ผู้เสียหายหุ้นกู้ STARK หวั่นผู้บริหารรอดคดี บุกร้องนายกฯ ตรวจสอบ 

กลุ่มผู้เสียหายหุ้นกู้ STARK หวั่นผู้บริหารรอดคดี บุกเรียกร้องนายกรัฐมนตรีตรวจสอบข้อเท็จจริงดําเนินคดีอาญากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทําความผิด ชี้ต้องทำให้เป็นคดีตัวอย่างเพราะสร้างความเสียหายในตลาดทุน พร้อมขอให้อัยการสูงสุดสั่งฟ้องกรรมการของ STARK – บริษัทย่อย – ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน พบดีเอสไอทำสำนวนอ่อน ทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้องผู้กระทำผิดบางส่วน

จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้แจ้งข้อกล่าวหา ออกหมายจับ และส่งเรื่องฟ้องบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรณีหุ้นกู้ STARK จำนวน 11 ราย ต่ออัยการในความผิดฐานร่วมกัน ลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัท ร่วมกันทุจริตหลอกลวงและเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาจำนวน 7 รายซึ่งเป็นนิติบุคคล 5 ราย แต่ยังมีรายชื่อบุคคลอีก 5 รายที่อัยการไม่ได้มีคำสั่งทางคดีหรือยังไม่ได้ทำการยื่นฟ้องในวันเดียวกันนั้น

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 เวลา 09.00 น. สภาผู้บริโภคและกลุ่มผู้เสียหายหุ้นกู้ STARK ประมาณ 100 คนรวมตัวกันที่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดและขอให้มีคำสั่งให้ทบทวนการสั่งคดีของอัยการเจ้าของสำนวน โดยสั่งฟ้องกรรมการของ STARK และบริษัทย่อย และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนในช่วงเวลาการกระทำความผิด และสั่งให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงในประเด็นต่าง ๆ ให้สิ้นความสงสัยเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กรอัยการ 

เอกภักดิ์ ศรีอัษฎาพร หนึ่งในผู้เสียหายหุ้มกู้ STARK กล่าวว่า ตนเป็นโจทก์นำฟ้องการฟ้องคดีแบบกลุ่มโดยฟ้องผู้บริหารและผู้มีส่วนกระทำความผิด โดยสาเหตุที่มายื่นหนังสือให้อัยการเพราะต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียหาย เนื่องจากมีความเสียหายต่อประชาชนจำนวนมาก อีกทั้งมีมูลค่าความเสียหายหลักหมื่นล้านและส่งผลกระทบต่อตลาดการลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้กลุ่มผู้เสียหายมีความกังวลเรื่องการส่งฟ้องว่าอาจจะไม่ส่งฟ้องผู้กระทำความผิดครบทั้งหมดหรืออาจจะส่งฟ้องแค่นิติบุคคลที่เป็นบริษัทและผู้กระทำความผิด 2 รายเท่านั้น แต่ในส่วนกรรมการบริษัทและผู้บริหารส่วนที่เหลือที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดในช่วงเวลาขณะนั้นไม่ได้มีการส่งฟ้อง ดังนั้นกลุ่มผู้เสียหายจึงมีความกังวลว่าคดีนี้อาจไม่ได้รับความเป็นธรรม 

ณฐิยา ดวงจินดา หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาไม่เคยมีการเจรจาหรือชดเชยความเสียหายใด ๆ เลย แต่การที่ตนออกมาเรียกร้องก็เพื่อต้องการให้เกิดความถูกต้อง เนื่องจากนักลงทุนเวลาจะลงทุนเลือกบริษัทที่มีความเชื่อมั่น มีความน่าเชื่อถือโดยดูจากเรตติ้งที่ดีและงบการเงินที่ได้กำไร แต่ปรากฏว่าทั้งหมดไม่เป็นเรื่องจริงสักอย่าง ซึ่งความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่หาได้ยาก สร้างได้ยากและรักษาได้ยาก ดังนั้นสิ่งที่ต้องการแก้ไขคืออยากให้เกิดความถูกต้องในสังคม

ทั้งนี้ ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้แจ้งข้อกล่าวหา ออกหมายจับ และส่งเรื่องฟ้องบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรณีหุ้นกู้ STARK จำนวน 11 ราย ในความผิดฐาน กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ร่วมกันกระทำการลงข้อความเท็จในบัญชี หรือเอกสารของบริษัท ร่วมกันทุจริตหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน

ขณะที่เอกสารที่กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นต่อสำนักงานอัยการระบุว่า ในวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมาทางพนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีทุจริตใน STARK เป็นจำนวน 7 ราย ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชน ข้อหายักยอกทรัพย์และข้อหาฟอกเงิน โดยประกอบไปด้วยนิติบุคคล 5 รายคือ บริษัท สตาร์ค คอเปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เฟ้ลปส์ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด, บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด และบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และบุคคลธรรมดาเพียง 2 ราย ซึ่งได้แก่นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ และนางสาวนาตยา ปราบเพชร

ทั้งนี้ปรากฏว่ายังมีรายชื่อบุคคลอีก 5 รายดังต่อไปนี้ที่อัยการไม่ได้มีคำสั่งทางคดีหรือยังไม่ได้ทำการยื่นฟ้องในวันเดียวกัน ได้แก่

  1. นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ผู้ถูกกล่าวโทษโดย ก.ล.ต. และ DSI มีคำสั่งฟ้อง (หลบหนี)
  2. นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ผู้ถูกกล่าวโทษโดย ก.ล.ต. และ DSI มีคำสั่งฟ้อง (อัยการยังไม่มีคำสั่ง)
  3. นายชินวัฒน์ อัศวโภคี ผู้ถูกกล่าวโทษโดย ก.ล.ต. และ DSI มีคำสั่งฟ้อง (อัยการสั่งไม่ฟ้อง)
  4. นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม ผู้ถูกกล่าวโทษโดย ก.ล.ต. และ DSI มีคำสั่งฟ้อง (อัยการยังไม่มีคำสั่ง)
  5. นางสาวยสบวร อำมฤต ผู้ถูกกล่าวโทษโดย ก.ล.ต. และ DSI มีคำสั่งฟ้อง (อัยการยังไม่มีคำสั่ง)

ด้าน จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค และทนายความของผู้เสียหายในคดีหุ้น STARK กล่าวภายหลังยื่นหนังสือให้กับตัวแทนสำนักงานอัยการสูงสุดว่าเนื่องจาก ทางผู้เสียหายมีความกังวลว่ากระบวนการในการดำเนินคดีต่อไปจะเป็นอย่างไรและคนที่เหลือจะสั่งฟ้องหรือไม่ ในส่วนคนที่ไม่ถูกสั่งฟ้องกระบวนการจะเป็นอย่างไรซึ่งเป็นข้อกังวลที่วันนี้มายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม และอยากให้ตรวจสอบในเชิงลึก โดยเฉพาะพยานหลักฐานและช่วงเวลาการกระทำความผิดว่ามีกรรมการคนไหนอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวบ้างและเป็นกรรมการในขณะที่อยู่ในการกระทำความผิดหรือไม่ รวมทั้งใครที่เซ็นเอกสารที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการเสนอขายหรือการนำข้อมูลที่เกี่ยวกับงบประมาณที่มีการตกแต่งเข้ามาเสนอ เข้ามาชี้ชวนให้ผู้เสียหายได้รับทราบและมีการตัดสินใจในการซื้อหุ้น

จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค และทนายความของผู้เสียหายในคดีหุ้น STARK

“วันนี้ที่มานอกจากจะมาขอความเป็นธรรมแล้ว อยากจะมาคุยกับอัยการที่เกี่ยวข้องว่ามีเหตุผลอะไร ทำไมถึงสั่งไม่ฟ้องหรือว่าทำไมถึงยังไม่สั่งฟ้องและที่สำคัญคือประเด็นข้อกฎหมายหลาย ๆ ข้อที่เรายังไม่เห็น” จิณณะกล่าว

นายจิณณะกล่าวต่อว่า ในหนังสือที่ยื่นต่อสำนักงานอัยการสูงสุดได้ระบุถึงข้อกฎหมายและกฎหมายพิเศษต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติบริษัทมหาชน พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัดสมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นต้น ซึ่งกฎหมายเหล่านี้จะมีมาตราหนึ่งระบุว่าถ้าการกระทำความผิดเป็นการกระทำความผิดโดยนิติบุคคล ถ้ากรรมการหรือผู้แทนนิติบุคคล กระทำหรือไม่กระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นไปตามหน้าที่จะต้องรับผิดด้วย ตามหลักกฎหมายถ้าฟ้องนิติบุคคลก็ควรที่จะฟ้องกรรมการด้วยหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการสั่งฟ้อง

ทั้งนี้จากที่มีรายงานข่าวทางสื่อมวลชนโดยระบุว่าดีเอสไอสั่งฟ้องนายชินวัฒน์ไปแล้วนั้น แต่ปรากฎว่าทางอัยการแจ้งกับตนว่าดีเอสไอสั่งไม่ฟ้องนายชินวัฒน์มาตั้งแต่แรกซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยว่ามีเหตุผลอะไรที่สั่งไม่ฟ้อง นอกจากนี้ยังได้สอบถามทางอัยการก็ได้คำตอบว่าอัยการก็สั่งไม่ฟ้องไปแล้วด้วย ซึ่งเหตุผลที่ไม่ฟ้องนายชินวัฒน์นั้นไม่แน่ใจว่าทางอัยการมีการชี้แจงหรือไม่ชี้แจง เพราะไม่ได้ให้ดูสำนวน อัยการชี้แจงแต่เพียงว่าได้รับสำนวนมาอย่างไรและหลักฐานข้อมูลเป็นอย่างไร ซึ่งตนเห็นว่ายังไม่ชัดเจนและต้องตอบสังคมให้ได้ว่าสั่งไม่ฟ้องด้วยเหตุผลอะไร ทั้ง ๆ ที่มีทั้งพยานเอกสารและช่วงเวลากระทำความผิด อีกทั้งยังได้สอบถามทางอัยการว่าได้ตั้งฐานความผิดครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งทางอัยการชี้แจงว่ามีบางฐานความผิด แต่ในฐานความผิดที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนไม่มี ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดหน้าที่เฉพาะของกรรมการ ในเมื่อมีหน้าที่เฉพาะแล้วไม่ดำเนินการหรือรู้แล้วไม่ดำเนินการก็มีความผิดฐานงดเว้นกระทำการ ทั้งนี้ตนเห็นว่าควรจะต้องมีการสอบเพิ่ม 

“ยังมีอีกหลายรายการและอีกหลายมาตราที่ฟังดูแล้วสำนวนอ่อนมาตั้งแต่ดีเอสไอ ทางกลุ่มผู้เสียหายจะเดินทางไปพบดีเอสไอเร็ว ๆ นี้เพื่อถามหาความเป็นธรรมและความโปร่งใส โดยจะนำเอาประเด็นทั้งหมดที่พูดคุยกับอัยการวันนี้ โดยเฉพาะประเด็นที่รู้สึกว่าอ่อนมาตั้งแต่ต้น เราเห็นแล้วเรารู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่ง ที่ผ่านมา เรารู้สึกไว้ใจในการทำงานของดีเอสไอมาตลอด แต่ว่าเราตั้งคำถามว่าที่ทำอย่างนี้เป็นเรื่องที่ชอบธรรมแล้วหรือไม่ นอกจากนี้จะไปร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่าควรตั้งคณะกรรมการสอบดีเอสไอชุดนี้อีกด้วย” จิณณะกล่าว

ต่อมาในเวลา 13.00 น.กลุ่มผู้เสียหายได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้มีการตั้งคณะทํางานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในการดําเนินคดีอาญากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทําความผิดกรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) เช่นเดียวกับคดีดังในอดีตที่มีนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวน

นายจิณณะกล่าวภายหลังยื่นหนังสือต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีว่า มีความกังวลว่า ดีเอสไอมีการทำงานโปร่งใสหรือไม่ หรือแม้แต่ ก.ล.ต.ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นเรื่องทำงานเพียงพอหรือไม่ ดังนั้นจึงมาร้องที่สำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ดูแลสั่งการตั้งแต่ต้น อยากให้นายกฯ กำชับและให้เป็นคดีตัวอย่างไม่ให้เกิดความเสียหายในตลาดทุนไปมากกว่านี้ คดีนี้ถ้าไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้บอกได้เลยว่าตลาดทุนพังเพราะว่านักลงทุนไม่มีความปลอดภัย ไม่มีความมั่นใจในตลาดทุนเลย อยากให้นายก ฯ เร่งรัดกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับเรื่องไว้และได้เปิดโอกาสให้ทางกลุ่มผู้เสียหายตั้งประเด็นในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องและมาสอบถามถึงเหตุผลในการสั่งการและดำเนินการว่าถูกต้องหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม

ตบเท้าเข้าพบ ก.ล.ต. กลุ่มผู้เสียหายหุ้น ‘STARK’ หวั่น “เงินลงทุน” โดนฮุบ

ข้อเสนอแนะและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีหุ้นกู้ STARK

ดอกเบี้ยไม่จ่าย งบการเงินไม่มี กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ ‘STARK’ รวมตัวร้อง ก.ล.ต. ถึงเวลาลงดาบ

ติดตาม ปฏิบัติการกลุ่มผู้เสียหายหุ้นกู้ STARK ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุดและนายกรัฐมนตรีขอความเป็นธรรมในการดำเนินคดีหุ้นกู้ STARK

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค #TCC #หุ้นกู้ #สตาร์ค #STARK #ลงทุน #การลงทุน #กลต