เมื่อลูกต้อง ‘สูญเสียดวงตา’ ด้วยมะเร็ง เพราะการคัดกรองที่ล่าช้า

“ตอนนั้นหนูแย่มาก ทำไมต้องเป็นลูกหนู ทำไมตอนที่หนูถามพยาบาลครั้งแรก และหลาย ๆ ครั้งที่เข้ารับการรักษา ไม่มีใครเฉลียวใจเลยว่าก้อนเลือดนั้นเป็นก้อนมะเร็ง หนูอยากให้ระบบในการตรวจคัดกรองของโรงพยาบาลเร็วกว่านี้ หนูเข้าใจว่าโรคมะเร็งอาจเกิดขึ้นได้ตามสภาพร่างกายของคน แต่ถ้าหนูทราบเร็วกว่านี้ อาจจะช่วยรักษาดวงตาของลูกหนูได้”

สำหรับผู้ที่เป็น ‘แม่’ การรอคอยเป็นเวลา 9 เดือน คงเป็นช่วงที่ทั้งตื่นเต้นและมีความสุข พรพรรณเองก็เป็นเช่นเดียวกับแม่คนอื่น ๆ กระทั่งช่วงบ่ายของวันที่ 18 เมษายน 2564 พรพรรณได้คลอดลูกสาวที่เธอตั้งชื่อว่า ‘ริบบิ้น’ ออกมา แต่เธอสังเกตเห็นความผิดปกติที่ดวงตาน้อย ๆ มีลักษณะคล้ายก้อนเลือดเล็ก ๆ ติดอยู่ จึงสอบถามพยาบาลที่นำลูกสาวมาให้ในห้องพักฟื้นแต่ก็ได้คำตอบแค่เพียงว่าปกติดี

กระทั่งเวลาผ่านเลยไปเรื่อย ๆ เธอสังเกตเห็นความผิดปกติของลูกสาวที่มักจะมีไข้บ่อย ๆ รวมถึงก้อนเลือดเล็ก ๆ นั่นก็ยังมีอยู่ในดวงตาของน้องริบบิ้น และยังพบว่าดวงตาของน้องริบบิ้นมีอาการตาวาว พรพรรณจึงพยายามสอบถามแพทย์แต่ก็ได้รับคำตอบเพียงว่าต้องให้แพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ตรวจ

เมื่อน้องริบบิ้นอายุ 8 เดือน พรพรรณตัดสินใจพาลูกสาวไปรับบริการที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อตรวจอย่างละเอียด ซึ่งน่าตกใจที่ผลตรวจพบว่าน้องริบบิ้นเป็น ‘มะเร็งในดวงตา’ หลังแพทย์แจ้งว่าต้องผ่าตัดนำดวงตาออกเพื่อไม่ให้เชื้อมะเร็งลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะสมอง

“ตอนนั้นหนูแย่มาก ทำไมต้องเป็นลูกหนู ทำไมตอนที่หนูถามพยาบาลครั้งแรก และหลาย ๆ ครั้งที่เข้ารับการรักษา ไม่มีใครเฉลียวใจเลยว่าก้อนเลือดนั้นเป็นก้อนมะเร็ง หนูอยากให้ระบบในการตรวจคัดกรองของโรงพยาบาลเร็วกว่านี้ หนูเข้าใจว่าโรคมะเร็งอาจเกิดขึ้นได้ตามสภาพร่างกายของคน แต่ถ้าหนูทราบเร็วกว่านี้อาจจะช่วยรักษาดวงตาของลูกหนูได้”

ความเจ็บปวดของผู้เป็นแม่มากเท่าใด พ่อก็เจ็บปวดตามเช่นกัน ดังคำที่ว่า “รักดั่งแก้วตาดวงใจ” กว่าจะตัดสินใจยินยอมให้ลูกสาวผ่าตัด ใช้เวลาทำใจ 2 วัน ขณะนั้นพรพรรณและสามีรับราชการจึงต้องใช้สิทธิเบิกตรง (สิทธิราชการ) แต่ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ครอบครัวต้องจ่ายเอง

“อยากให้พยาบาลที่ตรวจคัดกรองให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผู้ปกครองแจ้ง หรือตรวจรักษาอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการรักษาล่าช้าหรือควรมีการสื่อสารกับพ่อแม่ผู้ปกครองมากกว่านี้ นอกจากนี้อยากให้มีกองทุนช่วยเหลือและเยียวยา เหมือนกับสิทธิประกันสังคมและสิทธิบัตรทองมี เพื่อจะได้ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำกันมากเช่นกรณีที่เกิดกับน้องริบบิ้น”

สุริยา บิดาของน้องริบบิ้น ระบุอีกว่า เขาทำงานเป็นราชการ ทำทุกอย่างเพื่อหน่วยงาน เพื่อองค์กร แต่เมื่อใช้สิทธิการรักษาก็อยากให้เป็นเหมือนกันทุกระบบ โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าสิทธิการรักษานั้นจะได้รับการเยียวยาหรือไม่ได้รับสิทธิ รวมถึงอยากให้หน่วยงานที่กำกับดูแลระบบการให้บริการโรงพยาบาลตรวจสอบและควบคุมการให้บริการรักษาพยาบาล ซึ่งหากเป็นไปได้ต้องให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดทุกสิทธิการรักษา

อย่างไรก็ตาม จากเสียงสะท้อนผู้ใช้บริการการรักษาของโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งที่สังกัดกรมทหารบก เมื่อได้รับความเสียหายจากการแจ้งผลวินิจฉัยล่าช้าทำให้การรักษาโรคไม่ทันท่วงที ผลคือ การเสียดวงตาก่อนระยะเวลาอันควร

ที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้ร้องเรียนโดยการเจรจาไกล่เกลี่ยให้โรงพยาบาลตรวจสอบระบบการให้บริการและช่วยเหลือเยียวยาผู้ร้องเรียน ต่อมาโรงพยาบาลได้ชี้แจงถึงมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโดยจะพัฒนาให้เป็นไปตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย และได้ช่วยเหลือตามมนุษยธรรม โดยที่ไม่เกี่ยวกับกองทุนใดด้วยเงิน 50,000 บาท และอ้างว่าไม่ได้มีกองทุนช่วยเหลือเยียวยา เหมือนกับสิทธิบัตรทอง

ดังนั้น จึงไม่สามารถเยียวยาผู้ร้องเรียนตามมาตรา 41 ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กันเงินจำนวนหนึ่งไม่เกินร้อยละ 1 ของเงินที่จ่ายให้กับหน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการในกรณีที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด            

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคเห็นว่าโรงพยาบาลควรให้ความสำคัญกับระบบการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้รับบริการ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีกองทุนช่วยเหลือเยียวยา ให้เป็นมาตรฐานเดียวทุกสิทธิ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำของแต่ละสิทธิการรักษา

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค