
ผู้บริโภคร้อง แจ้งยกเลิกบริการกล่องทรูไอดี ทีวี ล่วงหน้า แต่สุดท้ายกลับถูกเรียกเก็บค่าบริการย้อนหลังถึง 3 เดือน พร้อมอ้างเงื่อนไขการคืนอุปกรณ์ที่ไม่แจ้งตั้งแต่แรก
“ใครอยากเสียเงินฟรี 3 เดือน ทั้งที่ไม่ได้ดู ไม่ได้ใช้ แล้วก็ถอดปลั๊กเก็บไว้เรียบร้อยแล้ว”
เสียงสะท้อนจากผู้บริโภครายหนึ่ง ที่ประสบปัญหากับการยกเลิกบริการกล่องทรูไอดี ทีวีปัญหาที่ไม่ควรเกิด แต่กลับพบได้ไม่น้อย
ผู้บริโภคเล่าว่าได้แจ้งยกเลิกบริการกล่องทรูไอดี ทีวีก่อนสิ้นปี ด้วยความเข้าใจว่า แค่โทรแจ้งกับคอลเซ็นเตอร์ก็ถือว่ายุติการใช้บริการเรียบร้อยแล้ว
แต่เรื่องกลับไม่ง่ายแบบนั้น เพราะหลังจากแจ้งยกเลิกไปกว่า 3 เดือน อยู่ดี ๆ ก็มีใบแจ้งหนี้ตามมาถึงบ้าน คิดค่าบริการย้อนหลัง 3 เดือนเต็ม ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้ใช้งานเลย และถอดปลั๊กเก็บอุปกรณ์ไว้เรียบร้อยตั้งแต่วันแจ้งยกเลิก เนื่องจากคอลเซ็นเตอร์ ไม่ได้แจ้งให้ทราบว่าการยกเลิกจะมีผลก็ต่อเมื่อ นำกล่องและอุปกรณ์ทั้งหมดไปคืนที่ศูนย์
“วันที่พี่โทรแจ้งว่าจะไม่ต่อสัญญา ไม่มีใครแนะนำเลยว่า พี่ต้องเอาเครื่อง และอุปกรณ์ทุกอย่างไปคืนที่ศูนย์ หรือต้องทำยังไงบ้าง แบบนี้มันดูเหมือนมีเจตนาบอกไม่หมด ถ้าพี่รู้ตั้งแต่แรก พี่ก็จะเอาอุปกรณ์ไปคืนให้ครบตั้งแต่วันสุดท้ายของสัญญาแล้ว ใครมันอยากไปเสียฟรี 3 เดือน ทั้งที่ไม่ได้ใช้”
ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อไปที่ศูนย์บริการเพื่อคืนอุปกรณ์ ปัญหาใหม่ก็โผล่ขึ้นมาอีกครั้ง เพราะศูนย์ไม่ยอมรับอุปกรณ์คืนในทันที แต่เรียกเก็บค่าบริการที่ค้าง 3 เดือนก่อน ถึงจะดำเนินการให้ ที่สำคัญไม่มีการออกเอกสารหรือหลักฐานการคืนอุปกรณ์อย่างเป็นทางการ ทำให้ผู้บริโภคต้องถ่ายภาพเก็บไว้เองทุกชิ้น เพื่อเป็นหลักฐาน
“พี่ต้องถ่ายรูปกล่องไว้หมดเลย เพื่อกันเขาปฏิเสธว่ายังไม่รับของ แบบนี้แฟร์กับลูกค้าตรงไหน”
แม้ท้ายที่สุด บริษัทจะเสนอลดหนี้ ให้จ่ายแค่ 1 เดือน แต่ผู้บริโภคกลับตั้งคำถามกลับอย่างตรงไปตรงมาถึง มาตรฐานของบริษัท และมองว่าการที่บริษัทไม่แจ้งรายละเอียดตั้งแต่แรก เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
“ค่าบริการ 3 เดือนก็คือ 3 เดือน แล้วลดเหลือ 1 เดือนได้ยังไง มาตรฐานของคุณคืออะไร แล้วถ้าลูกค้าไม่รู้เรื่อง ก็ต้องจ่ายเต็ม ๆ อย่างนั้นเหรอ แต่ถึงยังไงพี่ก็ไม่ยอมจ่าย เพราะได้แจ้งยกเลิกแล้ว” ผู้บริโภคตั้งคำถามถึงมาตรฐานของผู้ให้บริการ
สุดท้ายผู้บริโภคคนนี้ตัดสินใจเข้าร้องเรียนกับสภาผู้บริโภค พร้อมแนบหลักฐานทุกอย่าง เจ้าหน้าที่จึงประสานไปยังบริษัท จนปัญหาคลี่คลาย ผู้บริโภคสามารถคืนอุปกรณ์ได้สำเร็จ และไม่ต้องจ่ายค่าบริการส่วนเกินอีกต่อไป
“คุณไม่ควรจะทำนิสัยอย่างนี้ ถ้าคุณคิดว่าคนเหล่านี้เป็นลูกค้าคุณ แม้ว่าวันนี้เขาจะเลิกใช้บริการแล้ว คุณอย่าฉกฉวยโอกาสจากเขา มันไม่ซื่อตรง” เสียงของผู้บริโภคที่สะท้อนถึงผู้ให้บริการ
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคขอแนะนำว่า ก่อนดำเนินการยกเลิกบริการใด ๆ ผู้บริโภคไม่ควรละเลยการตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วน โดยเฉพาะรายละเอียดเงื่อนไขที่อาจมีเพิ่มเติม เช่น การคืนอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ครบถ้วนตามที่ผู้ให้บริการกำหนด
นอกจากนี้ เมื่อมีการคืนอุปกรณ์ ควรขอเอกสารรับคืนจากศูนย์บริการไว้เป็นหลักฐาน เพื่อป้องกันข้อโต้แย้งภายหลัง และหากผู้บริโภคพบปัญหา ไม่ควรนิ่งเฉยหรือละเลยสิทธิของตนเอง สามารถร้องเรียนมาได้ที่สภาผู้บริโภค สายด่วน 1502 และช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ tcc.or.th