เดินหน้าแก้ปัญหาธุรกิจคอนเสิร์ต – อีเวนต์ กระทบผู้บริโภค

Getting your Trinity Audio player ready...

เวทีเสวนา “โครงการส่งเสริมการรวมตัวของผู้บริโภคเพื่อสร้างความร่วมมือในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในกลุ่มธุรกิจ “อีเวนต์-คอนเสิร์ต” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ปาลิตา วารีศรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค และ ดร. กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมด้วยตัวแทนผู้บริโภค และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิตที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าซื้อบัตรคอนเสิร์ตและงานอีเวนต์ ซึ่งงานได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2568 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต

โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การจัดเวทีเสวนา “โครงการส่งเสริมการรวมตัวของผู้บริโภคเพื่อสร้างความร่วมมือในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในกลุ่มธุรกิจ “อีเวนต์ – คอนเสิร์ต” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองทางกฎหมายเกี่ยวกับปัญหาบัตรคอนเสิร์ต ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีผู้เสียหายจำนวนมาก ในหลักร้อยและหลักพันคน เพื่อการรวบรวมข้อเสนอแนะ นำไปสู่การยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคจากกรณีปัญหาเหล่านี้ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ทั้งนี้ ตัวอย่างคดีที่สภาผู้บริโภคเข้าไปช่วยดำเนินการ มีทั้ง คดีโทรศัพท์มือถือจอเป็นเส้น ซึ่งมีการดำเนินคดีแบบกลุ่ม, คดีประกันโควิดที่ไม่จ่ายตามสัญญา, คดีบัตรเครดิตที่ถูกดูดเงิน , และคดีบัตรคอนเสิร์ตที่ไม่จัดงานและไม่มีการคืนเงินในช่วงโควิด เช่น กรณีของบางกอกเฟส ซึ่งนำไปสู่การเยียวยาผู้บริโภคกว่า 300 คน รวมถึง ยังมีการรวมกลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากอสังหาริมทรัพย์ เช่น การซื้อคอนโดที่ได้ของไม่ตรงปก หรือไม่มีการดูแลที่ดี

อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคได้จัดให้มีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะ ร่วมผลักดันนโยบายและกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมนำปัญหาของผู้บริโภคไปสะท้อนต่อหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้มีการออกกฎระเบียบที่คุ้มครองผู้บริโภค

เสียงแฟนคลับ 9,053 เคส ความเสียหาย 32.97 ล้านบาท ไม่ไร้ค่า!

ปาลิตา วารีศรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวถึง การทำงานของ สภาผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนในเรื่องอีเวนต์และบัตรคอนเสิร์ต ในระหว่างปี 2564 – 2568 สูงถึง 9,053 เคส สร้างมูลค่าความเสียหายรวมถึง 32.97 ล้านบาท  

สำหรับปัญหาของผู้บริโภคกับปัญหากลุ่มธุรกิจอีเวนต์และคอนเสิร์ต ที่ ไม่ได้รับความเป็นธรรมตามข้อตกลงในสัญญา มีทั้ง 1. ปัญหายกเลิกคอนเสิร์ต แต่ไม่คืนเงิน หรือคืนเงินล่าช้า รวมถึงไม่มีมาตรการในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค 2. ผู้บริโภคมีการสมัครสมาชิกเสียค่าบริการเพิ่มเติม เพื่อใช้สิทธิการกดบัตรล่วงหน้าแต่ไม่สามารถเข้าระบบได้ในวันกดบัตร 3. กรณีซื้อบัตรเข้าชมออนไลน์ระหว่างการชมผ่านระบบออนไลน์สตรีมมิงไม่สามารถชมได้ เนื่องจากระบบขัดข้อง และ 4. ค่าประกันบัตรคอนเสิร์ตเว็บที่จำหน่ายมักมีการตั้งค่าในการเลือกไว้ก่อน เมื่อผู้บริโภคไม่สังเกต อาจส่งผลให้ต้องชำระค่าบริการโดยไม่ยินยอม

อีกทั้งได้รับบริการที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ทั้งผู้บริโภคเจอพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของทีมงาน เช่น พูดจาไม่สุภาพหรือในระหว่างได้รับสิทธิพิเศษกลับโดนเร่งรัดจากเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย รวมถึงเจอปัญหาภายหลังการกดบัตรมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดโดยไม่แจ้งให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้า เช่น การปรับผัง ปรับรูปแบบคอนเสิร์ต และการจัดคอนเสิร์ตไม่เป็นไปตามโฆษณา ผู้บริโภคบางรายพบว่ามีปัญหาระหว่างการจัดแสดง เช่น ระบบ แสง สี เสียง หรือรูปแบบที่นั่งไม่เป็นไปตามที่โฆษณาไว้

นอกจากนี้ยังเผชิญปัญหาอื่น ๆ ทั้ง ราคาสินค้าที่จำหน่ายภายในคอนเสิร์ตราคาสูงเกินควร แต่ผู้บริโภคไม่มีสิทธิในการเลือก เนื่องจากทางผู้จัดไม่อนุญาตให้นำน้ำดื่มเข้าไปที่ยังพื้นที่คอนเสิร์ต ต่อมาการประกาศราคาและผังที่นั่งกระชั้นชิดกับวันกดบัตรมากเกินไป เช่น แจ้งล่วงหน้าเพียง 7 – 15 วัน เป็นต้น แต่ควรทำล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 30 – 40 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาได้มีเวลาเตรียมตัว รวมถึงมีปัญหาราคาบัตรสูงเกินควรต้องการให้มีการควบคุมราคาบัตรคอนเสิร์ต และราคาบัตรไม่ระบุรายละเอียดให้ชัดเจนว่ายอดสุทธิเท่าไรและมีค่าบริการเสริมอะไรบ้าง เช่น มีการทำรีเซล ที่นำบัตรที่กดได้มาขายซ้ำในราคาสูงเกินจริง ในอัตราหลายเท่า

ถึงเวลาปฏิรูปกฎหมาย ดูคอนเสิร์ต เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับ

ดร. กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในมิติทางด้านกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคมีทั้ง ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ใน มาตรา 46 ระบุว่าสิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครอง และมาตรา 61 ระบุว่ารัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่างๆ ทั้งด้านการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นธรรมในการทำสัญญา หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

รวมถึงมี พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ในมาตรา 4 ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับความคุ้มครองใน 5 ด้านหลักได้แก่ 

1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสาร และคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องส่งมอบสินค้าหรือจัดให้มีบริการตรงตามที่ได้มีการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค 

2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ โดยผู้บริโภคมีสิทธิในการเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยสมัครใจ และปราศจากชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม

3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย โดยมีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน

4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา เช่น ข้อกำหนดและเงื่อนไขต้องเป็นไปตามที่ตกลง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโดยผู้ประกอบการฝ่ายเดียวได้ รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในสัญญาจากผู้ประกอบการฝ่ายเดียวโดยไม่แจ้งล่วงหน้า โดยที่ผ่านมา มีรายงานในโลกได้ตรวจพบการใช้ bot ในการกดคอนเสิร์ตสูงถึง 3.2 ล้านครั้ง (Ticket Bots) เพื่อเก็งกำไร เทียบกับผู้ใช้จริง 138,000 ราย ส่วนในประเทศไทยมีเพจ Facebook ที่รับสร้างบอทสำหรับซื้อบัตรคอนเสิร์ตโดยเฉพาะ เป็นต้น

5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย โดยหากผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ์หรือไม่ได้รับบริการตามที่ควร จะมีสิทธิ์ได้รับการเยียวยาชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งอาจเป็นค่าเสียหายทั่วไป หรือค่าเสียหายเชิงลงโทษ ซึ่งการชดเชยค่าเสียหาย อาจไม่เกิน 2 เท่าของค่าบัตรที่เกิดขึ้นจริง แต่บางคนอาจไม่ต้องการรับชดเชยเป็นเงิน เนื่องจากได้รับผลกระทบในเรื่องความรู้สึกไปด้วย

ทั้งนี้ การรับชมความบันเทิงเช่นคอนเสิร์ต ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงจะได้รับความคุ้มครอง โดยคอนเสิร์ตที่จะช่วยให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ความสุขใจ การได้พบศิลปินที่ชอบ การได้ปลดปล่อยความเครียด และการได้มีส่วนร่วมกับกลุ่มคนที่รักในสิ่งเดียวกัน ซึ่งเป็นการชุบชูความเป็นมนุษย์ ดังนั้นปัญหาบัตรคอนเสิร์ตจึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน

เตรียมหารือ สคบ. ออกประกาศควบคุมธุรกิจบัตรคอนเสิร์ต

โสภณ หนูรัตน์ กล่าวสรุปว่า ภายหลังจากเวทีเสวนา “โครงการส่งเสริมการรวมตัวของผู้บริโภคเพื่อสร้างความร่วมมือในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในกลุ่มธุรกิจ “อีเวนต์ – คอนเสิร์ต” ในครั้งนี้แล้ว จะมีการรวบรวมมุมมองของผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ หลังจากนั้นจะมีการจัดเวทีเสวนาอีกครั้ง เพื่อหารือร่วมกับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอีเวนต์และคอนเสิร์ต รวมถึงการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และการรับฟังมุมมองจากผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ทั้งหมดเพื่อให้ได้ข้อสรุป และรวบรวมมุมมองทั้งหมด เพื่อหาแนวทางนำไปสู่การออกประกาศควบคุมธุรกิจบัตรคอนเสิร์ต ของ สคบ. เพิ่มเติมระยะต่อไป