบสินค้า การคืนเงิน หรือเปลี่ยนสินค้า ทั้งนี้ ในบางกรณี หน่วยงานประจำจังหวัดในพื้นที่จะลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าที่ถูกร้องเรียนเพื่อยืนยันข้อเท็จจริง
ผลจากการประสานงานกับร้านค้าและผู้ประกอบการ มีหลายกรณีที่ร้านค้าแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค เช่น การคืนเงินค่าสินค้า หรือการเปลี่ยนสินค้าใหม่ในกรณีที่สินค้าหมดอายุหรือไม่เป็นไปตามมาตรฐาน รวมทั้งมีการแจ้งกลับว่าจะดำเนินการตรวจสอบและปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ซ้ำในอนาคต
เพื่อแก้ปัญหาอาหารหมดอายุ และ อาหารเลยวันควรบริโภคถูกวางขายบนชั้น ที่ผู้บริโภคอาจเผลอหยิบไปโดยไม่ได้ดูวันที่ และส่งผลเสียต่อร่างกายเมื่อทานเข้าไป สภาผู้บริโภคได้เสนอปรับแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร โดยให้ระบุข้อห้ามเกี่ยวกับอาหารหมดอายุอย่างชัดเจน โดยกำหนดให้อาหารที่หมดอายุหรือล่วงพ้นกำหนดการบริโภคจัดเป็นอาหารเสื่อมคุณภาพ และเพิ่มการควบคุมอาหารเสื่อมคุณภาพห้ามวางจำหน่าย ซึ่งผู้ประกอบการต้องดูแลตรวจสอบไม่ให้มีอาหารหมดอายุวางจำหน่ายเด็ดขาด ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากการบริโภคอาหารที่เสื่อมคุณภาพได้ และหากร้านค้าไม่กำกับดูแลสินค้าจะมีโทษปรับตามกฎหมายสูงสุดสามแสนบาท
สำหรับผู้ประกอบการควรการคัดกรองสินค้าหมดอายุหรือใกล้หมดอายุอย่างเป็นประจำ หากเป็นของที่ยังบริโภคได้ควรแจ้งให้ชัดเจน และไม่ลบฉลากเดิม เพราะสิ่งที่วางบนชั้นขาย คือสิ่งที่เข้าสู่ร่างกายของผู้บริโภคโดยตรง ร้านค้าต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่จำหน่าย เช่นเดียวกับที่ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันสิทธิของตนเอง
ควรทำอย่างไร เมื่อเจอสินค้าหมดอายุ
สำหรับผู้บริโภคก่อนซื้อสินค้าควรเริ่มจากการ ตรวจสอบวันหมดอายุ และ วันควรบริโภคก่อน บนฉลากสินค้าอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะสินค้าที่มีการติดป้ายลดราคา เพราะมีโอกาสสูงที่สินค้าอาจใกล้หมดอายุหรือหมดอายุไปแล้วโดยไม่แจ้งอย่างชัดเจน หากพบความผิดปกติ เช่น ฉลากไม่ชัดเจน ถูกลบ หรือมีการแปะทับด้วยสติ๊กเกอร์ราคา ควร เก็บหลักฐาน เช่น การถ่ายรูปสินค้า ฉลาก และใบเสร็จ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการร้องเรียน
ในกรณีที่พบว่าร้านค้าวางจำหน่ายสินค้าหมดอายุ หรือสินค้าที่เลยวันควรบริโภคก่อน หรือได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้า ควรไปพบแพทย์และขอใบรับรองแพทย์ไว้เป็นหลักฐาน และสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือโทรสายด่วน 1556 หรือร้องเรียนมาได้ที่ สภาผู้บริโภค โทรสายด่วน 1502 หรือช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ tcc.or.th
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ถั่วกระป๋อง หมดอายุเกือบปี! ยังวางขาย เข้าร้องสภาผู้บริโภค ได้ชดเชย 2 พัน