ค่าไฟแพง: ตรึงราคา…ไม่ใช่คำตอบ

Getting your Trinity Audio player ready...
ค่าไฟแพง: ตรึงราคา...ไม่ใช่คำตอบ

การประกาศตรึงราคาค่าไฟของรัฐบาลเป็นเพียงการซื้อเวลาโดยใช้ภาษีของประชาชน ทางออกที่แท้จริงของปัญหา ค่าไฟแพง คือการแก้โครงสร้างราคาค่าไฟ จัดการปัญหาไฟล้นระบบ ยกเลิกสัญญาไม่ใช้ก็ต้องจ่าย และปรับแผนพลังงานของชาติ ให้มุ่งเน้นพลังงานสะอาด สอดคล้องกับบริบทของสังคมปัจจุบัน

บทวิเคราะห์

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม รัฐบาลได้ประกาศตรึงค่าไฟที่ 3.99 บาทต่อหน่วยไปจนถึงสิ้นปี 2568โดยให้เหตุผลว่าเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนในภาวะเศรษฐกิจตึงเครียด แม้ฟังดูน่าชื่นใจในระยะสั้น แต่คำถามสำคัญคือ… นี่คือทางออกที่ยั่งยืนจริงหรือ?

ความจริงเบื้องหลังค่าไฟแพงในประเทศไทยนั้นลึกและซับซ้อนกว่าที่คิด และการตรึงราคาชั่วคราว อาจเป็นเพียง “ยาแก้ปวด” ที่ไม่ได้รักษาต้นเหตุ

ค่าไฟแพง เพราะรัฐวางแผนล้มเหลว

ทุกวันนี้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟแพง ที่เกิดจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือแผนพีดีพี (PDP : Power Development Plan) ที่ล้มเหลว เนื่องจากแผนพีดีพี เป็นแผนแม่บทที่กำหนดการลงทุนขยายระบบไฟฟ้าในประเทศไทยว่าต้องสำรองไฟมากน้อยเพียงใด จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าประเภทใด ถูกสร้างเมื่อไหร่ โดยใคร จำนวนกี่โรง โดยปัจจุบันแผนพีดีพีของไทยกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการปรับปรุงจากแผนปี 2561 (2018) (ฉบับปรับปรุง 1) โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นไปตั้งแต่กลางปี 2567 (2024) จนปัจจุบันผ่านไปกว่าหนึ่งปีก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเสร็จ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญของแผนพีดีพี ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าไฟที่ประชาชนอย่างเราต้องจ่าย คือ การวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าที่มากเกินไป ส่งผลให้ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าเอกชนเกินความต้องการอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก สิ่งที่ตามมาคือ ที่เรียกว่า “ไฟฟ้าสำรองล้นระบบ”

อ้างอิงจากตัวเลขกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของปี 2566 อยู่ที่ 48,798.8 เมกะวัตต์  (ข้อมูลวันที่ 31 สิงหาคม 2566)  ขณะที่กำลังการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเท่ากับ 34,130.5 เมกะวัตต์  (ข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2566) ส่งผลให้มีกำลังไฟฟ้าเกินความต้องการสูงถึง 14,668.3 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 43% ทั้งที่มาตรฐานสากลกำหนดว่ากำลังไฟฟ้าสำรองในระบบควรมีไม่เกิน 15% หรือ 39,250.8 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าไฟฟ้าที่ล้นระบเหล่านี้…มีค่าใช้จ่าย

ค่าไฟแพง เพราะนโยบายรัฐ เอื้อเอกชน

นอกจากการวางแผนที่ล้มเหลวแล้ว นโยบายของรัฐก็มีส่วนที่ทำให้ค่าไฟแพง เพราะโรงไฟฟ้าเอกชนที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น หากเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ที่มีกำลังผลิตมากกว่า 90 เมกะวัตต์ หรือผู้ผลิตขนาดเล็กที่ใช้พลังงานจากฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และมีกำลังผลิตระหว่าง 10 – 90 เมกะวัตต์ จะมีสัญญาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่กำหนดให้มี “ค่าพร้อมจ่ายไฟฟ้า” ซึ่งมีเงื่อนไขแบบ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” (Take or pay)

เพื่อสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนว่า โรงไฟฟ้าจะพร้อมเดินเครื่องตลอดเวลา ไฟฟ้าจะต้องไม่ดับ และเป็นเงินประกันการลงทุนให้กับนักลงทุนผู้สร้างโรงไฟฟ้า ส่งผลให้แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีปริมาณไฟสำรองล้นระบบ และโรงไฟฟ้าบางโรงไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยซ้ำ แต่รัฐยังต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้เอกชน กลายเป็นต้นทุนที่ถ่ายโอนไปยังบิลค่าไฟของประชาชนทุกคน

ยกตัวอย่างเช่น การประมาณการซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ของค่าเอฟที งวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 ซื้อไฟฟ้าทั้งหมด 18,336.88 ล้านหน่วย รวมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 66,696 ล้านบาท ในค่าใช้จ่ายนี้เป็นค่าความพร้อมจ่ายที่จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจำนวน 6 โรง คือ โรงไฟฟ้าโกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ โรงไฟฟ้าโกลว์ ไอพีพี โรงไฟฟ้าอีสเทิร์น เพาเวอร์ แอนด์ อิลคทริค โรงไฟฟ้ากัลฟ์ เพาเวอร์  โรงไฟฟ้าราชบุรีพาวเวอร์ และโรงไฟฟ้า กัลฟ์ เจพี อุทัย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,187.47 ล้านบาท

นอกจากต้นทุนที่มาจากค่าความพร้อมจ่ายแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมากมายที่จะถูกคำนวณและบวกเข้ามาในค่าไฟฟ้าของเรา เช่น “ค่าผ่านท่อ” ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติมากกว่า 60% ของโรงไฟฟ้าทั้งหมด

ค่าใช้จ่ายที่ถูกเพิ่มเข้ามานี้ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าฟอสซิลเท่านั้น แต่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเอง รัฐบาลก็ได้กำหนดให้มีค่า “อัตราค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม” หรือแอดเดอร์ (Adder) โดยบวกเพิ่มจากอัตราค่าไฟฟ้าปกติเป็นระยะเวลา 7 หรือ 10 ปี ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โดยกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อในอัตราคงที่ตามประเภทเชื้อเพลิงต่างๆ 7 ปี และมีการอนุญาตให้สามารถต่ออายุสัญญาได้โดยอัตโนมัติทุก 5 ปี (จึงเท่ากับว่าเป็นสัญญาชั่วนิรันดร์) นอกจากนี้ยังมี “ความเสี่ยงจากความผันผวนของต้นทุนในการจัดหาเชื้อเพลิง” หรือ เอฟไอที  (FiT  : Feed-in-Tariff) และค่าใช้จ่ายในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้จะถูกนำมารวมในค่าเอฟทีที่อยู่ในบิลค่าไฟของเราทุกคน

ทางออกค่าไฟแพง ไม่ใช่แค่ “ตรึงราคา”

การตรึงราคาค่าไฟอาจช่วยบรรเทาในช่วงสั้น แต่หากไม่ปรับโครงสร้างพลังงานที่ไม่เป็นธรรมนี้ ปัญหาค่าไฟแพงจะยังคงอยู่ต่อไป และอาจแย่ลงในอนาคต

ทางออกที่แท้จริง เริ่มต้นจากการ ปรับแผนพีดีพี สร้างโรงไฟฟ้าเฉพาะที่จำเป็น หรือชะลอการสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อลดไฟฟ้าสำรองที่ล้นระบบ และ ยกเลิกการทำสัญญาแบบ Take or Pay หรือการที่ประชาชนต้องแบกภาระจ่ายค่าดำเนินการผลิตไฟฟ้าส่วนเกิน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการใช้ไฟเหล่านั้นจริง ซึ่งไม่เป็นธรรม และนำเงินส่วนต่างจากภาระที่ไม่จำเป็นนี้ ไปใช้ในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน อย่างโซลาร์เซลล์ ลม หรือพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ที่จะไม่เพียงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังทำให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้มากขึ้น ทั้งนี้ การหันไปพัฒนาพลังงานสะอาด ควรเป็นไปอย่างโปร่งใสเช่นกัน

หนุนประชาชนพึ่งพาตัวเองด้านพลังงาน

หัวใจสำคัญอีกอย่างของการแก้ปัญหาค่าไฟแพงในระยะยาว คือการ กระจายอำนาจการผลิตพลังงาน ให้ถึงมือประชาชน หนึ่งในวิธีที่ชัดเจน คือ การสนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา (Rooftop Solar)
เพื่อสนับสนุนการพึ่งพาตัวเองด้านพลังงาน

ทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจคือ โครงการ “ก๊วนหิวแสง” ทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค ที่สภาผู้บริโภคขอนำเสนอ

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง กองทุนแสงอาทิตย์ กับ วิสาหกิจเพื่อสังคมอาร์อีเจเนอเรชั่น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สภาผู้บริโภค และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumer International) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคทั่วไปที่สนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา สามารถรวมกลุ่มกันซื้อได้ในราคาที่ถูกลง พร้อมความมั่นใจด้านคุณภาพอุปกรณ์ และบริการหลังการขาย ถือเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้นพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน และเป็นการ ใช้พลังแสงอาทิตย์ สร้างพลังของประชาชน สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://collectivesolar.thailandsolarfund.org/ หรือไลน์ @collectivesolar ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 พฤษภาคม 2568

ถึงเวลาที่ประชาชนต้องมีบทบาทมากกว่าผู้จ่ายเงิน…แต่เป็นเจ้าของพลังงานเอง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กพช.เคาะค่าไฟฟ้า 3.99 บาท/หน่วย ตรึงถึงสิ้นปี

ค่าไฟ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” (Take or Pay) ปัจจัยค่าไฟแพง ที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

สภาผู้บริโภคหนุน กกพ.ให้รัฐทบทวน ‘ค่าแอดเดอร์’ พลังงานหมุนเวียน