อุบัติเหตุสารเคมีรั่วไหล 7 ครั้งในรอบ 6 เดือน เรียกร้อง กม. เปิดข้อมูลมลพิษ

เหตุระเบิด เพลิงไหม้ สารเคมีรั่วไหล กว่า 7 ครั้ง ในปี 67 ประชาชนตั้งคำถามถึงคุณภาพชีวิตคนไทย ไร้ทางเลือกต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมอันตราย สภาผู้บริโภค เรียกร้องรัฐบาลถึงเวลาที่ต้องดันกฎหมายรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR)

จากกรณีข่าวที่ปรากฎให้เห็นอย่างต่อเนื่องในการลักลอบขนย้ายกากแคดเมียมและสังกะสีที่เป็นสารเคมีอันตรายจากจังหวัดตากมายังจังหวัดสมุทรสาคร หรือเหตุการณ์การระเบิดทำให้เกิดไฟไหม้สารเคมีของโรงงานผลิตน้ำแข็งระเบิด หรือกรณีเพลิงไหม้โรงงานเก็บกากสารเคมี จ.ระยอง จำนวน 2 ครั้ง ของบริษัท วิน โพรเสสและในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมถึงกรณีเกิดเพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมี จ.พระนครศรีอยุธยา และกรณีสารเคมีรั่วไหลในโรงงาน ย่านพระราม 2 ซึ่งกรณีล่าสุดเกิดวันที่ 9 มิถุนายน 2567 มีรายงานข่าวการพบถังสารเคมีจำนวน 11 ถังในเว็บข่าวโมโน ที่พบว่าถูกตั้งทิ้งไว้ใกล้ทะเลสาบ กลางหมู่บ้านแห่งหนึ่ง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี มานานกว่า 2 ปี โดยคนในหมู่บ้านเกิดความกังวลว่าหากถังชำรุดอาจมีสารเคมีรั่วไหลและเกิดอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยแถวนั้น แม้ที่ผ่านมาคณะกรรมการหมู่บ้านได้พยายามร้องเรียนไปหลายช่องทางแต่ยังไม่มีความคืบหน้า

ซึ่งกรณีทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงว่า มีการละเลยการกำกับดูแลติดตามการนำเข้าสารเคมี การโยกย้ายสถานที่กักเก็บ หรือการเก็บทำลายสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ โดยเมื่อสรุปภาพรวมของเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลหรือการลักลอบสารเคมีอันตรายตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีจำนวนกว่า 7 เหตุการณ์ ซึ่งเป็นเพียงบางเหตุการณ์ที่ทีมข่าวสภาผู้บริโภคได้รวบรวมไว้

ทั้งนี้ กรณีการพบสารเคมีอยู่ในพื้นที่ชุมชนหรือเหตุการณ์โรงงานระเบิดและไฟไหม้ จนทำให้สารเคมีรั่วไหลออกมานั้น เกิดจากกฎหมายและกลไกการจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแทนที่จะมีการจัดการปัญหาที่ต้นตอ จนทำให้คุณภาพชีวิตคนไทยต้องอยู่บนความเสี่ยง และไม่สามารถทราบได้เลยว่าในชุมชนมีโรงงานผลิตสารเคมีอันตราย หรือไม่ทราบว่ามีการลักลอบขนย้าย หรือกักเก็บสารเคมีมากเพียงใด รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสโดยตรงหรือโดยอ้อมจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น สภาผู้บริโภคมีความคิดเห็นว่า การผลักดันให้เกิดกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือกฎหมายพีอาร์ทีอาร์ : PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) จะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการผลิตภายในโรงงาน และจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบที่มาของมลพิษที่อยู่ใกล้ตัวที่อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ได้

การที่ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลมลพิษได้จะสามารถวางแผนป้องกันสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้ โดยไม่ต้องรอให้เกิดความเสียหาย หรือต้องสะสมสารพิษเข้าสู่ร่างกายทางอ้อมโดยไม่รู้ตัว ขณะเดียวกันประโยชน์ต่อภาครัฐก็จะเกิดขึ้นจากการผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับบี้จะช่วยให้ทราบสถานการณ์และแนวโน้มการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษเพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากสารเคมี ส่วนภาคเอกชนหรืออุตสาหกรรม ช่วยให้สามารถตรวจสอบระบบและกระบวนการผลิตของตนให้รัดกุมเพื่อความปลอดภัยในการทำงานในพื้นที่อุตสาหกรรมและป้องกันความสูญเสียจากอุบัติภัยจากสารเคมี

สภาผู้บริโภค ในฐานะผู้แทนผู้บริโภคตามกฎหมาย จึงขอเป็นอีกหนึ่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งบังคับใช้ ร่าง พ.ร.บ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ โดยเร็ว เพื่อให้ผู้บริโภคได้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยตามสิทธิผู้บริโภคสากล รวมถึงตามสิทธิผู้บริโภคไทยที่ผู้บริโภคต้องได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร ครบถ้วน ถูกต้อง เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเตรียมตัวรับมือกับปัญหาได้และสามารถเข้าไปตรวจสอบในเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องขอเอกสารจากใครหรือหน่วยงานใด และหากยังไม่ถูกจัดการสามารถส่งเสียงและเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการได้ทันที

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค