เรื่องเล่าผู้บริโภค : “หยิบกระเป๋าเดินทางสลับที่สนามบิน” ทำยังไงดี?

เคยหยิบกระเป๋าเดินทางของคนอื่นลงจากสายพานในสนามบิน เพราะคิดว่าเป็นของตัวเองไหม? แล้วถ้ารู้ตัวอีกทีตอนอยู่โรงแรมว่าหยิบกระเป๋ามาผิดใบล่ะ จะต้องทำอย่างไร?|

|

เรื่องเล่าผู้บริโภควันนี้ เป็นประสบการณ์ตรงของผู้เขียน ในฐานะที่เป็นทั้งเจ้าหน้าที่สภาองค์กรของผู้บริโภค และผู้บริโภคคนหนึ่งด้วย เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้บริการสายการบินแอร์เอเชีย และซื้อน้ำหนักกระเป๋าเพื่อโหลดกระเป๋าเดินทางใต้เครื่องด้วย

เมื่อถึงจุดหมายที่สนามบินเชียงใหม่ เราไปรับกระเป๋าที่สายพานตามปกติ และเช็คหมายเลขบัตรที่ผูกติดกระเป๋า ว่าตรงกับเที่ยวบินที่โดยสารมาหรือไม่ หลังตรวจสอบเรียบร้อยแล้วจึงเดินทางไปยังโรงแรมที่พัก เมื่อเข้าห้องพักแล้วจึงนำกระเป๋ามาใส่รหัสปลดล็อกแต่ไม่สามารถเปิดได้ จึงพบว่านี่ไม่ใช่กระเป๋าของตัวเองแน่ ๆ จึงรีบติดต่อคอลเซ็นเตอร์ของสายการบิน
แต่! ลืมไปว่าเดี๋ยวนี้แอร์เอเชียไม่มีคอลเซ็นเตอร์แล้ว และเมื่อหาทางติดต่อสายการบินในอินเทอร์เน็ต พบว่าผู้บริโภคต้องโหลดแอปพลิเคชันของสายการบินแล้วล็อกอิน จึงจะสามารถติดต่อสอบถามผ่านการแชทกับระบบเอไอชื่อน้องเอวา (AVA) แต่พบว่าข่องทางนี้ไม่สะดวกและใช้เวลาในการติดต่อค่อนข้างมาก

จึงติดต่อทางโทรศัพท์ไปยังฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสนามบินเชียงใหม่ เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ได้รับคำตอบว่า ต้องเดินทางไปติดต่อเคาน์เตอร์ของแอร์เอเชียที่สนามบินด้วยตนเองเท่านั้น เพราะทางสนามบินไม่มีเบอร์โทรศัพท์ของแอร์เอเชีย สุดท้ายเลยต้องเรียกรถและแบกกระเป๋าเจ้าปัญหากลับไปที่สนามบินเชียงใหม่อีกครั้ง

เมื่อไปถึงออฟฟิศของแอร์เอเชียที่สนามบินเชียงใหม่ พนักงานของสายการบินให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี โดยเขาขอดูบัตรโดยสารเพื่อตรวจสอบเลขเที่ยวบิน และเลขแท็กกระเป๋าว่าตรงกับเลขที่ติดอยู่ตรงกระเป๋าเดินทางหรือไม่ พอตรวจสอบแล้วว่ากระเป๋าสลับกันจริง จึงค้นข้อมูลของเจ้าของกระเป๋าอีกคนหนึ่ง และติดต่อเพื่อแจ้งให้ทราบว่ากระเป๋าสลับกัน หากเจ้าของกระเป๋าอยู่ไม่ไกลจากสนามบินก็อาจแนะนำให้กลับมาแลกเปลี่ยนกระเป๋ากันที่สนามบิน แต่กรณีของเราคือเจ้าของกระเป๋าอีกท่านหนึ่งเขาขึ้นดอยไปแล้ว จึงต้องนัดกันในสถานที่ที่สะดวก เพื่อส่งคืนกระเป๋ากัน โดยเจ้าหน้าที่ได้โทรศัพท์ติดต่อหาเจ้าของกระเป๋าและให้เรา หลังจากนั้นก็แลกช่องทางการติดต่อ เพื่อให้ติดต่อกันได้สะดวก

ทั้งนี้ จากการสอบถามคุณภัคปพน ธรรมปัญญา พนักงานสายการบินแอร์เอเชีย สนามบินเชียงใหม่ พบว่ากรณีการสลับกระเป๋าเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และบางครั้งสลับถึงขั้นที่กระเป๋าอยู่คนละประเทศกัน ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยควรจะทำสัญลักษณ์ที่กระเป๋าเพื่อให้แตกต่างจากคนอื่น แม้จะเป็นยี่ห้อและเดียวกันก็ตาม

“ผมเคยเห็นไฟลต์บินของกัวลาร์ลัมเปอร์ มีผู้โดยสารติดสติ๊กเกอร์รูปหน้าตัวเองแผ่นใหญ่ ๆ ไว้บนกระเป๋า หรือบางคนก็ติดสติ๊กเกอร์ Don’t touch my bag! (อย่าแตะต้องกระเป๋าของฉัน!) ไว้ก็มี ประเด็นก็คือเราจะติดสติ๊กเกอร์ ห้อยแท็กกระเป๋าที่เป็นลายการ์ตูน หรือทำอย่างไรก็ได้ เพื่อให้เราจำกระเป๋าของตัวเองได้และสังเกตเห็นได้ง่าย ๆ”

