ย้ำ! ดีแทคยุติขายแพ็กเกจ ‘วันละบาท’ ป้องกัน SMS ลวง ไม่ใช่บริการเสริม

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ย้ำชัด DTAC มีหน้าที่ปกป้องผู้ใช้บริการ ไม่ควรเก็บค่าบริการในการบล็อก SMS หลอกลวงเพิ่มอีก เผยหากมีผู้สมัครใช้แพ็กเกจบล็อก SMS นี้ DTAC จะเก็บค่าบริการได้ถึง 150 ล้านบาท

ตามที่ สอบ.นำเสนอข้อมูลที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค (DTAC) ออกแพ็กเกจ DTAC Safe : บล็อกลิงก์ปลอมจาก SMS หลอกลวง จ่ายเพียงวันละ 1 บาท โดยระบุว่าความรับผิดชอบ และการดูแลผู้บริโภคควรจะเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการนั้น

ล่าสุด (25 พฤษภาคม 2565) สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สอบ. และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา DTAC ส่งหนังสือชี้แจงมายัง สอบ. โดยระบุว่า แพ็กเกจ DTAC Safe ดังกล่าวเป็นบริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าของบริษัท ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ต จะทำหน้าที่ในการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีอันตรายร้ายแรง เช่น เว็บไซต์มัลแวร์อันตราย ที่หลอกลวงขโมยข้อมูล ปิดกั้นลิงก์ปลอม หรือลิงก์หลอกลวงที่ถูกส่งผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ในโทรศัพท์เคลื่อนที่

นอกจากนี้ ยังชี้แจงอีกว่า บริษัทฯ เปิดช่องทางรับแจ้งภัยจากมิจฉาชีพ และข้อความสั้นที่ส่งมาหลอกลวง (SMS) ผ่านช่องทางโทร 1678 อีกทั้งบริษัทฯ ทำงานประสานกับ กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่น ๆ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาการหลอกลวงผ่านทาง SMS และแก๊งคอลเซ็นเตอร์

อย่างไรก็ตาม สุภิญญา กล่าวอีกว่า สอบ.ยังยืนยันว่าหน้าที่ในการดูแลและปกป้องผู้ใช้บริการ รวมถึงผู้บริโภค ที่เป็นผู้ใช้บริการเป็นหน้าที่ของ DTAC ซึ่งไม่ควรต้องเสียเงินเพิ่มตลอดระยะเวลาที่มีสัญญาในการให้บริการ

ปัจจุบัน ปี 2565 DTAC มีลูกค้าใช้บริการรวม 19.6 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นลูกค้าในระบบเติมเงิน 13.4 ล้านเลขหมาย ลูกค้าแบบรายเดือน 6.2 ล้านเลขหมาย หากมีผู้ใช้บริการจ่ายเงินซื้อแพ็กเกจดังกล่าว แค่เพียง 5 ล้านเลขหมาย จะทำให้ DTAC สามารถเก็บค่าบริการจากแพ็กเกจนี้ได้ถึง 150 ล้านบาท

“แม้ DTAC จะแจ้งว่าแพ็กเกจนี้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ แต่ DTAC ก็ไม่ควรเก็บเงินจากผู้ใช้บริการในค่ายของตนเอง แต่ควรเป็นการใช้งานฟรีเพื่อดูแลและป้องกันให้กับลูกค้า ขณะที่เลขหมาย 1678 ที่ DTAC อ้างถึงนั้น ผู้ใช้บริการไม่ได้ใช้ฟรี แต่กลับต้องจ่ายค่าบริการทุกครั้ง” สุภิญญา กล่าว

ทั้งนี้ สอบ.จะประสานไปยัง กสทช. เพื่อจัดเวทีหารือเกี่ยวกับการแก้ปัญหา SMS หลอกลวงและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่โทรมาหลอกลวงผู้บริโภค โดยเชิญผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือมาร่วมให้ความ เห็นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวต่อไป

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค