หนึ่งปัญหาโดนหลอกซื้อทุเรียนอ่อน สู่การแก้ไขเพื่อผู้บริโภคโดยรวม

ผู้บริโภคพบปัญหา ‘ทุเรียนอ่อน’ เมื่อแจ้งร้านแต่ไม่ได้รับการเยียวยา จึงนำไปโพสต์เตือนภัยและร้องเรียนจนทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ โดยนายอำเภอได้สั่งตรวจร้านขายทุเรียน พร้อมกำกับต้องมีป้ายแสดงช่องทางติดต่อร้านค้า การแก้ไขครั้งนี้ จึงไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะรายที่เข้ามาร้องเรียนเท่านั้น แต่ยังป้องกันการโดนหลอกต่อผู้บริโภครายต่อ ๆ ไป

ช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมาผลไม้ที่เป็นที่นิยมคงหนีไม่พ้นราชาผลไม้อย่างทุเรียน แม้จะมีราคาสูง แต่สาวกทุเรียนก็ยอมจ่ายเพื่อจะได้รับประทานทุเรียนเนื้อเหลืองกรอบนอกนุ่มใน แต่ผู้บริโภคหลายรายเจอโดนหลอกซื้อทุเรียนอ่อน ที่หากพบว่าผิดจริงคนขายจะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

เรื่องเล่าผู้บริโภคตอนนี้เป็นเรื่องของผู้บริโภคชาวอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ที่พบปัญหาซื้อทุเรียนมารับประทาน แต่ได้รับทุเรียนอ่อนที่ต้องโยนทิ้งเท่านั้น คือทุเรียนอ่อนที่มีลักษณะเนื้อสีขาว และไม่สามารถบ่มจนสุกได้ ทำให้ไม่สามารถรับประทานได้ ผู้บริโภครายนี้จึงนำทุเรียนไปขอคืนที่ร้านค้า แต่ผู้ค้ากลับไม่ยอมรับคืนและผลักภาระให้ไปเจรจากับพ่อค้าคนกลางเอง ผู้บริโภครายดังกล่าวจึงได้แจ้งเตือนภัยร้านขายทุเรียนฉ้อฉลให้กับผู้บริโภคอื่น ๆ ผ่านกลุ่มเฟซบุ๊กของจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อหน่วยงานประจำจังหวัดกาญจนบุรี สภาผู้บริโภค ได้พบข้อความดังกล่าว จึงได้ติดต่อผู้บริโภคเพื่อให้คำแนะนำกับผู้บริโภคถึงกรณีการถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภค และได้ให้ช่องทางติดต่อเพื่อให้ผู้บริโภคใช้สิทธิร้องเรียน

เมื่อผู้บริโภคได้ร้องเรียนเข้ามาที่หน่วยงานฯ ที่ได้รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนเพื่อเป็นหลักฐานสำหรับลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเข้าไปเจรจากับร้านค้าที่นำไปสู่การที่ร้านค้าตกลงยินดีชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้บริโภค จากนั้นหน่วยงานฯ สภาผู้บริโภค จึงเผยแพร่ข่าวสารเพื่อให้ผู้บริโภครายอื่นทราบถึงสิทธิที่ผู้บริโภคควรได้รับกรณีซื้อทุเรียนแต่กลับได้ทุเรียนอ่อน อีกทั้งได้หารือร่วมกับกลุ่มผู้ปลูกทุเรียนคุณภาพเพื่อจัดทำข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประทานทุเรียนที่มีคุณภาพ

เพื่อให้เป็นการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน หน่วยงานฯ สภาผู้บริโภค จึงได้ยื่นข้อเสนอถึงนายอำเภอทองผาภูมิ ให้กำหนดข้อห้ามจำหน่ายทุเรียนอ่อนสวมรอย “ทุเรียนทองผาภูมิ” ที่มีชื่อเสียง โดยขอให้ออกมาตรการ ประกาศ หรือคำสั่ง ตามอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ ห้ามจำหน่ายทุเรียนอ่อน รวมถึงห้ามนำทุเรียนจากแหล่งอื่นมาแอบอ้างเป็น “ทุเรียนทองผาภูมิ” โดยให้มีคำสั่งห้ามติดป้ายแอบอ้าง ในส่วนของร้านค้าทุเรียน ให้มีการแจ้งต่อผู้บริโภคถึงช่องทางการติดต่อร้านค้าเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถแจ้งต่อร้านค้าโดยตรง หากทุเรียนที่ซื้อไปมีปัญหา ภายหลังความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้บริโภคและการผลักดันให้เกิดระบบการควบคุมคุณภาพทุเรียน ได้มีสื่อมวลชนร่วมกระจายข้อมูลเพื่อเตือนภัยและให้ข้อมูลกับผู้บริโภครายอื่น ๆ ให้รับรู้ถึงสิทธิของตนเองมากขึ้น ในรายการต่างๆ เช่น รายการสถานีประชาชน รายการร้องทุก(ข์)ลงป้ายนี้ และรายการรู้เท่ารู้ทัน จากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

“หลังจากยื่นข้อเสนอถึงนายอำเภอทองผาภูมิ และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานฯ ได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจร้านขายทุเรียนในอำเภอทองผาภูมิ ยังไม่พบว่ามีการนำทุเรียนจากที่อื่นมาขาย และบางร้านมีสติกเกอร์บอกชื่อร้าน หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อกลับได้ ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจมากขึ้น ซึ่งมองว่าความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้บริโภคครั้งนี้ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือเพียงกรณีเดียวเท่านั้น แต่ได้นำไปสู่การแก้ไขที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอีกหลายราย อีกทั้งปัญหานี้อาจไม่ได้รับความสนใจหรือประสบความสำเร็จเท่าที่ควรหากไม่รับความร่วมมือจากองค์กรสมาชิกในพื้นที่ เครือข่ายเยาวชนผู้บริโภค และสำนักข่าวไทยพีบีเอสที่ช่วยกระจายข่าวสารและข้อมูลเตือนภัยนี้” เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน กล่าว

สำหรับผู้บริโภคที่จะซื้อทุเรียน มีข้อสังเกตง่าย ๆ คือ หากร่องยังมีสีเขียวและชิดกันอยู่แสดงว่า ทุเรียนยังไม่แก่ แต่ถ้าร่องเริ่มห่างกันและมีสีน้ำตาล หรือใช้ไม้เคาะแล้วฟังเสียง หากได้ยินเสียงโปร่งไม่แน่นทึบแสดงว่าทุเรียนแก่แล้ว

สำหรับผู้ประกอบการหลอกชายทุเรียนอ่อนที่รับประทานไม่ได้ จะมีความผิดอาญามาตรา 271 ที่กำหนดว่าผู้ใดขายโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพคุณภาพ หรือปริมาณแห่งของอันเป็นเท็จนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 ผู้ใดเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่น อันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้พ่อค้าที่รับทุเรียนอ่อนมาจำหน่ายก็มีความผิดเช่นกัน เข้าข่ายหลอกลวง มีโทษทั้งจำและปรับ

หากผู้บริโภคชาวกาญจนบุรีหรือจังหวัดใกล้เคียงไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้ที่หน่วยงานประจำจังหวัดกาญจนบุรี โทรศัพท์ 080 437 3337 หรืออินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ‘หน่วยงานประจำจังหวัดกาญจนบุรี สภาองค์กรของผู้บริโภค’ หรือร้องเรียนกับสภาผู้บริโภคได้ที่

  • ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
  • อีเมล : [email protected]  
  • โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1
  • ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
  • อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) ​: สภาองค์กรของผู้บริโภค