คุณภัคปพน แนะนำอีกว่า นอกจากการทำสัญลักษณ์แล้ว ผู้โดยสารยังสามารถตรวจสอบว่าเป็นกระเป๋าของตัวเองหรือไม่ ผ่านแท็กกระดาษที่สายการบินติดไว้ที่กระเป๋าได้เช่นกัน โดยแท็กของแต่ละสายการบินอาจมีลักษณะการวางตำแหน่งของข้อมูลที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม บนแท็กกระเป๋าของทุกสายการบินจะมีข้อมูลสำคัญ ดังนี้ 1) เลขแท็กกระเป๋า 2) ชื่อและนามสกุลของผู้โดยสาร และ 3) เลขเที่ยวบิน (ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะต้องตรงกับเลขแท็กกระเป๋าที่ระบุอยู่บนบัตรโดยสารของเรา)

เมื่อถามว่าในกรณีกระเป๋าสลับหรือของหายมีเบอร์ที่สามารถติดต่อแอร์เอเชีย สนามบินเชียงใหม่ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางกลับมาที่สนามบินไหม คุณภัคปภนตอบว่ามี พร้อมกับเขียนเบอร์โทรศัพท์ให้ และแจ้งว่าจริง ๆ ผู้บริโภคสามารถโทรสอบถามเบอร์จากประชาสัมพันธ์ของสนามบินเชียงใหม่ก็ได้ เพราะเขามีเบอร์หรือสามารถติดต่อแต่ละสายการบินได้

อ้าว! แล้วทำไมเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของสนามบินเชียงใหม่ที่ได้คุยทางโทรศัพท์ ยืนยันว่าต้องเข้ามาที่สนามบินล่ะ?

เพื่อไขข้อข้องใจและยืนยันข้อมูลใหม่ที่เพิ่งได้รับมา เราเลยเดินไปที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ และสอบถามเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในกรณีกระเป๋าสลับหรือของหาย ซึ่งคุณรชวดี พันธุ์นิติภูมิ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของสนามบินเชียงใหม่ยืนยันว่า ทางสนามบินมีเบอร์แผนก Lost & Found ของแอร์เอเชีย และสามารถให้เบอร์กับผู้โดยสารเพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของสายการบินโดยตรงได้เลย แต่เจ้าหน้าที่ที่คุยโทรศัพท์กับเราอาจเป็นเจ้าหน้าที่ใหม่ จึงให้ข้อมูลที่ผิดพลาด

คุณรชวดี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากผู้บริโภคเกิดกรณีหยิบกระเป๋าเดินทางสลับกับผู้โดยสารท่านอื่น และไม่รู้จะทำอย่างไร สามารถเดินไปขอความช่วยเหลือที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์หรือโทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลได้เลย โดยสำหรับสนามบินเชียงใหม่ จะมีเบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อสายการบินได้โดยตรง 3 สายการบิน ได้แก่ แอร์เอเชีย บางกอก แอร์เวยส์ และไทยสไมล์ ส่วนนกแอร์ผู้โดยสารสามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์ของสายการบินได้เลย ส่วนไลออนแอร์กับเวียตเจ็ตจะเป็นเบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อภายใน จึงไม่สามารถให้เบอร์กับผู้โดยสารได้ แต่จะช่วยเหลือโดยการโอนสายต่อเพื่อให้ผู้โดยสารได้คุยและได้รับการช่วยเหลือจากพนักงานของสายการบิน

อย่างไรก็ตาม การจัดการของแต่ละสนามบินอาจมีความแตกต่างกัน หากเป็นสนามบินขนาดใหญ่เช่นสนามบินสุวรรณภูมิก็อาจมีการจัดการที่มีขั้นตอนและเป็นระบบมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น ผู้โดยสารสามารถติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสนามบินนั้น ๆ เพื่อสอบถามข้อมูลหรือขอความช่วยเหลือได้เลย

และนี่ก็เป็นประสบการณ์การหยิบกระเป๋าเดินทางสลับครั้งแรกของผู้เขียนที่ค่อนข้างวุ่นวาย แต่ก็ได้ความรู้กลับมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังได้มากมายทีเดียว เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ใครที่กำลังจะเดินทางและวางแผนจะโหลดกระเป๋าไว้ใต้เครื่อง อย่าลืมทำสัญลักษณ์ไว้ที่กระเป๋าเดินทางของตัวเอง และตรวจสอบข้อมูลบนแท็กกระเป๋าว่าตรงกับข้อมูลบนบัตรโดยสารของเราหรือไม่ จะได้ไม่ต้องเสียเงิน เสียเวลาสลับสับเปลี่ยนกระเป๋าให้วุ่ยวาย และจะได้ไปทำงานหรือไปเที่ยวแบบสบายใจไร้กังวลอีกด้วย