EV จีนล้นตลาดสู่ไทยไร้ศูนย์ซ่อม ผู้บริโภคเสี่ยงซ้ำรอย NETA

ขณะที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้นโยบายสนับสนุนจากรัฐ ทั้งการให้เงินอุดหนุนรถ EV ที่นำเข้า และการลดภาษีนำเข้าเพื่อเร่งให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการใช้รถพลังงานสะอาดในภูมิภาค แต่กระแสการเติบโตอย่างรวดเร็วกลับทำให้เกิดความกังวลถึง “ภาวะโอเวอร์ซัพพลาย” ที่อาจนำไปสู่ปัญหาในภาคปฏิบัติที่ผู้บริโภคต้องเผชิญ โดยเฉพาะกรณีศึกษาอย่าง NETA ที่กลายเป็นบทเรียนราคาแพง

EV จีนล้นตลาด ท้าทายทั่วโลก

ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศจีน (CAAM) ระบุว่าในปี 2024 จีนผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 9 ล้านคัน และยังผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่า 30% ต่อปี ขณะที่ตลาดภายในประเทศเริ่มอิ่มตัว และเกิดภาวะ “โอเวอร์ซัพพลาย” ทำให้ผู้ผลิต EV จีน เปิดศึกสงครามราคาอย่างรุนแรง จนบางรายต้องปิดกิจการ หรืออย่างกรณี Hozon New Energy Automobile บริษัทแม่ของ NETA ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย

ขณะที่ผู้ผลิตจีนจำนวนมากได้หันมารุกตลาดต่างประเทศ ทั้งยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทย จากรายงานจาก Nikkei Asia ยังเตือนถึงความเสี่ยงจาก “สงครามราคา” และ “การล้นตลาด” ที่ทำให้บางแบรนด์เร่งส่งออกโดยไม่คำนึงถึงความพร้อมด้านบริการหลังการขาย รวมถึงการจัดหาอะไหล่และศูนย์ซ่อมบำรุง ส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อคุณภาพและความน่าเชื่อถือของแบรนด์ในสายตาผู้บริโภค

ในประเทศไทยการเข้ามาของแบรนด์ EV จีนเป็นผลจากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ทั้งมาตรการ EV 3.0 และ EV 3.5 ที่รัฐให้เงินอุดหนุนต่อคันสูงสุดถึง 150,000 บาท รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษี นำไปสู่การหลั่งไหลของแบรนด์จีนที่เข้ามาทำตลาดอย่างคึกคัก และได้สิทธิพิเศษด้านภาษีในการนำเข้ารถยนต์มาจำหน่ายทั้งคันในช่วงแรก ขณะที่หลายรายตัดสินใจตั้งฐานการผลิตในไทย เช่น BYD, MG, GWM (Ora), Changan และ Aion (ภายใต้กลุ่ม GAC Motor) เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนดว่าผู้นำเข้าต้องมีแผนตั้งโรงงานภายในระยะเวลาที่กำหนด

ไทยโตแรง แต่ยังไร้รากฐานบริการหลังบ้าน

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าในปี 2567 ที่ผ่านมา ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะสูงถึง 100,000 คัน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีที่ผ่านมา โดยแบรนด์จากจีนครองตลาดมากกว่า 80% ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการสนับสนุนของรัฐ เช่น

  • เงินอุดหนุน 70,000 – 150,000 บาทต่อคัน
  • ยกเว้นภาษีนำเข้าและสรรพสามิต
  • เร่งให้ผู้ผลิตจีนตั้งฐานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ภายในปี 2569

อย่างไรก็ตาม ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยกลับไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยลดลงมาอยู่ที่ 70,000 คันในปี 2567 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นปัญหาของ EV ในประเทศไทย และเข้าสู่สงครามราคาเช่นเดียวกับประเทศจีน และเริ่มมีปัญหาจากไม่มีระบบบริการหลังการขายที่แข็งแรง ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบมากขึ้น เช่น ไม่มีอะไร รออะไหล่นาน หรือใช้เวลาในการซ่อมนาน 

ปัญหานี้เกิดขึ้นแล้วในกรณีของ NETA ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง และอาจมีรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์อื่น ๆ ที่มีการร้องเรียนเข้าที่สภาผู้บริโภค และอาจสร้างปัญหาซ้ำรอยให้กับผู้บริโภคได้อีก

กรณีศึกษา: NETA บทเรียนราคาแพง

NETA แบรนด์ EV จากจีนที่เข้ามาทำตลาดในไทยตั้งแต่ปี 2565 เคยเป็นที่จับตามองในฐานะหนึ่งในผู้นำราคา EV เริ่มต้นไม่ถึง 6 แสนบาท จนได้รับการตอบรับดีในช่วงแรก ทว่าในช่วงต้นปี 2567 เริ่มมีเสียงร้องเรียนจากลูกค้าหลายรายเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนอะไหล่ การซ่อมล่าช้า รวมถึงไม่มีศูนย์บริการในหลายจังหวัด

ล่าสุด สภาผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณี NETA ไม่ต่ำกว่า 50 รายภายในครึ่งปีแรก โดยบางรายมีปัญหารถใช้ไม่ได้เป็นเวลาหลายเดือน บางกรณีถูกเรียกเก็บเงินซ่อมสูงผิดปกติ และไม่มีความชัดเจนในการให้บริการหลังการขาย รวมถึงการไม่ได้ทะเบียนป้ายขาว และสถิติล่าสุดวันที่ 26 มิถุนายน 2568 มีผู้บริโภคที่ร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับรถยนต์ NETA  มากถึง 220 ราย

สภาผู้บริโภค ได้เร่งเข้าไปแก้ปัญหาและติดตามผลการเจรจาระหว่างผู้เสียหายกับบริษัทอย่างต่อเนื่อง แต่ผลการเจรจาไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร สภาผู้บริโภคจึงตัดสินใจเป็นตัวแทนผู้บริโภคเดินหน้าฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ให้กับผู้เสียหายในกรณีของรถยนต์ไฟฟ้า NETA โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ความเสียหายเพื่อดำเนินคดีภายในเดือนสิงหาคมนี้

รัฐต้องไม่ปล่อยให้ผู้บริโภครับความเสี่ยงฝ่ายเดียว

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สภาผู้บริโภคและผู้เชี่ยวชาญจากสภาอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้เสนอแนวทางแก้ไข ดังนี้

  1. กำหนดหลักเกณฑ์การประกันคุณภาพและบริการหลังการขายให้ชัดเจนก่อนการอนุมัติเงินอุดหนุน เช่น กำหนดให้ต้องมีศูนย์บริการขั้นต่ำครอบคลุมพื้นที่หลักภายใน 1 ปี หรือมีอะไหล่สำรองขั้นต่ำในไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี
  2. จัดตั้งศูนย์ร้องเรียนพิเศษเกี่ยวกับ EV ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้สามารถติดตามและแก้ปัญหาเฉพาะด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. ให้ข้อมูลผู้บริโภคอย่างโปร่งใส ทั้งในเรื่องประวัติของแบรนด์ ความสามารถด้านบริการ และต้นทุนดูแลรักษาระยะยาว เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง

ตลาด EV ไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่หากการสนับสนุนภาครัฐยังเน้นเฉพาะยอดขายโดยไม่ควบคุมคุณภาพและบริการหลังการขาย อาจนำไปสู่การซ้ำรอยในกรณีของ NETA ในอีกหลายแบรนด์ ผู้บริโภคจะกลายเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงแต่เพียงฝ่ายเดียว