มหากาพย์ตึกสูงซอยแคบ รวมพลังชุมชนร่วมแก้ไข

พลังผู้บริโภค “ชุมชนพหลโยธิน 37” คัดค้านการก่อสร้างทางเท้า ที่ไม่ได้รับฟังความเห็นคนในชุมชนอย่างแท้จริง จนสำนักงานเขตยอมถอย ไม่สร้างทางเท้าตามความต้องการของชุมชนแล้ว

วันนี้ (15 พฤษภาคม 2567) สภาผู้บริโภคได้รับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนผู้ร้องชมชุมซอยพหลโยธิน 37 ในกรณีการก่อสร้างทางเท้าในซอยพหลโยธิน 37 ที่ไม่ได้สอบถามความเห็นของคนในชุมชน และเสนอให้สภาผู้บริโภคร่วมติดตามการก่อสร้างตึกสูงในซอยแคบ ที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

นายธีระ อัชกุล ตัวแทนชุมชนซอยพหลโยธิน 37 กล่าวถึงสาเหตุของการมายื่นหนังสือร้องเรียนครั้งนี้ว่า ก่อนหน้านี้หน่วยงานเขตจตุจักรมีแผนจะสร้างทางเท้าในซอยพหลโยธิน 37 ใช้งบประมาณเกือบ 4 ล้านบาท แต่ประชาชนในชุมชนได้ช่วยกันคัดค้านการก่อสร้างดังกล่าว เนื่องจากมองว่าการสร้างทางเท้าในถนนเส้นเดิมที่ความกว้างไม่ถึง 6 เมตร จะก่อให้เกิดปัญหาจราจร

“เดิมทีการเดินรถสวนกันในซอยก็ค่อนข้างลําบาก และการสร้างทางเท้ายกสูงขึ้นมา 20 เซนติเมตร บนถนนที่กว้างไม่ถึง 6 เมตร จะทำให้การจราจรติดขัดมาก และมองว่าการนำงบประมาณจากภาษีประชาชนมาทำอะไรให้กับประชาชน ต้องทำให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงและต้องสอบถามความต้องการของคนในพื้นที่”

นายธีระ กล่าวต่ออีกว่า ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับคนในชุมชนที่รวมตัวกันคัดค้านได้สำเร็จ ทำให้สำนักงานเขตฯ ยกเลิกการก่อสร้างไป และมีตัวแทนเขตเข้ามาพูดคุยถึงการนำงบประมาณที่ได้เข้ามาพัฒนาให้เป็นประโยชน์กับชุมชนอย่างแท้จริง โดยรับฟังความเห็นของคนในชุมชนร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีเอกสารชี้แจงจากสำนักงานเขตอย่างชัดเจน ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจจะมีแผนสร้างทางเท้าขึ้นอีกในอนาคต  นอกจากนี้ยังมีประเด็นการสร้างตึกสูงในซอยแคบของโครงการเดอะมูฟ พหลโยธิน 37 ที่ต้องติดตามต่อไป เนื่องจากตอนนี้อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (EIA ; Environmental Impact Assessment)  จึงมายื่นเรื่องที่สภาผู้บริโภคเพื่อเพื่อให้เป็นแนวร่วมในการติดตามเรื่องดังกล่าวต่อไป

“การรวมตัว พูดคุยกันด้วยเหตุผล และการมีเครือข่ายที่ช่วยสนับสนุนอย่างสภาผู้บริโภค ชุมชนประดิพัทธ์ 23 และสื่อต่าง ๆ ที่ช่วยเผยแพร่ข่าว สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่คอยสนับสนุนชุมชนซอยพหลโยธินให้กล้าลุกมาใช้สิทธิของตนเอง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ก็หวังว่าเรื่องราวจะผ่านไปด้วยดี” นายธีระกล่าว


ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค มีความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีว่า “เมื่อไหร่ที่ชุมชนมีความเข้มแข็ง การมีส่วนร่วมของชุมชนต่อประเด็นต่าง ๆ ก็จะมากขึ้น” ซึ่งจะเป็นตัวอย่างให้เขตอื่น ๆ ได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ เพื่อปกป้องสิทธิตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่แก้ไม่จบอย่างที่ผ่านมา

เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ยกตัวอย่างกรณีซอยร่วมฤดี ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการจัดการแม้ว่าจะมีคําพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดตั้งแต่เมื่อปี 2558 ว่าให้รื้อถอนอาคาร เนื่องจากการสร้างที่ผิดกฎหมาย แต่ปัจจุบันอาคารดังกล่าวก็ยังเปิดใช้งานและไม่ถูกรื้อถอน หรือกรณีแอสตันอโศกที่ขณะนี้ก็ยังไม่มีทางออกหรือการจัดการอย่างไรให้กับประชาชน นอกจากนี้ยังมีกรณีของ 3 ชุมชนที่มาร้องเรียนกับสภาผู้บริโภค ได้แก่ ชุมชนประดิพัทธ์ ซอย 23 รัชดา ซอย 44 และพหลโยธิน 37 ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นมหากาพย์ของการจัดการอาคารสูงที่ผิดกฎหมาย

นางสาวสารีตั้งข้อสังเกตว่า การสร้างทางเท้าสำหรับกรณีซอยพหลโยธิน 37 อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการสร้างตึกสูงในซอยแคบหรือไม่ แต่ต้องขอบคุณสำนักงานเขตจตุจักรที่รับฟังเสียงของคนในชุมชนและดำเนินการแก้ไข ซึ่งถือว่าเป็นทิศทางที่ดี ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคจึงขอเรียนไปยัง ผู้ว่ากรุงเทพมหานครช่วยกำกับดูแลเรื่องตึกสูงในซอยแคบที่ผิดกฎหมาย และไม่อยากให้เกิดกรณีที่ใช้การวางผังเมืองเป็นเครื่องมือในการสร้างอาคารสูงในซอยแคบให้ถูกกฎหมาย ขอให้ยึดคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก และจัดทำผังเมืองให้สอดคล้องกับการเป็นอยู่ของคนในชุมชนเดิม และสิ่งสำคัญคือความปลอดภัยของประชาชน และหวังว่าปัญหาตึกสูงในซอยแคบจะถูกจัดการอย่างเป็นระบบ

“แม้ว่าวันนี้จะมีเสียงจากคนในชุมชน 3 – 4 ชุมชน ที่ร้องเรียนเข้ามา แต่เชื่อว่าขณะนี้ปัญหาเรื่องนี้ได้กระจายตัวในกรุงเทพมหานครไม่น้อยแล้วก็เป็นปัญหาสำคัญ จึงขอเชิญชวนทุกคนกลับไปดูว่าอาคารใกล้บ้านเรา หรือเราอยู่ในอาคารสูงที่ก่อสร้างผิดกฎหมายหรือไม่ หากมีขอให้ร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภคเพราะเป็นสิทธิของผู้บริโภคโดยตรงที่จะได้รับความปลอดภัย และสภาผู้บริโภคขอยืนยันว่าเราจะทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้บริโภค ช่วยให้ผู้บริโภคมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป” นางสาวสารีกล่าวทิ้งท้าย


ด้าน นายก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง ระบุว่า ปัญหาอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบ เป็นเรื่องที่ถูกร้องเรียนไปที่สภาผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคต้องเป็นผู้ตรวจสอบว่าอาคารสูงที่กำลังก่อสร้างขึ้นในเขตชุมชนนั้นเป็นอาคารที่ได้รับอนุญาตถูกต้องและสามารถสร้างขึ้นโดยไม่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ทั้งที่ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ต้องเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว

นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ว่ามีไว้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร และรายงานผลกระทบดังกล่าวเป็นข้อมูลที่แท้จริงหรือไม่ และสามารถปฏิบัติได้จริงตามที่เขียนหรือไม่ ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคควรทำเช็กลิสต์หรือข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาอาคารสูงในซอยแคบเพื่อให้สร้างความตระหนักและเป็นนข้อมูลให้ผู้บริโภคใช้ในการปกป้องสิทธิของตัวเองต่อไป

“ทําไมชุมชนจึงต้องรวมตัวกันเพื่อดิ้นรนฟ้องร้องหรือร้องเรียนเรื่องนี้ ทั้งที่ถ้าคุณอ่าน เข้าใจ และปฏิบัติเจตนารมณ์ของกฎหมายผู้บริโภคก็จะไม่ถูกละเมิดสิทธิ คำถามสำคัญคือเรามีเอไอเอไว้เพื่ออะไร ทำหน้าที่อะไร รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของคุณเป็นจริงหรือเท็จ ทำได้จริงอย่างที่เขียนหรือเปล่า ที่กล้าพูดอย่างนี้เพราะว่าทุกโครงการพบปัญหาว่าการมีอีไอเอไม่ได้ปกป้องชุมชนเลย ผู้บริโภคจึงต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองเหมือนที่เป็นอยู่ในตอนนี้” นายก้องศักดิ์กล่าว


ขณะที่ นายทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ ตัวแทนชุมชนซอยประดิพัทธ์ 23 สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนว่า โครงการในซอยประดิพัทธ์ 23 ไม่มีการให้ข้อมูลแก่คนในชุมชน ประชาชนไม่อาจทราบได้ว่าการจัดทำอีไอเอเกิดขึ้นจริงหรือไม่และเมื่อเกิดปัญหาแล้วได้แก้ไขตามที่ระบุหรือไม่ จนกระทั่งต้องมานั่งศึกษากัน จึงรู้ว่าไม่ได้ดำเนินการตามที่คนในชุมชนเคยได้แจ้ง

นายทิววัฒน์ แสดงวามเห็นว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องสิทธิและผลกระทบต่าง ๆ แต่กลับเพิกเฉยจนเกิดการก่อสร้างอาคารสูงผิดกฎหมาย ซึ่งและส่งผลกระทบต่อสิทธิของคนในชุมชนที่อาศัยอยู่เดิม โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ และนำไปสู่การฟ้องคดี ซึ่งทำให้ผู้ฟ้องร้องต้องเสียสละเวลาและสูญเสียโอกาสในการทำงาน

“คนในชุมชนเองเข้าใจถึงเรื่องของการพัฒนาเมือง แต่ควรพัฒนาอย่างไรให้เราอยู่ร่วมกันได้โดยปกติสุข แต่สิ่งที่เกิดคือ การทำโดยไม่สนใจผู้อยู่อาศัยเดิม แล้วเมื่อสร้างเสร็จแล้วเจ้าของโครงการก็ไป และทิ้งปัญหาเอาไว้ให้คนที่อยู่ เราจะยอมอยู่กับเมืองที่เราไม่มีสิทธิมีเสียงอย่างนี้ต่อไปหรือ นี่คือปัญหาที่กําลังจะเกิดขึ้นและเกิดขึ้นกับในหลาย ๆ ชุมชนแล้ว  สิ่งที่จําเป็นมากที่สุดก็คือคนในชุมชนต้องรวมตัวกันแล้วออกมาร้องเรียนอย่างพหลโยธิน 37 ที่คนในชุมชนรวมตัวกันและเจ้าหน้าที่รัฐทำงานอย่างมีประสิทธิภาพรับฟังเสียงประชาชน เห็นได้ว่าความสงบมันเกิดขึ้นได้ทันที” นายทิววัฒน์กล่าว

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค