ผู้บริโภคกระอัก ค่าไฟไทยแพงที่สุดในอาเซียน

ผู้บริโภคกระอัก ค่าไฟไทยแพงที่สุดในอาเซียน เสนอรัฐปรับลดต้นทุนผลิตไฟฟ้า
สนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เข้ายื่นหนังสื่อต่อ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในวันที่ 21 มีนาคม 2565 เพื่อขอให้ยุติแผนปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคมที่จะถึงนี้ ที่จะซ้ำเติมประชาชนในภาวะค่าครองชีพถีบตัวสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พร้อมเสนอปรับแก้นโยบายด้านพลังงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ด้วยการบริหารจัดการปริมาณโรงไฟฟ้าที่มากกว่าความต้องการ และขอให้รัฐหันมาสนับสนุนการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ รวมทั้งเสนอให้วิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตกับประชาชนแถบลุ่มแม่น้ำโขง ที่เกิดจากการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า และปัญหาธรรมาภิบาลระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่จำเป็นต้องสร้างความโปร่งใสให้เจ้าหน้าที่รัฐมีบทบาทเป็นผู้กำกับนโยบายพลังงานอย่างแท้จริง

แผนการขึ้นค่าไฟฟ้าในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคมนี้ นักวิชาการจากเวทีเสวนาออนไลน์ ที่จัดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา ชี้ว่าจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่คิดค่าไฟฟ้าต่อหน่วยสูงที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียน คือ 4 บาทต่อหน่วย ขณะที่ประเทศอื่น ๆ จ่ายค่าไฟเฉลี่ยที่ 2 บาทต่อหน่วย

ขณะเดียวกัน เวทีระดมสมองในครั้งนี้ชี้ชัดถึงสาเหตุหนึ่งของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในไทยที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน คือ การมีไฟฟ้าสำรองเกินจำเป็น การจัดสรรราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรม และการคิดค่าผ่านท่อที่แปรผันตามราคาก๊าซ ทั้ง ๆ ที่ต้นทุนท่อก๊าซไม่มีความผันแปร สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า แผนการผลิตพลังงานไทยอาจไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง สอบ.จึงเสนอแผนเพื่อการปรับปรุงการผลิตพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

บุญยืน ศิริธรรม : ประธาน สอบ.

บุญยืน ศิริธรรม ประธาน สอบ.กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดเสวนาในครั้งนี้ว่า สอบ.ต้องการเปิดเผยข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ที่รัฐประกาศให้มีผลในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 ทั้งยังต้องการใช้เวทีนี้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลเฟ้นหาข้อเสนอเพื่อส่งต่อไปยังภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระจากนโยบายที่รัฐกำหนด โดยขาดความเป็นธรรมแก่ภาคประชาชน ทั้งยังต้องการสะท้อนให้รัฐเห็นถึงผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมที่อาจคิดไม่รอบ

ผศ.ประสาท มีแต้ม : ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สอบ.

หากวิเคราะห์ถึงภาพรวมสถานการณ์การใช้พลังงานของประเทศไทย ที่ ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สอบ. พบจะเห็นว่า ในแต่ละปี ไทยใช้พลังงานประมาณ 2,000,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นค่าการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 700,000 ล้านบาท โดยข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ไทยมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2552 ไทยสามารถพึ่งตนเองได้ร้อยละ 46 ที่เหลือเป็นการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ แต่ในปี 2565 ไทยสามารถพึ่งตนเองเหลือเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานก็ยากที่จะช่วยเหลือตนเองได้

“ไทยละเลยและมองข้ามความสำคัญของพลังงานแสงอาทิตย์จนประเทศขาดภูมิคุ้มกันหากเกิดวิกฤตพลังงานขึ้น” ผศ.ประสาท กล่าวถึงความผิดพลาดเชิงนโยบายของรัฐบาลในแต่ละยุคที่ผ่านมาว่า หากพิจารณาเชิงนโยบายด้านการสรรหาแหล่งพลังงานเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าจะเห็นว่า นโยบายของไทยแตกต่างไปจากหลายประเทศทั่วโลก ที่ล้วนให้ความสำคัญอย่างมาก และส่งเสริมให้คนในประเทศหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก ขณะที่ไทยมีปริมาณแสงอาทิตย์จำนวนมาก แต่กลับไม่ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ ทั้งยังกำหนดราคาซื้อขายไฟฟ้าที่ไม่เท่ากัน โดยราคาซื้อเข้าแพง แต่กลับขายถูก

ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยจะใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตประมาณ 3 บาท แต่ถ้าไทยปรับนโยบายโดยนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ผลิตไฟฟ้าในปริมาณเท่ากับประเทศเยอรมนีที่ 51,000 ล้านหน่วย ไทยจะประหยัดค่าก๊าซธรรมชาติไปได้ถึง 150,000 ล้านบาท

“ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศต้องซื้อมาจากทั้งภาคเอกชนและต่างประเทศ หากเรายังกำหนดนโยบายใช้ก๊าซธรรมชาติมาเป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้า ย่อมส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งเพิ่มความลำบากให้แก่ประชาชนในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นในปัจจุบัน ที่สำคัญ หากเกิดภาวะขาดแคลน รัฐควรปรับนโยบายให้ประชาชนได้ใช้ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในไทยก่อนภาคอุตสาหกรรม เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติที่แม้ไม่ได้ใช้ ก็ยังต้องจ่ายเงินให้เอกชน ทั้งยังกำหนดเงื่อนไขให้ปรับราคาเพิ่มตามราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งไม่เป็นธรรม เพราะการสร้างท่อเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียว จึงไม่ควรกำหนดเช่นนี้ ซึ่งเห็นได้จากการที่รัฐต้องจ่ายค่าผ่านท่อให้แก่โรงงานผลิตไฟฟ้า 6 แห่ง ช่วงมกราคม – เมษายน 2565 สูงเกือบ 3,000 ล้านบาท ทั้งที่ไม่มีการผลิตไฟฟ้าแต่อย่างใด” ผศ.ประสาท เสริม

ปัจจุบัน การผลิตไฟฟ้าในไทยมีแหล่งผลิตจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และขนาดเล็กของภาคเอกชน โดยบางส่วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ โรงผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ในปัจจุบันมีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าได้สูงถึงร้อยละ 31 แต่กลับผลิตไฟฟ้าได้เพียงร้อยละ 23 ซึ่งแต่ละเปอร์เซ็นต์ที่หายไปนั้นมีมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท และไม่สอดคล้องกับกติกาสากล ที่กำหนดอัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าต้องอยู่ที่ร้อยละ 80 – 90 แต่พบว่าโรงไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 35 และโรงไฟฟ้ารายย่อย (SPP) มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 63 เท่านั้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าไฟแพง

ทางออกของปัญหานี้ คือ ต้องสร้างให้เกิดประชาธิปไตยการใช้พลังงาน จริง ๆ แล้วกระทรวงพลังงานเคยส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมทำการวิจัยกับองค์กรพลังงานสากล (IEA) ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ไทยต้องยืดหยุ่นในการวางกรอบนโยบายพลังงาน แต่ไทยกลับทำสัญญากับภาคเอกชนแบบไม่ใช้ก็ต้องจ่าย เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจก็ไม่สามารถปรับตัวได้ แม้ประชาชนไม่ได้ใช้ไฟฟ้า ก็ยังต้องจ่ายเงินเท่าเดิม นอกจากนี้ ยังต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงไปตรงมา เท่าเทียม และมีความเป็นธรรม จะขึ้นราคาโดยคำนึงถึงมุมมองเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้

“อยากให้รัฐกระจายการผลิตไฟฟ้าไปสู่ท้องถิ่น ให้กำกับดูแลโดยท้องถิ่น และรับผลประโยชน์โดยท้องถิ่น ไม่ใช่การผูกขาดแบบปัจจุบัน ส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องมีอัตราการปล่อยที่ต่ำ ซึ่งจะช่วยให้เกิดประชาธิปไตยการใช้พลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ กระแสเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปพลังงานในไทยมีมานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากทุกรัฐบาลที่ผ่านมา จนทำให้อัตราการพึ่งตนเองด้านพลังงานของไทยลดต่ำลง เพราะรัฐปล่อยให้คนขายพลังงานกำหนดนโยบายด้านพลังงานมานาน จึงขอให้ยุติแนวทางดังกล่าว และหันมามองผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก” ผศ.ประสาท เรียกร้อง

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา : รองเลขาธิการ สอบ.

ด้านอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการ สอบ.เปิดเผยข้อมูลสำคัญที่ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงว่า ปัจจุบันไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งระบบอยู่ที่ 46,136.4 เมกะวัตต์ ที่น่าสังเกต คือ กฟผ.ไม่ใช่หน่วยงานหลักในการผลิตไฟฟ้าอีกต่อไป เพราะผลิตได้เพียงร้อยละ 33.64 หรือ 15,520 เมกะวัตต์เท่านั้น ทำให้ขาดอำนาจในการถ่วงดุลเรื่องราคาค่าไฟฟ้า เพราะที่เหลือเป็นการผลิตโดยภาคเอกชน และนำเข้าจากลาวเป็นส่วนใหญ่ รวม 30,600 เมกะวัตต์หรือประมาณร้อยละ 66.36

หากพิจารณากำลังการผลิตไฟฟ้ากับยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือที่เรียกว่าพีคไฟฟ้า พบว่าค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 30,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่ไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 46,136.4 เมกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการไฟฟ้าในประเทศ และเมื่อปริมาณการผลิตไฟฟ้าเกินความจำเป็นก็ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่ม ค่าไฟฟ้าจึงพุ่งสูงขึ้น โดยนักวิชาการหลายท่านระบุว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยมีเกินความต้องการ เป็นเหตุให้หลายโรงงานต้องหยุดการผลิตนานกว่า 2 ปี แต่ประชาชนยังต้องจ่ายค่าไฟฟ้าบวกค่าปรับให้แก่โรงงานที่หยุดผลิตดังกล่าวมาโดยตลอด ซึ่งไม่เป็นธรรม

“จากการเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พบว่าค่าซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนรายใหญ่อยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูงประมาณ 3.60 บาทต่อหน่วย ขณะที่รับซื้อจากรายย่อยอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย และ กฟผ.นำมาขายส่งอยู่ที่ 2.57 บาทต่อหน่วยเท่านั้น โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ข่าวว่า กกพ. มีมติให้ขึ้นค่าเอฟที (FT) หรือค่าไฟฟ้าผันแปรรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็น 4 บาทต่อหน่วย โดยให้เหตุผลว่าราคาต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งยังไม่ได้ข้อสรุปจากการเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด” อิฐบูรณ์ เผย

“ข้อมูลที่เราพบอีกประการหนึ่งจากข้อมูลที่ กฟผ.รายงานต่อ กกพ. พบว่า มีการถ่ายอำนาจการผลิตจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ไปยังรายย่อย โดยผู้ผลิตรายใหญ่ขายไฟฟ้าให้ กฟผ. เพียงแค่ร้อยละ 23 เท่านั้น ในขณะที่ ผู้ผลิตรายย่อยกลับขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ถึงร้อยละ 26 ส่งผลให้ กฟผ.ต้องรับซื้อไฟฟ้าในราคา 4 บาทต่อหน่วย เพราะส่วนใหญ่ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตทำให้มีต้นทุนสูง และการซื้อไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตที่สูงในปริมาณที่มากก็ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง แทนที่รัฐจะเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงที่ต้นเหตุ แต่เลือกที่จะบอกให้ประชาชนประหยัดการใช้ไฟ ซึ่งเป็นปลายเหตุแทน” อิฐบูรณ์ แจง

ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน : นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน

ปัญหาการผลิตไฟฟ้าที่มากกว่าความต้องการนั้น ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า ปกติแต่ละประเทศจะผลิตไฟฟ้าสำรองไว้ใช้ยามเกิดเหตุฉุกเฉินประเทศไทยก็เช่นกัน ได้กำหนดไฟฟ้าสำรองไว้ที่ร้อยละ 15 หรือ 4,500 เมกะวัตต์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินความต้องการ ตั้งแต่ปี 2559 ที่ผลิตไฟฟ้าสำรองไว้สูงถึง 7,000 เมกะวัตต์ จนปัจจุบัน ผลิตไฟฟ้าสำรองไว้สูงถึง 12,000 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องใช้ต้นทุนการผลิตสูง และกลายเป็นภาระค่าไฟฟ้าส่วนเกินสูงถึง 48,929 ล้านบาทต่อปี ที่ประชาชนต้องแบกรับในปัจจุบัน หรือคิดเป็นค่าไฟฟ้าที่คนไทยต้องจ่ายโดยเฉลี่ยที่ 2,000 บาทต่อคนต่อปี ทั้งยังสูญเสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์ด้วย

การกำหนดเงื่อนไขการผลิตป้อนรัฐแบบไม่ใช้ก็ต้องจ่ายค่าตอบแทน (take or pay) ที่รัฐทำสัญญาประกันความเสี่ยงสำหรับผู้ลงทุนไว้ ทำให้ไม่ว่าจะเดินเครื่องการผลิตหรือไม่ก็ต้องประกันค่าตอบแทนการลงทุนในรูปของการชำระค่าความพร้อมจ่าย (ability payment : ap)

“โรงผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ในไทยปัจจุบันมีประมาณ 12 แห่ง ซึ่ง 3 ใน 4แห่งดำเนินการโดยกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งถือว่าค่อนข้างผูกขาดอย่างชัดเจน และในส่วนที่เหลือดำเนินการโดยราช กรุ๊ป และโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ซึ่งมี ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หากไม่มีการผลิตไฟฟ้าในกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะทำให้ประชาชนต้องชำระค่าความพร้อมจ่ายสูงถึง 2,550 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 22,000 ล้านบาทต่อปี และที่สำคัญโรงผลิตไฟฟ้าเหล่านี้ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า” ชื่นชม กล่าว

ช่วงต้นปี 2564 พบว่า ปตท. เป็นกิจการที่ถือหุ้นร้อยละ 50 โดยกระทรวงการคลังนำก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ในคลังสำรองจำนวนมากส่งออกไปจำหน่ายในญี่ปุ่น ซึ่งสามารถสร้างผลกำไรได้สูงมาก

ช่วงปลายปี 2564 พบว่า ไทยประสบปัญหา ก๊าซธรรมชาติสำรองมีไม่เพียงพอ ประกอบกับปริมาณการผลิตของแท่นก๊าซในอ่าวไทยลดลงกว่าปกติประมาณร้อยละ 5 ส่งผลให้ กฟผ. จำเป็นต้องสั่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาทะยานสูงขึ้นมากประมาณ 800 บาทต่อล้านบีทียู ในขณะที่ช่วงต้นปี 2564 มีราคาเพียงแค่ 180 บาทต่อล้านบีทียูเท่านั้น

หลายฝ่ายจึงตั้งคำถามว่าการที่ ปตท.นำก๊าซธรรมชาติไปทำกำไรในต่างประเทศแล้ว พอก๊าซราคาเพิ่มสูงขึ้นได้ซื้อกลับมาสำรองไว้ทดแทนหรือไม่ และส่วนกำไรที่ได้นั้นตกเป็นของ ปตท. หรือไม่ ที่สำคัญเมื่อมีปริมาณก๊าซไม่เพียงพอในการผลิตไฟฟ้าจนทำให้ กฟผ.ต้องซื้อก๊าซธรรมชาติในราคาที่สูงแต่ฝ่ายเดียว และเมื่อต้นทุนสูง ภาระดังกล่าวก็ถูกส่งต่อมายังประชาชนปตท.ชดเชยผลกระทบในส่วนนี้หรือไม่” ชื่นชม ตั้งข้อสังเกต

ปัจจุบัน องค์ประกอบของราคาก๊าซคิดจากค่าเนื้อก๊าซและค่ากำไรบวกเพิ่ม โดยโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) จะคิดที่ร้อยละ 1.75 ขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) คิดอยู่ที่ร้อยละ 9.33 ซึ่งยังไม่รวมค่าผ่านท่อ ที่คิดที่ 21.7 บาทต่อล้านบีทียู จะทำอย่างไรที่จะสร้างให้เกิดสมดุลราคาเพื่อแก้ปัญหาค่าไฟแพง และเมื่อดูข้อมูลการขายไฟให้แก่ กฟผ. พบว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) เป็นผู้ขายไฟฟ้าให้ กฟผ.มากสุดถึงร้อยละ 30 จึงเป็นไปได้หรือไม่ หากปรับค่ากำไรบวกเพิ่มของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กให้เท่ากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ร้อยละ 1.75 เพราะหากทำได้ก็จะช่วยลดราคาค่าไฟฟ้าได้ก่อนถึงมือผู้บริโภค ไม่เป็นการแสวงหากำไรเกินควร

นอกจากนี้ การนำราคาก๊าซไปผูกกับราคาค่าขนส่งผ่านท่อก็ควรต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน โดยเสนอให้กำหนดเพดานราคาก๊าซไม่เกิน 200 บาทต่อล้านบีทียู และกำหนดค่าประสิทธิภาพที่ร้อยละ 2 ดังเช่นที่ทำมาในอดีต เพียงแค่นี้จะทำให้ประเทศลดภาระค่าไฟฟ้าได้ประมาณกว่า 500 ล้านบาทต่อปี หากปรับค่ากำไรบวกเพิ่มและค่าขนส่งแล้วจะทำให้ประเทศประหยัดเงินได้ถึง 9,000 ล้านบาทต่อปี อีกประการสำคัญที่ลืมไม่ได้คือเงื่อนไขใช้ก็ต้องจ่าย ซึ่งเมื่อปี 2564 อยู่ที่ 125,888 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าผ่านท่อขยับเพิ่มสูงถึงกว่า 40 บาทต่อล้านบีทียู ทั้งที่ควรจะอยู่ที่ 22 บาทต่อล้านบีทียู

ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า การประมาณการเกินความเป็นจริงส่งผลให้เกิดการลงทุนเกินจำเป็น และตกเป็นภาระของผู้บริโภคในที่สุด ซึ่งรัฐควรทบทวนแผนการลงทุนให้รอบคอบว่ามีความต้องการรองรับจริงหรือไม่ และจัดสรรต้นทุนให้เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น โดยควรใช้ราคาที่ผลิตจากอ่าวไทย ไม่ควรนำไปเทียบกับราคาที่สั่งนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภค ในขณะที่ ปิโตรเคมีบางส่วนใช้ในประเทศ บางส่วนเพื่อการส่งออก จึงต้องดูว่า เหตุใดเราถึงยินยอมให้ปิโตรเคมีใช้ก๊าซคุณภาพสูงในราคาต่ำ ในขณะที่ ผู้บริโภคกลับต้องมารับต้นทุนค่าไฟจากราคาเนื้อก๊าซที่มีราคาแพงที่นำเข้าจากต่างประเทศ

เหตุผลที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบนี้ คือ ก๊าซจากอ่าวไทย ที่พอนำมาเข้าโรงแยกก๊าซแล้วพบว่า ส่วนหนึ่งใช้เพื่อการผลิตก๊าซหุงต้ม (LPG) ซึ่งก๊าซหุงต้มที่ผลิตทั้งหมดไม่ได้นำมาใช้เพื่อครัวเรือน เพราะใช้แค่เพียงร้อยละ 35 เท่านั้น ที่เหลือถูกนำไปใช้ผลิตปิโตรเคมีและใช้เพื่อภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยส่งออกปิโตรเคมีมากถึงร้อยละ 50 – 60 และส่วนใหญ่นำไปเพื่อค้ากำไรต่างประเทศ ราคาที่ปิโตรเคมีได้รับอยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อล้านบีทียู ทำให้ ปตท.ได้กำไรแบบส้มหล่น

“อยากเสนอให้นำราคาก๊าซอ่าวไทยมาเกลี่ยหาราคากลางร่วมกับก๊าซนำเข้าด้วย ถ้าทำตามวิธีนี้จะสามารถลดภาระต้นทุนค่าไฟช่วงกันยายน 2564 – สิงหาคม 2565 ได้ถึง 40,000 ล้านบาทต่อปี และหากลดกำไร รวมถึงค่าผ่านท่อ พร้อมเกลี่ยต้นทุนก๊าซแล้วจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐได้มากถึง 49,500 ล้านบาทต่อปี ทั้งยังเป็นการจัดสรรผลประโยชน์ของก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศของเราเองในรูปแบบที่มีความเป็นธรรมมากขึ้นระหว่างผู้ใช้ไฟและผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเคมี” ชื่นชม ชี้แจง

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี : นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน

เช่นเดียวกับข้อกังขาจากนักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่มองว่าปัญหาค่าไฟแพงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย พร้อมเรียกร้องให้รัฐต้องเว้นระยะห่างเพื่อลดภาพการเอื้อประโยชน์ต่อภาคเอกชน

“ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐเองทราบปัญหาดังกล่าวนี้ดี และจากการเก็บข้อมูลของตนพบว่า ค่าไฟที่คนไทยจ่ายในปัจจุบันแพงที่สุดในอาเซียน โดยค่าไฟในอาเซียนเฉลี่ยอยู่ที่ 2 บาทต่อหน่วยเท่านั้น หรือแม้แต่ในหลายรัฐของอเมริกาก็ยังมีค่าไฟที่ถูกกว่าไทย ซึ่งสิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าการทำงานของรัฐไม่เคยเปรียบเทียบว่าดีกว่าหรือแย่กว่าอาเซียน แต่กลับอ้างถึงความจำเป็นมาโดยตลอด มุ่งเน้นที่จะสร้างหลักประกันผลกำไรให้แก่ภาคธุรกิจเป็นสำคัญ ไม่ได้เน้นคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคแต่อย่างใด ซึ่งแน่นอนว่าภาระก็ต้องตกอยู่กับภาคประชาชน”

อีกสิ่งหนึ่งที่มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ความสัมพันธ์ของคนในภาครัฐและเอกชน เพราะกฎหมายไทยอนุญาตให้คนของภาครัฐไปนั่งในธุรกิจเอกชนได้ โดยเฉพาะหน่วยงานที่รัฐหรือรัฐวิสาหกิจถือหุ้นอยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งทำให้ไม่มีการเว้นระยะระหว่างรัฐและเอกชน เข้าไปสู่ทฤษฎีที่ชี้ให้เห็นว่าเอกชนอาจเข้าไปมีอำนาจในการกำหนดนโยบายของรัฐหรือไม่ ซึ่งอยากฝากให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติจำเป็นที่ต้องตอบข้อสงสัยเหล่านี้ให้เกิดความกระจ่างชัดในสังคม

รสนา โตสิตระกูล : อดีตวุฒิสมาชิก กรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ รสนา โตสิตระกูล อดีตวุฒิสมาชิก กรุงเทพมหานคร ร่วมฝากคำถามถึงภาครัฐเกี่ยวกับปัญหาด้านการกำหนดนโยบายพลังงานเพิ่มเติมว่า การสร้างระบบฝากขายก๊าซธรรมชาติของภาครัฐนั้นมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงไร จะสร้างความเสียเปรียบให้แก่ภาครัฐหรือไม่ ต้องนำมาพิจารณาทบทวน

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องการจ่ายค่าผ่านท่อที่แปรผันไปตามราคาก๊าซนั้น ในปัจจุบันยังเป็นข้อพิพาทในชั้นศาล และอยากให้ชี้แจงขั้นตอนการคิดค่าผ่านท่อให้สาธารณชนทราบอย่างชัดเจน เพื่อให้เห็นว่า วิธีกำหนดราคาเช่นนี้เป็นธรรมต่อประชาชน หรือเป็นการหารายได้จากความเดือดร้อนของประชาชนหรือไม่ และเมื่อเกิดการขาดแคลน รัฐสามารถดำเนินการให้ กฟผ. สามารถใช้ก๊าซสำรองได้หรือไม่ หรือเป็นการหาประโยชน์ในช่วงที่ประชาชนเดือดร้อน

พันโทแพทย์หญิงกมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี : เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ

ขณะที่ พันโท แพทย์หญิงกมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ร่วมแสดงความเห็นว่า โดยปกติราคาค่าไฟฟ้าจะคิดจากราคาก๊าซและอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก แต่สำหรับประเทศไทยไม่ได้นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการกำกับราคาค่าไฟฟ้าแต่อย่างใด แม้ในช่วงที่ราคาก๊าซปรับตัวลดลง แต่รัฐก็ไม่ได้ประกาศลดค่าไฟให้ประชาชนแต่อย่างใด รวมถึงอีกหลาย ๆ ปัญหา ทั้งเรื่องการคิดค่าผ่านท่อที่ไม่เป็นธรรมด้วย จากการเข้าไปสำรวจข้อมูลทางเว็บไซต์ของ กฟผ. พบว่า มีการซื้อก๊าซจาก ปตท. ที่ราคา 390 บาทต่อล้านบีทียูเพื่อนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า ในขณะที่ราคาก๊าซในตลาดโลกมีราคาแค่ 150 บาทต่อล้านบีทียูเท่านั้น ซึ่งต่างกันถึง 3 เท่า

สอดคล้องกับข้อมูลของเว็บไซต์ของกรมเชื้อเพลิงที่พบว่า ราคาก๊าซอยู่ที่ 190 บาทต่อล้านบีทียู จึงทำให้ต้องย้อนกลับไปดูข้อมูลและพบว่า มีประกาศของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ระบุเงื่อนไขราคารับซื้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาปากหลุมประมาณ 2 เท่า ซึ่งน่าจะเป็นการใช้สูตรการคำนวณราคาดังกล่าวในการคิดราคา ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก โดย ปตท. ได้กลายเป็นเสือนอนกินจากข้อกำหนดดังกล่าว ซึ่งถือเป็นจุดบกพร่องของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กฟผ. และ ปตท.อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ สอบ.ควรมีท่าทีที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้น เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไข ซึ่งยังไม่รวมถึงอัตราสัดส่วนการบริโภคไฟฟ้าที่มีภาคธุรกิจขนาดใหญ่ใช้อยู่มากกว่าร้อยละ 40 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ ที่ควรต้องนำมาพิจารณาด้วยเช่นกัน

แม้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะหยุดผลิตไฟฟ้า และรับค่าพร้อมจ่ายจากภาครัฐมาเป็นเวลานาน เหตุเพราะปริมาณไฟฟ้าล้นตลาดนั้น แต่รัฐก็ยังคงซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาใช้ในประเทศซึ่งดูขัดแย้งในเหตุผล โดยไทยรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศลาว 7 โรง รวมกำลังผลิตอยู่ที่ 3,947 เมกะวัตต์ มีราคาต้นทุนอยู่ที่ 2 บาทต่อหน่วย แต่จากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบในการจัดซื้อไฟฟ้าของเขื่อนหลวงพระบาง ที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.84 บาทต่อหน่วย และเขื่อนปากแบงที่ 2.9 บาทต่อหน่วย จึงทำให้เห็นว่าการซื้อไฟดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้ค่าไฟในประเทศลดลงได้เลย ยิ่งไปกว่านั้นองค์การยูเนสโกยังเป็นห่วง เพราะเป็นที่ทราบดีว่าหลวงพระบางเป็นเมืองอนุรักษ์ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของโลกด้วย ซึ่งเขื่อนดังกล่าวจะสร้างขึ้นทางตอนเหนือของประเทศ และคาดกันว่าจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในเขตเมืองกว่า 6 หมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 465 ครัวเรือน โดยเขื่อนหลวงพระบางมีบริษัทในไทยร่วมถือหุ้นคือ ช.การช่าง ส่วนเขื่อนปากแบง เป็นความร่วมมือระหว่างเอกชนจีนและรัฐบาลลาว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องกับชุมชนโดยรอบ ทั้งด้านการดำรงชีวิตและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม

อำนาจ ไตรจักร : ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง

ด้านอำนาจ ไตรจักร ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ร่วมสะท้อนถึงผลกระทบที่ได้รับจากการสร้างเขื่อนว่า ก่อนหน้าที่จะมีการสร้างเขื่อนในลาวก็เริ่มได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในจีน แต่พอมีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้สภาพแวดล้อมของแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ส่งผลกระทบทั้งด้านการเกษตร น้ำขาดแคลนเกิดสันดอนทราย การประมงก็ไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้เหมือนเดิม ด้านประเพณีวัฒนธรรมเก่าต่าง ๆ เช่น การลอยกระทง และการแข่งเรือเริ่มหดหายไป รวมถึงระบบนิเวศป่าไม้ที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งการที่รัฐบาลลงนามซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในลาวเป็นการตัดสินใจที่ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนไทยที่อาศัยริมฝั่งโขงเลย และความเดือดร้อนก็จะขยายวงไปสู่คนไทยที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสาขา เพราะเมื่อน้ำโขงแห้ง น้ำในแม่น้ำสาขาก็แห้งด้วยเช่นกัน

อดีตเมื่อน้ำขึ้น ก็จะมีปลาว่ายมาตามน้ำ และเมื่อน้ำลด ผู้คนก็ได้อาศัยจับปลามาบริโภค หากน้ำแห้ง วงจรดังกล่าวก็สูญสิ้น ความเป็นอยู่ของผู้คนก็ลำบากมากขึ้น ซึ่งล้วนเป็นเหตุมาจากการสร้างเขื่อน พี่น้องริมฝั่งโขงจะอยู่อาศัยต่อไปได้อย่างไร อยากฝากคำถามไปยังรัฐบาลว่า ทำไมถึงไม่นำประโยชน์ที่ได้จากพลังงานทดแทนมาใช้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พี่น้องเราก็จะไม่เดือดร้อน เขาต้องการให้รัฐหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่หาประโยชน์จากการสร้างเขื่อน ช่วยลงมาหารือกับพี่น้องในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อศึกษาเชิงลึกว่าสามารถทำจริงได้หรือไม่ ผ่านการทำประชาพิจารณ์ที่โปร่งใสให้ได้ความเห็นจริงจากประชาชน

ศลันย์ ธนากรภักดี : กลุ่มทวงคืนพลังงานไทย

นอกจากนี้ ศลันย์ ธนากรภักดี กลุ่มทวงคืนพลังงานไทย ยังได้แสดงความเห็นช่วงปิดท้ายเวทีเสวนาว่า มติสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในเดือนพฤษภาคม 2559 ระบุชัดเจนว่า ปตท.ส่งรายงานเท็จให้ศาลปกครองสูงสุดในการนำส่งคืนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ดังนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ส่งคืนระบบท่อขนส่งระบบปิโตรเลียม จึงพบว่าประชาชนได้จ่ายผลประโยชน์ทุจริตให้ ปตท.ไม่ต่ำกว่า 600,000 ล้านบาท และประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี ที่เป็นผลประโยชน์ทุจริตจากการคิดค่าผ่านท่อ ที่ ปตท. ผูกขาดบังคับเรียกเอาจากประชาชน

จากที่ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังประธานวุฒิสภาครั้งล่าสุด ซึ่งได้เห็นพ้องด้วยที่จะให้กรมสนธิสัญญาส่งรายงานการทุจริตของประเทศไทยไปให้สหประชาชาติเป็นผู้ตรวจสอบการทุจริตในระบบตุลาการของประเทศไทย ที่มาจากการทุจริตของตุลาการศาลปกครองและผู้พิพากษาศาลยุติธรรม จึงย้ำว่า ประชาชนไม่ควรจ่ายผลประโยชน์ทุจริตในกิจการพลังงาน ให้เอากำไรที่เกินสมควรออกไปจากค่าไฟฟ้า จึงอยากเสนอเพิ่มโดยให้นำผลประโยชน์ทุจริตที่ ปตท.ได้รับผ่านค่าผ่านท่อออกไปจากค่าไฟฟ้าด้วย
 
ทั้งนี้ อีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยลดผลกระทบเรื่องค่าไฟฟ้าแพงให้แก่ประชาชน คือ การที่รัฐต้องเร่งส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ โดยรับซื้อไฟที่ 10 เมกะวัตต์ ด้วยราคารับซื้อที่ 2.20 บาทต่อหน่วย กำหนดระยะเวลาซื้อ 10 ปี ซึ่งหากเป็นไปได้ อยากให้ขยายระยะเวลาการรับซื้อให้เพิ่มขึ้นเป็น 20-25 ปีตามอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ โดยในส่วนนี้จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เข้ามาเป็นผู้กำหนดนโยบายต่อไป

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค