จับมือ สปสช. ร่วมแก้ปัญหาสิทธิผู้บริโภคด้านสุขภาพ

แม้ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลจากระบบหลักประกันสุขภาพได้ทั่วประเทศ ยังมีผู้บริโภคที่พบปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิรับบริการสุขภาพหลายประการ เช่น การถูกเรียกเก็บเงินจากหน่วยบริการโดยไม่มีสิทธิ (Extra Billing) ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) การเข้ารับบริการนอกเวลาราชการ และการคิดค่ารักษาพยาบาลราคาแพงจากโรงพยาบาลเอกชน เป็นต้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จึงจัดประชุมหารือกับผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหา และเชื่อมโยงการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในบริการสุขภาพร่วมกัน

ในการประชุมมีผู้บริหารจาก สอบ. คือ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการ และสุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ ร่วมประชุมกับนายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. และ ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ เพื่อเชื่อมโยงระบบกลไกการทำงานและสร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพให้ครอบคลุมทุกประเด็นปัญหาและในทุกพื้นที่

ทั้งนี้ นายแพทย์จเด็จ กล่าวว่า สอบ. เป็นหน่วยงานสำคัญที่มีหน้าที่ปกป้อง พิทักษ์และคุ้มครองผู้บริโภคอย่างรอบด้าน จึงควรวางระบบการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพร่วมกับ สปสช. เพื่อให้เกิดความชัดเจน ความยั่งยืน และความเข้มแข็งในการประสานการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งในการจัดการข้อร้องเรียน การสื่อสารเรื่องอุปกรณ์ คุณภาพการบริการของหน่วยบริการ รวมถึงปัญหาที่ผู้บริโภคถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิที่จะเก็บ เช่น การใช้ยานอกบัญชียาหลักแทน ซึ่งเป็นยาที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ายาในบัญชียาหลัก การถูกเรียกเก็บเงิน กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือการเข้ารับบริการนอกเวลาราชการ

ด้าน สารี กล่าวว่า ขณะนี้ สอบ.กำลังผลักดัน และพัฒนาระบบบริการสุขภาพในหลายประเด็น เช่น การปรับเกณฑ์การประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉิน (Emergency Pre – Authorization : PA) ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว และการศึกษากลไกประเด็นค่ารักษาพยาบาลแพงในโรงพยาบาลเอกชน ทั้งนี้ ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาผู้บริโภคถูกเรียกเก็บเงินจากหน่วยบริการ ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ขณะที่ สุภาพร ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ระหว่างรอความพร้อมของระบบกลไกการทำงานระหว่างหน่วยงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สอบ.และ สปสช. ควรทำงานในประเด็นการสื่อสารร่วมกัน ทั้งการประชาสัมพันธ์ช่องทางการร้องเรียนปัญหาระบบบริการสุขภาพให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สอบ. และ สปสช. จะประชุมหารือ และจัดตั้งคณะทำงานเพื่อวางแผนกิจกรรม ระบบกลไกการทำงานร่วมกันในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพต่อไป

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค