ล้านชีวิตนอกห้องเรียน ความล้มเหลวของเรียนฟรี

Getting your Trinity Audio player ready...

เด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษามากถึง 1 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยมีสิทธิเรียนฟรี ตอกย้ำสิทธิเรียนฟรีที่อยู่ในกฎหมาย แต่ยังไม่มีอยู่ในชีวิตจริง

ทุกครั้งที่ถึงฤดูกาลเปิดเทอม ภาพที่สะท้อนออกมาไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก คือผู้ปกครองเดินเข้าร้านรับจำนำ เพื่อนำของมีค่าไปเปลี่ยนเป็นค่าเทอม ค่าเครื่องแบบ และค่าอุปกรณ์การเรียนให้ลูกหลาน เพื่อให้ลูกได้มีสิทธิ ได้เรียนหนังสือเหมือนคนอื่น ขณะที่เด็กอีกไม่น้อยต้องพลาดโอกาสทางการศึกษา เพราะครอบครัวไม่มีแม้แต่ของมีค่าพอจะนำไปจำนำ

เด็กนอกระบบการศึกษาเกิน 1 ล้านคน

ข้อมูลจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชี้ว่า ประเทศไทยมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษามากถึง 1.02 ล้านคน หรือ 8.4% ของนักเรียนทั้งประเทศ เหตุผลสำคัญคือ ความยากจน ที่ทำให้เด็กไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ แม้จะมีคำว่า เรียนฟรี ก็ตาม อีกทั้ง เด็กเหล่านี้คือแรงงานในอนาคต ที่กำลังจะหายไปในวันที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ สังคมผู้สูงวัย และมีแรงงานลดลงต่อเนื่อง

แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 จะบัญญัติชัดเจนว่า รัฐต้องจัดการศึกษาโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 12 ปี และคำสั่งหัวหน้าคสช. ปี 2559 ยังขยายสิทธิเรียนฟรีให้ครอบคลุมถึง 15 ปี ครอบคลุมตั้งแต่การศึกษาระดับอนุบาล จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับประกาศนียบัตรริชาชีพ (ปวช.3) หรือเทียบเท่า แต่ในทางปฏิบัติ นโยบายนี้ยังคงเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะครอบครัวผู้มีรายได้น้อย

มาตรการเยียวยา ปล่อยกู้เพื่อการศึกษา

ในช่วงเปิดเทอม ปีการศึกษา 2568 รัฐบาลได้ออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครอง โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังสั่งการให้ ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อเพื่อการศึกษา วงเงินไม่เกิน 10,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ย 0.6% ต่อเดือน ผ่อนชำระได้นาน 12 เดือน โดยมีเป้าหมายเพื่อ ลดภาระค่าใช้จ่ายและการพึ่งพาหนี้นอกระบบ

แม้มาตรการนี้จะช่วยบรรเทาเฉพาะหน้าได้บางส่วน แต่ก็สะท้อนถึงช่องว่าง ในระบบสิทธิเรียนฟรี เพราะการที่รัฐบาลต้องออกมาตรการให้ประชาชนกู้เงินเพื่อให้ลูกไปโรงเรียน คือภาพสะท้อนว่า สิทธิเรียนฟรีในประเทศไทยยังไม่ถึงจุดที่ประชาชนสามารถพึ่งพาได้

นโยบายเรียนฟรี แต่ไม่ครอบคลุม

ตามนโยบายเรียนฟรีของรัฐจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายพื้นฐาน 5 รายการ ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน แต่ในทางปฏิบัติ โรงเรียนหลายแห่งยังเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษา ที่อยู่นอกเหนือจากรายการเหล่านี้ โดยอ้างว่าเพื่อใช้พัฒนาโรงเรียนหรือจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติม

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์ คดี ‘ค่าบำรุงการศึกษา’
ถึงเวลาปฏิรูป พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ตอบโจทย์อนาคต
นักการศึกษาชี้เรียนฟรีไม่ใช่ฝัน ทำได้จริง เรียกร้องรบ.มุ่งมั่นให้เหมือน ‘เงินดิจิทัล’

สิทธิเรียนฟรีที่ต้องพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม

ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อคุ้มครองสิทธิของนักเรียนและผู้ปกครอง สภาผู้บริโภค อนุกรรมการด้านการศึกษา ทนายความ และผู้แทนผู้ได้รับความเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษา ได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง กรณีเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาที่ขัดต่อกฎหมาย

ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดี ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการเรียกร้องความเป็นธรรม หากคำพิพากษาสุดท้ายสนับสนุนฝ่ายประชาชน จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างมาก ที่ตอกย้ำว่า สิทธิเรียนฟรีคือสิทธิตามกฎหมาย ไม่ใช่เพียงคำโฆษณาเชิงนโยบาย และจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำสร้างโอกาสทางการศึกษาและความเป็นธรรมในสังคม

เรียนฟรีต้องมีอยู่จริง

เพื่อตอกย้ำเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สภาผู้บริโภคยังได้จัดเวทีสาธารณะ เรียนฟรีต้องมีอยู่จริง เพื่อรวบรวมข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคประชาชน นักวิชาการ พรรคการเมือง และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าใช้จ่ายทางการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การศึกษาเป็นสิทธิพื้นฐานอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเรื่องของการค้า 

จากเวทีดังกล่าว หนึ่งในข้อเสนอสำคัญที่ได้รับการผลักดัน คือการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้บัญญัติชัดเจนว่า เด็กทุกคนต้องได้รับสิทธิเรียนฟรีเป็นเวลา 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งยังต้องครอบคลุมถึง การศึกษาพิเศษและการศึกษาสงเคราะห์ เพื่อสร้างความเสมอภาคอย่างแท้จริงในระบบการศึกษาของไทย

นอกจากนี้ สภาผู้บริโภค ยังมีข้อเสนออื่น ๆ ที่สำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างรอบด้าน อาทิ การจัดให้มีระบบดูแลสวัสดิภาพ ความปลอดภัย รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชน และผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการศึกษา เพราะปัจจุบัน หลักสูตรส่วนใหญ่ยังถูกกำหนดจากส่วนกลางมากเกินไป ไม่สอดคล้องกับความหลากหลายของบริบทในแต่ละพื้นที่ ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อให้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นเครื่องมือที่แท้จริงในการขับเคลื่อนการศึกษาที่มีคุณภาพ สำหรับข้อเสนอเหล่านี้ สภาผู้บริโภคได้ยื่นต่อ คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาต่อไป

8 ข้อเสนอ ปฏิรูปร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