หนุน อย. ปราบผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มไม่มีฉลากภาษาไทยออกจากร้านค้า

สภาผู้บริโภคสนับสนุน อย. บังคับใช้มาตรการตรวจสอบฉลากสินค้านำเข้าที่ด่านนำเข้าทุกแห่ง จี้ ต้องติดฉลากภาษาไทยก่อนจำหน่าย หลังพบหลายร้านยังคงติดฉลากไม่ถูกต้อง ระบุ สภาผู้บริโภค – เครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ พร้อมร่วมมือช่วยเฝ้าระวังสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย

จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านจำหน่ายอาหารนำเข้าจากประเทศจีนและพบเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ซอสในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท อาหารกึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภค มีการแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลขสารบบอาหาร และได้ทำการอายัด 124 รายการนั้น (อ้างอิง : https://www.thansettakij.com/health/wellbeing/557192)

วันนี้ (9 มีนาคม 2566) มลฤดี โพธิ์อินทร์ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ระบุว่า สภาผู้บริโภคขอแสดงความชื่นชมที่หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญกับผู้บริโภค และขอสนับสนุนให้ อย. บังคับใช้มาตรการการตรวจสอบฉลากสินค้า ณ ที่ด่านนำเข้าทุกแห่ง
ว่าสินค้าทุกชิ้นที่นำเข้ามาในประเทศไทยจะต้องติดฉลากภาษาไทย ณ ที่ด่านตรวจสินค้านำเข้า หรือ ต้องเข้มงวดตรวจที่โกดังพักสินค้า ให้มีการติดฉลากภาษาไทยก่อนออกจำหน่ายรวมทั้งติดตามและตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพราะจากการติดตามหลังจากการดำเนินงานดังกล่าวยังคงพบว่าในร้านจำหน่ายบางแห่งยังคงมีผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องในสถานที่ดังกล่าวอยู่ และขอสนับสนุนให้ดำเนินคดีทันทีเมื่อพบว่ามีผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลากไม่ถูกกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้บริโภคไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย เพื่อให้ได้รับอาหารที่ปลอดภัย การเฝ้าระวังดังกล่าวเป็นไปเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค รวมถึงหากผู้บริโภคพบเห็นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากต่างประเทศ ขอให้แจ้งไปยัง อย. ที่เบอร์สายด่วน 1556

“ปัจจุบันร้านขายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมีอยู่อย่างแพร่หลายและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก สภาผู้บริโภคจึงขอให้ อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบทุกร้านในทุกพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมายังพบร้านขายอาหารนำเข้าติดฉลากไม่ถูกต้องหลายร้าน บางร้านไม่มีฉลากภาษาไทย ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ไม่ปลอดภัยได้ อย่างไรก็ตามสภาผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ พร้อมร่วมมือช่วยเฝ้าระวังสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัยอีกทางหนึ่ง” ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหารฯ สภาผู้บริโภค ระบุ

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้เฝ้าระวังสินค้าและสำรวจร้านขายผลิตภัณฑ์อาหารจากต่างประเทศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ‘ร้านหวังจงหวังซุปเปอร์มาเก็ตจีน’ (ที่อยู่ ถนนเทียมร่วมมิตร แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร) และ ‘ร้าน JidubanG Market’ (ที่อยู่ 99/26 – 28 เขตดินแดงกรุงเทพมหานคร) พบว่า ร้านขายผลิตภัณฑ์อาหารจากต่างประเทศดังกล่าว ขายผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีฉลากสินค้าภาษาไทย ไม่มีเลขสารบบอาหาร และได้ส่งหนังสือถึง อย. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 เนื่องจากเห็นว่าการขายสินค้าดังกล่าวอาจเข้าข่าย
ผิดกฎหมายการแสดงฉลากของอาหารบนบรรจุภัณฑ์ หลังจากนั้น อย. ได้ตรวจสอบพบว่าร้านค้าทั้งสองแห่งแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้องและได้ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว (อ้างอิง : https://www.tcc.or.th/product-import/)

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค