ตั๋วเครื่องบินแพงไปไหม? เมื่อเพดานราคาเป็นกำแพงของผู้บริโภค

เพดานค่าตั๋วเครื่องบินภายใต้กฎหมายไทย

แม้พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 จะเป็นกฎหมายแม่ในการกำกับดูแลกิจการการบินของประเทศ แต่ในทางปฏิบัติ กลไกควบคุมราคาค่าโดยสารในปัจจุบันอยู่ภายใต้ ข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ซึ่งมีอำนาจกำหนดเพดานราคาสูงสุดที่สายการบินสามารถเรียกเก็บจากผู้โดยสารได้ เพื่อรักษาความเป็นธรรม และป้องกันการตั้งราคาที่เกินความสมเหตุสมผล

หนึ่งในข้อบังคับสำคัญคือ ข้อบังคับ กบร. ฉบับที่ 103 ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กำหนดเพดานราคาค่าโดยสาร โดยคำนึงถึงต้นทุนจริง ความเป็นธรรม และการแข่งขันในตลาดอย่างรอบด้าน ทว่าในบริบทที่อุตสาหกรรมการบินมีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทั้งในด้านต้นทุน เทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้โดยสาร ข้อบังคับเหล่านี้จึงถูกตั้งคำถามว่า ยืดหยุ่นและทันสมัยเพียงพอหรือไม่

ในยุคที่สายการบินมีความหลากหลายมากขึ้น และผู้บริโภคต้องการความโปร่งใสในการกำหนดราคา การตรึงเพดานราคาไว้โดยไม่มีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ ย่อมไม่สอดรับกับความเป็นจริงของตลาด การเปิดเผยกลไกการคำนวณอย่างชัดเจน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดนโยบาย จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เพดานราคานี้เป็นเครื่องมือคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง ไม่ใช่ข้อจำกัดที่ย้อนแย้งต่อหลักความเป็นธรรม

เสียงจากผู้บริโภคที่เผชิญตั๋วแพง

เสียงจากผู้บริโภคหลายรายแสดงถึงความไม่พึงพอใจและความรู้สึกถูกเอาเปรียบที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะในประเด็นราคาตั๋วเครื่องบินที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน เช่น การซื้อตั๋วล่วงหน้าเพียงไม่กี่วันก่อนเทศกาล กลับต้องจ่ายแพงกว่าปกติหลายเท่าตัว ทั้งที่เส้นทางนั้นไม่ได้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น หรือหลายรายเล่าว่าราคาตั๋วมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทันทีหลังทำรายการจอง ทำให้รู้สึกเสียเปรียบและไม่เป็นธรรม

ยกตัวอย่างเช่น ในเส้นทางยอดนิยม กรุงเทพฯ – ภูเก็ต ซึ่งมีเที่ยวบินหลากหลายและเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญด้านการท่องเที่ยว กลับพบว่าราคาตั๋วพุ่งสูงเกินระดับที่ผู้บริโภครับไหว จนเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 กลายเป็นประเด็นที่ถูกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหยิบยกขึ้นอภิปรายในที่ประชุมคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวและการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ที่ชี้ให้เห็นว่าราคาตั๋วเครื่องบินภายในประเทศควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับระยะทางและค่าใช้จ่ายจริง

อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึง คือ ระบบการกำหนดราคาแบบยืดหยุ่น (Dynamic Pricing) โดยสายการบินในไทยเกือบทั้งหมดนำมาใช้ตามแนวทางสากล แม้จะเป็นกลไกทางการตลาดที่ได้รับการยอมรับ แต่ในทางปฏิบัติกลับส่งผลให้ราคาตั๋วปรับสูงขึ้นในช่วงที่มีความต้องการเดินทางมาก เช่น วันหยุดยาวหรือเทศกาล ทำให้ผู้โดยสารจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าไม่สามารถวางแผนค่าใช้จ่ายได้ล่วงหน้า และรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบด้านราคา

นอกจากนี้ ผู้โดยสารยังเผชิญกับค่าธรรมเนียมแฝง เช่น ค่าธรรมเนียมสัมภาระ ค่าธรรมเนียมการเลือกที่นั่ง หรือค่าบริการอื่น ๆ ที่มักไม่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้น เมื่อรวมกับราคาตั๋วที่ไม่แน่นอน ยิ่งทำให้ต้นทุนการเดินทางโดยเครื่องบินสูงเกินคาด และกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกัน ปัญหาการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน การคืนเงินล่าช้า และการร้องเรียนที่ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ยังคงเป็นประเด็นที่ผู้โดยสารต้องเผชิญโดยไม่มีระบบเยียวยาที่ชัดเจนหรือโปร่งใสเพียงพอ

เพดานค่าโดยสาร 9.4 บ./กม. เป็นธรรมจริงหรือ

เพดานราคาค่าโดยสารของสายการบินต้นทุนต่ำภายในประเทศ ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 9.40 บาทต่อกิโลเมตร ตามข้อบังคับ กบร. ฉบับที่ 103 แม้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและควบคุมการแข่งขันในเส้นทางบินที่มีข้อจำกัด เช่น เส้นทางสั้นไม่เกิน 300 กิโลเมตร หรือมีผู้ให้บริการจำกัด แต่กลับยังเป็นตัวเลขที่ถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่าสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงหรือไม่

แม้จะมีการอ้างว่าอัตรานี้อิงจากหลักเกณฑ์เดิมในปี 2561 แต่จนถึงปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่าการคำนวณราคาข้างต้นต่อกิโลเมตรนั้นมีที่มาอย่างไร ทั้งในแง่ของค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา ค่าแรง หรือภาษีอื่น ๆ โดยเฉพาะในการประชุมกรรมาธิการการท่องเที่ยวฯ เมื่อเดือนเมษายน 2568 ที่ตัวแทนจาก กพท. ยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้

ในทางปฏิบัติ ราคาตั๋วโดยสารจำนวนมากกลับถูกตั้งให้ใกล้เคียงกับเพดานนี้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลหรือเส้นทางยอดนิยม แม้ต้นทุนจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้กลไกราคาแบบ Dynamic Pricing ที่ควรสร้างความยืดหยุ่น กลับถูกมองว่าเปิดช่องให้สายการบินเรียกเก็บราคาในระดับสูงเกินสมควร

หากยังไม่มีการเปิดเผยกลไกการคำนวณที่ชัดเจน และไม่มีระบบทบทวนที่เปิดรับเสียงจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง เพดานราคานี้อาจกลายเป็นเพียงกรอบจำกัดที่สร้างความชอบธรรมให้กับราคาสูง โดยที่ผู้โดยสารไม่มีทางเลือกหรืออำนาจต่อรองที่เป็นธรรม

ต้นแบบสู่การปฏิรูปราคาตั๋วเครื่องบินในไทย

ประเทศจีนเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้มาตรการควบคุมราคาตั๋วเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล เช่น ตรุษจีน หรือวันชาติ รัฐบาลร่วมกับสายการบินจัดโปรโมชันราคาพิเศษ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเลือกเดินทางกลับบ้านด้วยเครื่องบิน ลดความแออัดของระบบขนส่งอื่น และลดอุบัติเหตุทางถนนที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินทางระยะไกล

ขณะที่ในหลายประเทศ เช่น ในสหภาพยุโรป มีการกำหนดให้สายการบินเปิดเผยราคาและค่าธรรมเนียม ตามกฎ EU Regulation 1008/2008 เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจได้อย่างมีข้อมูลครบถ้วน หรือในสายการบินในประเทศบราซิลและประเทศซาอุดีอาระเบีย จะต้องรวมรายการบริการที่จำเป็นทั้งหมด เช่น ค่าน้ำมัน ไว้ในราคาค่าโดยสารหลัก และอนุญาตให้เรียกเก็บเงินแยกเฉพาะสำหรับรายการที่ไม่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยสามารถนำแนวทางเหล่านี้มาพิจารณา ปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตลาดในประเทศ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ข้อเสนอปลดล็อกความเหลื่อมล้ำด้านการเดินทาง    

จากเวทีหารือที่จัดโดยสภาผู้บริโภค ได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการเดินทางทางอากาศอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมราคาค่าโดยสารให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โปร่งใส เปิดเผย และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาด รวมถึงการสนับสนุนให้ผู้บริโภคเข้าถึงการเดินทางด้วยเครื่องบินในช่วงเทศกาล เพื่อลดความแออัดของระบบขนส่งทางบก และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางระยะไกล

อีกหนึ่งข้อเสนอหลัก คือการทบทวนเพดานราคาค่าโดยสารอย่างสม่ำเสมอ โดยควรมีกระบวนการที่เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน และมีคณะกรรมการอิสระร่วมกำหนดทิศทาง เพื่อให้โครงสร้างราคาเท่าทันกับบริบทเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ขณะเดียวกันผู้โดยสารควรได้รับข้อมูลราคาตั๋วและค่าธรรมเนียมทั้งหมดอย่างชัดเจนตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นของการจอง เพื่อไม่ให้ถูกซ่อนภาระค่าใช้จ่ายโดยไม่รู้ตัว

ในส่วนของข้อเสนอจากสำนักงาน กพท. ที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมกรรมาธิการฯ เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2568 นั้น ประกอบด้วยมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น การขอความร่วมมือสายการบินเพิ่มเที่ยวบินพิเศษในช่วงเทศกาล การขยายเวลาเปิดสนามบินเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร การลดค่าตั๋วโดยสารบางช่วงเวลา ไปจนถึงการเพิ่มอุปทานฝูงบิน ทบทวนหลักเกณฑ์ราคาค่าโดยสารเพื่อให้เกิดสมดุล และผลักดันนโยบายลดต้นทุนสายการบิน เช่น การลดภาษีน้ำมัน พร้อมทั้งเน้นการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับสาธารณชน          

แม้จะเห็นถึงความเคลื่อนไหวจากภาครัฐ แต่การขับเคลื่อนให้เกิดระบบราคาที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง ยังต้องอาศัยกลไกร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเสียงของผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้แบกรับภาระในทุกเที่ยวบิน