ตบเท้าเข้าพบ ก.ล.ต. กลุ่มผู้เสียหายหุ้น ‘STARK’ หวั่น “เงินลงทุน” โดนฮุบ   

สภาผู้บริโภค พร้อมกับกลุ่มผู้เสียหายหุ้นกู้ “สตาร์ค” (STARK) ได้เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อ ก.ล.ต. ให้เร่งตรวจสอบและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากหุ้น STARK โดยส่วนใหญ่ผู้เสียหายเป็นวัยหลังเกษียณ พร้อมเสนอให้ก.ล.ต. ออกมาตรการเข้มในการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องการลงทุน

จากกรณีบริษัท สตาร์คคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ออกหุ้นกู้ของบริษัทที่รู้จักกันในชื่อว่า “หุ้นสตาร์ค” (STARK) มีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายไม่โปร่งใสในหลาย ๆ กรณี เช่น มีสภาพการซื้อขายหุ้นที่ผิดปกติ มีการยกเลิกสัญญาซื้อขายหุ้น การส่งงบการเงินประจำปี 2565 ไม่ทันกำหนด อีกทั้งมีการประกาศลาออกของกรรมการบริหารทั้งหมด ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นกู้นั้น

ในวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2566 สภาผู้บริโภคและกลุ่มผู้เสียหายจากกรณีดังกล่าวได้เข้าเรียกร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอให้เร่งตรวจสอบและขอให้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งกลุ่มนักลงทุนรายย่อยหุ้นกู้ STARK ได้ยื่นหนังสือขอให้ ก.ล.ต. จัดประชุมตัวแทน 3 ฝ่ายเพื่อเจรจา ไกล่เกลี่ย กับธนาคารกสิกรไทยที่เปิดให้ซื้อหุ้นกู้ผ่านทาง K My invest ซึ่งกลุ่มผู้เสียหายส่วนมากเป็นผู้สูงอายุที่พึ่งพารายได้หลังเกษียณจากการลงทุนในหุ้นกู้จึงได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่งจากกรณีหุ้นกู้นี้ผิดนัดชำระดอกเบี้ย จึงขอให้ ก.ล.ต. ยืนยันการกำกับดูแลให้เกิดการเยียวยาความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นกู้ ในการนี้ อาชินี ปัทมสุคนธ์ ตัวแทน ก.ล.ต. เป็นผู้รับหนังสือจากกลุ่มผู้เสียหาย ซึ่งมีประเด็นเรียกร้อง 9 ข้อ ดังนี้

1. ขอให้ ก.ล.ต.ช่วยจัดประชุมตัวแทน 3 ฝ่ายเพื่อเจรจากับธนาคารกสิกร เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นรายย่อยหลายรายเข้าไปลงทุนหุ้นดังกล่าวในแอปพลิเคชัน K My invest โดยผู้เสียหายระบุว่า ระบบธนาคารมีความหละหลวม ไม่สามารถคัดกรองคุณสมบัติของผู้ซื้อได้ และธนาคารไม่ได้มีการเรียกตรวจสอบเอกสารยืนยันการเป็นนักลงทุนรายใหญ่ให้ครบถ้วน

2. ผู้เสียหายต้องการทราบว่า ก.ล.ต.ได้มีการลงมือทำหรือตรวจสอบหุ้น STARK แล้วหรือไม่?

3. ก.ล.ต. มีอำนาจในการอายัดทรัพย์ และตรวจสอบเส้นทางการเงินหรือไม่?

4. ขอให้ ก.ล.ต. ชี้แจงถึงแนวทางการกำกับหรือควบคุมผู้แทนผู้ถือหุ้น

5. ก.ล.ต.มีอำนาจในการขอข้อมูลการดำเนินการจาก STARK หรือไม่?

6. ขอให้ ก.ล.ต. ช่วยประสานงานเปิดช่องทางให้ผู้ถือหุ้นกู้เจรจากับบริษัท

7. ขอให้ ก.ล.ต ช่วยหามาตรการในการเยียวยาผู้เสียหายที่ลงทุนในหุ้นกู้ STARK

8. ขอให้เปิดเผยการตรวจสอบ และรายงานความคืบหน้าให้แก่สื่อสาธารณะเป็นระยะ ๆ

9. ขอเน้นย้ำให้ ก.ล.ต. ทำงานเชิงรุก และมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน

ด้าน จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาผู้บริโภค กล่าวถึงข้อเสนอกับ ก.ล.ต. ว่า ได้รวบรวมปัญหาและข้อกังวลทั้งของกลุ่มผู้เสียหายและสภาผู้บริโภคให้ ก.ล.ต.ทราบ และอยากให้ก.ล.ต.ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาคดีนี้อย่างมากเนื่องจากมีผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นส่วนของตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้หรือผู้ลงทุนสามัญในตลาดหลักทรัพย์ จากข่าวที่มีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่ามีการทุจริตเชิงนโยบายในบริษัท และเป็นการทุจริตที่มีการนำเงินออกไปหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเงินของนักลงทุนก็จะเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นคล้ายกับคดีทุจริตก่อนหน้านี้ หากไม่มีการแก้ไขหรือป้องกันด้วยมาตรการที่ดีขึ้นก็จะมีปัญหาในรูปแบบเดิมที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ จึงเน้นย้ำกับ ก.ล.ต. ขอให้ ก.ล.ต จริงจังกับการแก้ปัญหา

“และขอให้มีมาตรการออกมาเพิ่มเติมเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหารูปแบบนี้ขึ้นอีก และที่สำคัญคือ อยากให้พิจารณาในมุมคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดในการร่างสัญญาเรื่องข้อกำหนดสิทธิ หรือหนังสือชี้ชวน ว่าคุ้มครองผู้บริโภคเพียงพอหรือไม่” จิณณะ ระบุ

อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคจะไม่ยุติเรื่องนี้เพียงการแจ้งว่าต้องการให้ก.ล.ต.ปรับปรุงในเรื่องอะไร แต่สิ่งที่สภาผู้บริโภคต้องการคือการตอบสนองของหน่วยงานกำกับดูแลที่มีรูปธรรมและชัดเจน อีกทั้งสภาผู้บริโภคจะติดตามการดำเนินการของ ก.ล.ต. อย่างใกล้ชิดโดยให้ระยะเวลาทำงานระยะหนึ่ง แต่หากยังไม่มีความชัดเจนในการกำกับดูแลก็จะมีหนังสือติดตามในนามสภาผู้บริโภคต่อไป และหากมีส่วนใดที่สภาผู้บริโภคทำได้ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ก็จะมีหนังสือแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดผลในการช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด

ขณะที่ ธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ ดูแลสายงานกฎหมาย และสายงานบังคับการใช้กฎหมาย ก.ล.ต. กล่าวว่าได้ดำเนินการตรวจสอบหุ้น STARK แล้ว แต่ไม่สามารถแจงรายละเอียดให้ฟังได้ เนื่องจากอาจมีผลต่อรูปคดี และ ก.ล.ต. ย้ำว่ามีอำนาจในการตรวจสอบ และอายัดทรัพย์ด้วยเช่นกัน แต่ต้องมีข้อสรุปในการชี้ตัวผู้กระทำผิดชัดเจน เพียงแต่ในกรณี STARK นั้น ก.ล.ต. ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนจึงไม่สามารถอายัดทรัพย์ได้ และท้ายสุดนี้ก.ล.ต.ยืนยันว่าจะพยายามติดตามให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลอย่างต่อเนื่องและคำนึงถึงผลประโยชน์ของนักลงทุนมาโดยตลอด

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค