ค่าไฟ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” (Take or Pay) จุดด่างในบิลค่าไฟฟ้า

ทุก ๆ เดือนของการชำระบิลค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่าย มีเงินจำนวนหนึ่งที่ถูกแบ่งออกไปจ่ายให้กับโรงงานไฟฟ้าเอกชนบางแห่งที่ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าแต่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายเงินที่เรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า” (Availability Payment) ภายใต้ลักษณะสัญญาแบบ Take or Pay หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” ซึ่งประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องมีส่วนรับผิดชอบกับสัญญาผูกมัดลักษณะนี้โดยไม่รู้ตัว เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำมาชำระให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนเหล่านี้ตามข้อผูกมัดในสัญญาที่ต้องจ่ายแม้ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าก็ตาม

หากเปรียบเทียก็เหมือนกับการที่องค์กรของรัฐ จ้างเอกชนทำสวนกล้วยยี่สิบแปลงเพราะคาดว่าประชากรจะมีมากพอที่จะรับประทานได้หมด โดยสัญญาว่าจะจ่ายค่าผลผลิตทั้งหมดทุกแปลง แม้ว่าท้ายที่สุดจะมีกล้วยที่ถูกนำไปรับประทานเพียงครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งต้องปล่อยให้ผลผลิตเน่าเสียก็ตาม สัญญาแบบ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” (Take or Pay) จึงสามารถดึงดูดเอกชนเข้ามาร่วมโครงการได้จำนวนมาก

ต้นเหตุการทำสัญญา “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย”

ปัญหาจากการที่รัฐบาลเปิดให้เอกชนสร้างโรงงานไฟฟ้ามากจนเกิดปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าเกินมาตรฐานนั้น เป็นเพราะมีการวางแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่คำนึงถึงความมั่นคงทางด้านพลังงานเกินความจำเป็น โดยไปกำหนดให้ประเทศมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด ทำให้มีการสนับสนุนเอกชนลงทุนธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเกินสมควร และในการอุดหนุนให้เอกชนเปิดโรงงานไฟฟ้านั้น โดย กฟผ. ก็ได้ทำสัญญาให้มี “ค่าพร้อมจ่ายไฟฟ้า” เพื่อสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนว่า ผลผลิตด้านไฟฟ้าว่าเอกชนจะได้รับเงินค่าผลิตไฟฟ้าไม่ว่าจะมีการนำไฟฟ้านั้นออกมาใช้หรือไม่ก็ตาม 

แม้ต่อมา สถานการณ์ได้ชี้ชัดว่ามีโรงงานไฟฟ้าเอกชนมากเกินความจำเป็น แต่รัฐบาลยังมีการทำสัญญาให้เอกชนเปิดโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนได้รับประกันการลงทุน แต่ไม่ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะเมื่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับภาระ “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า” หรือ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” ที่รวมอยู่ในบิลค่าไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าในแต่ละรอบบิล มูลค่า “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” มีประมาณกี่เปอร์เซนต์ของค่าไฟฟ้า

ผลผลิตล้นตลาด แต่รายรับไม่เคยตก

ตัวเลขการผลิตไฟฟ้า ณ เดือนมกราคม 2566 ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 53,384 เมกะวัตต์ แต่มียอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นในแต่ละปีนับแต่ปี 2562 – 2565 เพียงปีละประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ เท่านั้น ทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเกินไปปีละ 10,000 เมกะวัตต์ หรือมีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงถึงร้อยละ 50 ขณะที่ปริมาณสำรองไฟฟ้าตามมาตรฐานสากลของ IEA หรือทบวงพลังงานระหว่างประเทศ อยู่ที่ร้อยละ 10 – 15 เท่านั้น ก่อให้เกิดปัญหามีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPPs) ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่ยังได้รับเงิน “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า”

เรื่องที่หัวเราะไม่ออก เมื่อบิลมาพร้อมราคาค่าไฟที่ไม่ได้ใช้

ค่าซื้อไฟฟ้าและค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าที่ กฟผ. จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ซึ่งในขณะนี้มีอยู่ทั้งหมด 13 โรง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดถูกนำมาคำนวณในค่าเอฟที งวดเดือนมกราคม – เมษายน 2566 และงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 พบข้อมูลดังนี้

การประมาณค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. ของค่าเอฟที งวดเดือนมกราคม – เมษายน 2566 ซื้อไฟฟ้าทั้งหมด 18,436.19 ล้านหน่วย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 84,800 ล้านบาท โดยมีอัตราค่าซื้อไฟเฉลี่ยต่ำสุด 1.54 บาทต่อหน่วย และสูงสุด 9.85 บาทต่อหน่วย ในค่าใช้จ่ายนี้เป็นเงินที่จ่ายค่าความพร้อมจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตไฟจำนวน 2 โรงไฟฟ้า คือ โรงไฟฟ้าของบริษัทอีสเทิร์น เพาเวอร์ แอนด์ อิเลคทริค จำกัด (EPEC) และ โรงไฟฟ้าของบริษัทราชบุรีพาวเวอร์ จำกัด(RPCL) รวมเป็นเงิน 1,415 ล้านบาท

ในการประมาณการซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. ของค่าเอฟที งวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 ซื้อไฟฟ้าทั้งหมด 18,336.88 ล้านหน่วย รวมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 66,696 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดือนมกราคม – เมษายน เป็นเงิน 18,104.37 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 27 โดยมีอัตราค่าซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยต่ำสุด 1.4690 บาทต่อหน่วย และสูงสุดอยู่ที่ 12.0627 บาทต่อหน่วย ในค่าใช้จ่ายนี้เป็นค่าความพร้อมจ่ายที่จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจำนวน 6 โรง คือ โรงไฟฟ้าโกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) โรงไฟฟ้าโกลว์ ไอพีพี (GLOE IPP) โรงไฟฟ้าอีสเทิร์น เพาเวอร์ แอนด์ อิลคทริค (EPEC) โรงไฟฟ้ากัลฟ์ เพาเวอร์ (GPG) โรงไฟฟ้าราชบุรีพาวเวอร์ (RPCL) และโรงไฟฟ้า กัลฟ์ เจพี อุทัย (GSRC) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,187.47 ล้านบาท

หยุดจ้าง หยุดสร้าง หยุดบิลที่ไม่เป็นธรรม

สภาผู้บริโภคเสนอให้รัฐบาลยับยั้งการเพิ่มโรงไฟฟ้าเอกชน และทบทวนสัญญา “ค่าความพร้อมจ่าย” กับโรงไฟฟ้าเอกชนที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเนื่องจากไฟฟ้าล้นตลาด และให้ทบทวนการคิดค่าเอฟที โดยให้ลดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งทำให้มีค่าซื้อไฟฟ้าสูงถึง 4 – 10 บาทต่อหน่วยในปัจจุบัน พร้อมกับปรับลดเงินประกันกำไรของโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค