กลไกเขตพื้นที่ตะวันออกจัดประเมินองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ

กลไกเขตพื้นที่ภาคตะวันออก และหน่วยงานประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) หวังพัฒนาเครือข่ายและองค์กรสมาชิกในพื้นที่ ขึ้นแท่นองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ พร้อมสร้างความเข้มแข็ง น่าเชื่อถือ เป็นตัวแทนของผู้บริโภคทุกด้าน เพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคน

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2565 ณ ห้องประชุมบางปะกง โรงแรมที วินเทจ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ฝ่ายสนับสนุนสมาชิกและองค์กรผู้บริโภค สอบ. ลงพื้นที่เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การตรวจประเมินองค์กรผู้บริโภคคุณภาพในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งอยู่ภายใต้ภารกิจสนับสนุนการรวมตัว และช่วยเหลือองค์กรของผู้บริโภคของหน่วยงานประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา และกลไกเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ของ สอบ.

สอบ.มอบหมายให้หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ทำหน้าที่ในฐานะเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา และให้ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นกลไกเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ของ สอบ. โดยทั้ง 2 องค์กรนี้จะทำหน้าที่เป็นกลไกการพัฒนานโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับจังหวัด รวมถึงทำงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ขับเคลื่อน และกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคร่วมกัน

สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออก มีทั้งสิ้น 7 จังหวัด มีองค์กรสมาชิกของ สอบ. และองค์กรของผู้บริโภคทั่วไปรวมทั้งสิ้น 52 องค์กร ซึ่งหน่วยงานประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา มีความพยายาม มุ่งมั่น ตั้งใจที่จะยกระดับให้องค์กรของผู้บริโภคเหล่านี้เป็นองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ที่มีความเข้มแข็งและน่าเชื่อถือ จึงได้ดำเนินการให้มีกิจกรรมการประเมินองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ซึ่งศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้ดำเนินการประเมิน

ในการประเมินครั้งนี้ มีองค์กรสมาชิก และเครือข่ายองค์องค์กรผู้บริโภคเข้ารับการประเมินองค์กรผู้บริโภคคุณภาพขั้นพื้นฐานจำนวน 42 องค์กร ต่ออายุองค์กรผู้บริโภคคุณภาพขั้นพื้นฐานจำนวน 8 องค์กร  และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ในฐานะเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา สอบ. และศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดฉะเชิงเทรา ในฐานะเป็นกลไกเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเข้ารับการประเมินองค์กรผู้บริโภคคุณภาพขั้นสูงด้วย

แม้หลักการ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” จะเป็นหลักการที่พึงยึดถือ แต่กับงานคุ้มครองผู้บริโภคจะใช้หลักการให้ประชาชนพึ่งตนเองเพียงส่วนเดียวไม่ได้ การพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภคย่อมเกิดจากปัจจัยภายในของแต่ละองค์กรเป็นสำคัญ การขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาหรือทุกข์ของผู้บริโภคนั้น นอกจากจะเป็นไปในลักษณะปัจเจกแล้ว ในส่วนของการแก้ปัญหาเชิงระบบ ทั้งโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และอำนาจตามกฎหมายก็มีส่วนสำคัญ

กระบวนการพัฒนาคุณภาพขององค์กรผู้บริโภคที่ได้ดำเนินการอยู่นี้ เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะบูรณาการความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภคที่มีอยู่ในองค์กรแล้ว ทั้งในด้านความมุ่งมั่น และเจตนารมณ์ขององค์กร โดยการพัฒนาองค์กรผู้บริโภคคุณภาพได้ถูกออกแบบไว้ 3 ระดับ คือ ขั้นพื้นฐาน ขั้นมีสิทธิ และขั้นสูง ซึ่งแต่ละระดับมีความมุ่งหมายที่ต่างกัน

กล่าวคือ “ขั้นพื้นฐาน” มีความมุ่งหมายสร้างรากฐานขององค์กรผู้บริโภคให้เป็นฐานที่มั่นคงของระบบการคุ้มครองผู้บริโภค ขยายจำนวนให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัด เป็นที่พึ่งของผู้บริโภค “ขั้นมีสิทธิ” คือ การยอมรับตัวตนขององค์กรผู้บริโภคที่แสดงบทบาทและหน้าที่ผ่านอำนาจตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และ “ขั้นสูง” คือ การพัฒนาตนเองขององค์กรผู้บริโภค เพื่อความยั่งยืนขององค์กร เป็นแบบอย่างขององค์กรผู้บริโภคอื่น ๆ ต่อไป

“เพราะองค์กรผู้บริโภคควรได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนและคุณภาพ”

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค