จุดยืน “ปลดล็อกกัญชา” ต้องเพื่อการแพทย์ ไม่ใช่สันทนาการ

ทันทีที่ ‘ปลดล็อกกัญชา’ เมื่อ 9 มิถุนายน 2565 ก็เกิดกระแสกัญชาฟีเวอร์ในประเทศไทย ที่ได้เห็นการปลูก การเก็บ และการขายกัญชาทุก ๆ ส่วน ทั้ง ใบ ก้าน ดอก และน้ำมันกัญชา อย่างเปิดเผยทั่วทั้งประเทศ รวมทั้งการนำกัญชามาเป็นส่วนผสมในอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม และสันทนาการ (สูบ)  เพียง 1 สัปดาห์ผ่านไป ผลกระทบด้านลบต่อผู้บริโภคจากการเปิดกัญชาเสรีเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

‘หนุ่มกินก๋วยจั๊บใส่กัญชา แพ้หนักต้องหามเข้า รพ.’ ‘สาวโพสต์เตือนภัย สั่งต้มจืดมะระ ร้านใส่ใบกัญชาด้วย สุดท้ายแพ้รุนแรง เด็กอายุ 16 ใช้กัญชาแล้วเกิดอาการแพ้จนต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู’ เป็นกระแสข่าวต่อเนื่องทันที เนื่องจากร้านอาหารจำนวนมากเกาะติดกระแสกัญชาฟีเวอร์ด้วยการผสมกัญชาลงไปในสูตรอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติ โดยไม่ได้แจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้า รวมทั้งยังไม่แจ้งปริมาณกัญชาที่ผสมอีกด้วย

แม้รัฐบาลออกกฎหมายกำหนดปริมาณกัญชาในอาหารเพื่อให้ร้านอาหารใส่ปริมาณใบกัญชา หรือปริมาณสารทีเอชซี (Tetrahydrocannabinol : THC) ตามที่กำหนด แต่ดูเหมือนว่าวิธีการตรวจสอบ ควบคุมการผสมกัญชาในอาหาร หรือการใช้กัญชายังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร


กัญชาเสรีควรเป็นไป ‘เพื่อการแพทย์

“กัญชาเสรี หลักใหญ่ต้องเป็นไปเพื่อการแพทย์ ไม่ใช่เปิดเพื่อสันทนาการ” สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวยืนยันในหลักการที่ควรจะเป็น และมีความเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้เตรียมความพร้อมในการคุ้มครองผู้บริโภคมากเพียงพอก่อนเปิด “กัญชาเสรี” เนื่องจากขาดการรณรงค์ สร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการด้านอาหารให้มากพอ โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กที่มีมากมายทั่วประเทศ ขาดการสร้างองค์ความรู้แก่ผู้บริโภค และประชาชนทั่วไปให้เข้าใจถึงขอบเขตการใช้ หรือเสพ ว่ากัญชาควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ด้านการแพทย์ ไม่ใช่เพื่อสันทนาการ หรือการประกอบอาหาร เครื่องดื่ม ที่เมื่อเปิดให้มีผลผลิตอยู่ในมือประชาชนอย่างเสรีแล้ว อาจการนำไปใช้ในปริมาณเกินกำหนด ในอัตราที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือความปลอดภัยต่อสังคม

ความกังวลเช่นเดียวกันนี้ของบุคลากรทางการแพทย์ และองค์กรหลัก ๆ ได้ออกมาแสดงความเห็นอย่างต่อเนื่องหลังจากการปลดล็อกกัญชา โดยเร่งให้รัฐบาลออกกฏหมายและจัดหน่วยงานดูแลการใช้กัญชาอย่างเหมาะสม เช่น มหาวิทยาลัยมหิดลที่กล่าวถึง ข้อกำหนดห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ควบคุมยานพาหนะ และเครื่องจักร ซึ่งต้องหลีกเลี่ยงการขับรถ หรือควบคุมเครื่องจักร 6 ชั่วโมงหลังจากการบริโภคกัญชา เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ และเตือนผู้ที่ต้องการใช้กัญชาต้องศึกษาข้อมูลโดยละเอียดก่อนใช้ หากเกิดอาการผิดปกติต้องรีบพบแพทย์

ขณะที่ ยังไม่มีหน่วยงานที่ดูแลกำกับการใช้กัญชาทั่วไปอย่างเหมาะสม การที่ให้ประชาชนทั่วไปครอบครองกัญชาได้อาจนำไปสู่การนำไปใช้อย่างขาดความรู้ และเกิดอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น ตัวอย่างเช่น การบริโภคช่อดอกกัญชาอาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยได้ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลยืนยันเรื่องความปลอดภัยเผยแพร่ออกมา

“ผู้บริโภคไม่รู้หรอกว่าอาหารหรือเครื่องดื่มเหล่านั้นมีกัญชาผสมอยู่หรือไม่ และไม่รู้ด้วยว่านำส่วนของพืชส่วนใดมาใช้เป็นส่วนผสม ดอก ใบ หรือลำต้น เพราะมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า จะรู้อีกทีก็ตอนที่เกิดอาการแพ้ ดังนั้น ร้านอาหารควรต้องแจ้งลูกค้าว่าเมนูใดบ้างที่มีกัญชาผสมอยู่ และลูกค้าต้องสอบถามกับร้านอาหารเพื่อความชัดเจนด้วยอีกทาง” สารี กล่าว

ด้วยเหตุนี้ สอบ. จึงเสนอให้ผู้บริโภคไม่อุดหนุนร้านอาหาร หรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่ไม่มีประกาศแจ้งว่ามีส่วนผสมของกัญชาหรือไม่ หรือมีในปริมาณเท่าไร รวมทั้งที่ไม่มีประกาศคำเตือนอย่างชัดเจนว่า หญิงมีครรภ์ เด็กต่ำกว่าอายุ 20 ปี และผู้ขับขี่ยานพาหนะ หรือควบคุมเครื่องจักรห้ามรับประทาน และควรช่วยกันแจ้งเบาะแสต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อการกำกับควบคุมในอนาคต

นอกจากนี้ สารีย้ำเตือนว่า ขณะนี้อุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดจากการดื่มสุรา หรือการใช้สารกระตุ้นหรือสารเสพติดอื่น ๆ สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินคนไทยนับมูลค่าไม่ได้ ดังนั้น อย่าให้การเสพกัญชาเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เพิ่มความสูญเสียจากการขาดสติในขณะควบคุมยานพาหนะ

ด้านอุตสาหกรรมอาหารที่มีการบังคับปริมาณการใส่กัญชาเป็นส่วนประกอบนั้นสามารถทำได้ แต่การจะระบุออกมาหรือตรวจสอบว่าใส่กัญชาในปริมาณไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้นเป็นเรื่องที่ยังไม่ชัดเจนพอ ที่จะสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าไม่เกินนั้นจริง ๆ ดังนั้น เมื่อไม่มีมาตรการกำกับ ตรวจสอบที่ชัดเจนก่อนที่จะประกาศปลดล็อกกัญชา ผลที่ตามมา คือ ผู้บริโภคจึงเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากกัญชาเพิ่มขึ้นในทุก ๆ วัน​            

โดยปกติจะไม่มีการบังคับให้ร้านอาหารรายย่อยต้องติดฉลากในผลิตภัณฑ์ แต่นับจากการปลดล็อกกัญชาเกิดขึ้น หน่วยงานรัฐจะต้องทบทวนและออกมาตรการอย่างเข้มข้นเพื่อบังคับให้ร้านอาหารทุกร้าน หรืออุตสาหกรรมที่ผลิตอาหารผสมกัญชา ระบุฉลากและข้อห้ามที่ชัดเจน เห็นเด่นชัด รวมถึงควรแจ้งผู้บริโภคก่อนที่จะผสมกัญชาลงไปในอาหารทุกครั้ง ส่วนหน่วยงานควรติดตาม สุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ทำผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด อีกทั้งจัดให้มีช่องทางร้องเรียน ระบบการรายงาน และระบบตรวจสอบกรณีได้รับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้กัญชา


สินค้ากัญชาในออนไลน์ อาจไม่ปลอดภัย

ขณะที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สอบ.สุ่มตรวจในแพลทฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ พบสินค้ากัญชาหลากหลาย เช่น ยาหยอดตา ที่เป็นสินค้าที่ต้องกำกับดูแลอย่างเข้มงวด และโดยหลัก ยาไม่สามารถจำหน่ายโดยตรงได้ ต้องขายผ่านร้านขายยาเท่านั้น หรือน้ำผสมกัญชาที่ขายออนไลน์ หรือแม้กระทั่งขนมรูปขาไก่ผสมเมล็ดกัญชง ทำให้ผู้บริโภคหาซื้อและเข้าถึงง่ายมาก เป็นต้น

​“คำถาม คือ ปริมาณกัญชาที่เราได้รับแต่ละวันจะส่งผลกับสุขภาพหรือไม่ และเราก็ไม่ทราบว่าอาหารแต่ละอย่างมีกัญชาผสมอยู่หรือไม่ จึงทำให้ผู้บริโภคอาจบริโภคไปหลากหลายเมนู เป็นไปได้ว่า ในแต่ละวันอาจทำให้ได้รับกัญชาเกินกว่าที่กำหนด จนอาจเสพติดกัญชาและเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะทุกคนเข้าถึงสินค้าเหล่านี้ได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กที่อาจซื้อมากิน” สารี ระบุ

จะเห็นได้ว่าเมื่อไม่มีมาตรการตรวจสอบอาหารผสมกัญชา หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ผสมส่วนของพืชกัญชา ทำให้ประชาชนสามารถนำไปผสมกับสินค้าได้อย่างเสรี ประกอบกับเมื่อความต้องการกัญชามากขึ้น จนกลายเป็นธุรกิจ มีการส่งเสริมการขาย ดังนั้น การขายทางออนไลน์จะเพิ่มขึ้นมาเป็นเงาตามตัว แต่ทั้งนี้ต้องมีการกำกับและดูแลให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าไม่ปลอดภัยร่วมด้วย


รัฐออกมาตรการคุมเข้มหลังปลดล็อกกัญชา

ไม่กี่วันมานี้ กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ 2 ฉบับ หลังปลดล็อกกัญชา คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 โดยกำหนดให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม มีการยกเว้นห้ามครอบครองและใช้ในผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ หรือให้นมบุตร นอกจากนี้ ยังกำหนดห้ามใช้ สูบ ใช้เสพในที่สาธารณะ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 17 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป

และเมื่อ 14 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2565 แล้ว ดังนั้น การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญมีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท

สารีทิ้งท้ายไว้ว่า เชื่อว่าทุกภาคส่วนจะต้องทำให้การปลดล็อกกัญชาเป็นไปโดยมีมาตรการรองรับที่เข้มงวด เพื่อให้เกิดความระมัดระวังในภาพรวม ไม่เพียงเฉพาะกัญชาเท่านั้น แต่ภาคส่วนที่ทำงานรณรงค์เรื่องการลดการใช้สิ่งเสพติดต่าง ๆ ทั้งบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า สุรา หรือยาเสพติด ควรเข้มงวดด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อการทำให้เกิดมาตรการที่ดีในการป้องกันปัญหาความไม่ปลอดภัยที่อาจตามมา

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค