เข้าพบ กทม. ถกแก้ปัญหาสายสีเขียว

สภาองค์กรของผู้บริโภค และกลุ่มเยาวชนขนส่งขนสุขสาธารณะ หารือกรุงเทพมหานคร แก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว

วันนี้ (23 ธันวาคม 2565) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม และกลุ่มเยาวชนขนส่งขนสุขสาธารณะ เข้าพบชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และทีมบริหารกรุงเทพมหานคร เพื่อหารือประเด็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

สารี กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค สนับสนุน ผู้ว่าฯ กทม. ที่จะไม่ต่อสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและต้องการให้มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ภายหลังหมดสัญญาสัมปทานกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) : บีทีเอส (BTS) ในปี 2572

“สภาองค์กรของผู้บริโภคเห็นว่าการขยายเวลาสัมปทานออกไปอีกจะสร้างภาระกับผู้บริโภคนานถึง 37 ปี และเห็นพ้องกับความเห็นที่ กทม. เสนอให้ใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ในการประมูลสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากจะสามารถกำหนดเงื่อนไขเรื่อง มาตรฐานการให้บริการและราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมสำหรับประชาชนได้ และยังมีระยะเวลาจัดทำแนวทางดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุนก่อนสิ้นสุดอายุสัมปทาน และขอให้ใช้วิธีการประมูลจ้างการเดินรถหรือทำสัญญาร่วมทุน (PPP) โดยแยกเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาเดินรถและสัญญาหาประโยชน์จากการโฆษณาและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ” สารี กล่าว

ส่วนประเด็นผลผูกพันที่ทำให้ กทม. ต้องขยายเวลาสัญญาสัมปทานกับบีทีเอสจากปี 2572 ออกไปถึงปี 2602 และทำให้บีทีเอสเก็บค่าบริการในอัตราสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 นั้น ขณะนี้ กทม.ได้ส่งความเห็นกลับไปที่กระทรวงมหาดไทยแล้ว โดยมี 3 ประเด็น คือ 1) เห็นพ้องกับนโยบายที่ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบการเดินรถ (Through Operation) 2) เห็นควรที่จะเดินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และ 3) การหาข้อยุติของ ครม. ตามคำสั่ง คสช. จะทำให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงาน แต่ทั้งนี้ กทม. ยืนยันว่าต้องรอผลการพิจารณาจาก ครม. อีกครั้ง ขณะที่ความคืบหน้าคดีและภาระหนี้สินของ กทม. และบีทีเอสในขณะนี้นั้น กทม. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว

สำหรับการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 1 และ 2 มีความจำเป็นต้องชะลอออกไปก่อน เนื่องจากติดขัดในข้อกฎหมาย รวมถึงยังเป็นประเด็นที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ทั้งนี้ กทม. ได้พยายามเจรจากับบีทีเอสเพื่อหาข้อยุติทางคดีและภาระหนี้สินคงค้างแล้ว

ขณะที่ตัวแทนจากกลุ่มเยาวชนขนส่งขนสุขสาธารณะ ระบุว่า ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามากำกับราคารถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ถูกลง เพราะปัจจุบันประชาชนต้องแบกรับภาระค่าเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันต้องการให้สภาฯ กทม. ที่คนกรุงเทพฯ เลือกเข้ามาทำหน้าที่และฟังเสียงของประชาชนให้มากกว่านี้ อีกทั้งต้องการให้ กทม. สื่อสารข้อมูลของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ทุกคนได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะข้อมูลที่ถูกสื่อสารออกมาในช่วงที่ผ่านมามีความซับซ้อน เข้าใจได้ยาก จนอาจทำให้คนกรุงเทพฯ ไม่สนใจเพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค