ก่อนซื้อ แพ็กเกจโรมมิ่ง เช็กเงื่อนไขให้ดี ระวังเจอบิลไม่คาดคิด

ก่อนซื้อ แพ็กเกจโรมมิ่ง เช็กเงื่อนไขให้ดี ระวังเจอบิลไม่คาดคิด

ใครที่กำลังเตรียมตัวเดินทางไปต่างประเทศ อย่าเพิ่งมองข้ามเรื่อง แพ็กเกจโรมมิ่ง เพราะอาจกลายเป็นภาระบิลที่ไม่คาดคิด

หนึ่งในกรณีร้องเรียนที่สภาผู้บริโภคได้รับ คือเรื่องของผู้บริโภครายหนึ่งที่ตั้งใจจะใช้บริการโรมมิ่งระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ จึงสมัครแพ็กเกจ Ready2Fly Global Non Stop คือ ซิมหรือแพ็กเกจโรมมิ่งจากผู้ให้บริการมือถือในไทย ที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานมือถือขณะอยู่ต่างประเทศได้โดยไม่ต้องซื้อซิมใหม่จากประเทศปลายทาง ผู้บริโภครายนี้ได้ซื้อแพ็กเกจดังกล่าว จำนวน 20 GB ใช้ได้ตั้งแต่ 26 ธันวาคม 2567 – 26 มกราคม 2568 ในราคา 1,711 บาท และจ่ายบิลไปเรียบร้อย

แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น เพราะเมื่อกลับไทย กลับพบว่ามีบิลเรียกเก็บเงินอีกครั้งในรอบถัดไปเป็นเงินถึง 2,140 บาท โดยระบุว่าเป็นค่าบริการโรมมิ่ง เมื่อสอบถามกับบริษัทเครือข่ายมือถือ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่สามารถยกเลิกบิลได้ เนื่องจากเมื่อตรวจสอบแล้ว ระบบระบุว่ามีการใช้งานจริงแต่ไม่ได้แจ้งรายละเอียดแต่อย่างใด ผู้บริโภคจึงตัดสินใจร้องเรียนมายังสภาผู้บริโภค

เมื่อสภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียน จึงสอบถามข้อมูลและขอหลักฐานเพิ่มเติม เช่น รายละเอียดการสมัครบริการ หลักฐานการโฆษณา และข้อมูลการเรียกเก็บเงิน จากนั้นจึงติดต่อไปยังบริษัทผู้ให้บริการเพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งหลังจากได้รับการติดต่อจากสภาผู้บริโภค บริษัทได้ชี้แจงว่า การใช้งานดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากแพ็กเกจโรมมิ่งที่ผู้บริโภคเคยสมัครไว้ได้สิ้นสุดลง ทำให้ระบบคิดค่าบริการตามราคาโรมมิ่งแพ็กเกจปกติ ซึ่งมีราคาสูงกว่าการแพ็กเกจที่ผู้บริโภคซื้อ

อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาโดยรวม บริษัทเห็นว่าผู้บริโภคอาจไม่ได้เข้าใจเงื่อนไขการคิดค่าบริการอินเทอร์เน็ตโรมมิ่งหลังหมดแพ็กเกจมาก่อน จึงตัดสินใจให้ความช่วยเหลือ โดยมีการเยียวยาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้กับผู้บริโภค และได้ปิดการใช้งานอินเทอร์เน็ตโรมมิ่งในระบบให้โดยอัตโนมัติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเรียกเก็บเงินเกินแพ็กเกจในอนาคต

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ไม่ได้สมัคร แต่มีบิล ผู้บริโภคต้องได้เงินคืนเต็มจำนวน
“โปรเน็ตไม่อั้น” ซื้อปุ๊บ โดนลดสปีดปั๊บ

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคขอแนะนำผู้บริโภคที่ต้องการใช้งานมือถือในต่างประเทศ อย่าลืมตรวจสอบเงื่อนไขของแพ็กเกจโรมมิ่งให้ชัดเจน เช่น วันหมดอายุของแพ็กเกจโรมมิ่ง และการตั้งค่าระบบโทรศัพท์ให้ปิดการใช้งาน ดาต้าโรมมิ่ง (Data Roaming) อัตโนมัติ เพื่อป้องกันการคิดค่าบริการนอกแพ็กเกจโดยไม่ตั้งใจ และหากเกิดปัญหาเบื้องต้นให้ติดต่อบริษัทผู้ให้บริการก่อนเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง โดยเฉพาะค่าบริการเสริมที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ และหากพบปัญหาสามารถร้องเรียนมายังสภาผู้บริโภคได้ ผ่านเว็บไซต์ https://complaint.tcc.or.th/complaint หรือที่สายด่วน 1502