ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านการขนส่งและยานพาหนะ ประจำเดือนมกราคม 2567

สภาผู้บริโภคเชิญผู้ประกอบการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองชี้แจงสาเหตุของอุบัติเหตุการเดินรถและแนวทางการแก้ไขปัญหา

จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถไฟฟ้ารางเดี่ยวโมโนเรล (Monorail) สายสีชมพูและสายสีเหลือง เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 และวันที่ 2 มกราคม 2567 ตามลำดับ ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2567 ซึ่งมีนายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เป็นประธานในที่ประชุม จึงได้เชิญ นายสุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เข้าให้ข้อมูลกับอนุกรรมการฯ

กรณีที่เกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู บริษัทฯ ชี้แจงว่า มีสาเหตุจากการมีหน่วยงานอื่นเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ภายใต้พื้นที่รางรถไฟฟ้าทำให้เครนที่ขนย้ายอุปกรณ์เกิดกระแทกกับรางระบบจ่ายไฟจนหลุดร่วงในเวลาต่อมา ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดทำมาตรการป้องกันปัญหาที่เกิดเป็น 2 ระยะ คือ มาตรการเร่งด่วน ให้ปิดการเดินรถในช่วงเส้นทางที่ได้รับผลกระทบ  ปรับรูปแบบการเดินรถในเส้นที่ให้บริการได้ตามปกติ เข้าตรวจสอบแก้ไข ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด และยกเลิการเข้าทำงานบริเวณใต้คานวิ่งรถไฟฟ้าทุกกรณี สำหรับมาตรการระยะยาว คือ จะประสานกรมการขนส่งทางราง รฟม. ในการออกกฎหมายกำหนดเขตปลอดภัยระบบรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง เพื่อควบคุมการทำงานก่อสร้างต่าง ๆ ให้มีความปลอดภัย

กรณีที่เกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง บริษัทฯ ชี้แจงว่า มีสาเหตุเบื้องต้นจากความไม่สมบูรณ์ของอุปกรณ์ชุดแกนล้อที่มีลูกปืนประคองล้อเกิดความเสียหาย ส่งผลทำให้ลูกปืนหลุดออกมาจากแกน ทำให้ชุดล้อประคองหลุดตกหล่นลงมา ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดทำมาตรการป้องกันปัญหาที่เกิดเป็น 2 ระยะ คือ มาตรการเร่งด่วนระยะสั้น โดยให้มีการตรวจสอบสภาพชุดแกนล้อประคองของรถไฟฟ้าทุกขบวนใหม่ทั้งหมดอีกครั้งทันที สำหรับมาตรการระยะกลางคือ บริษัท ALSTOM ซึ่งเป็นผู้ผลิตและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ให้ข้อมูลว่าในระหว่างนำส่งอุปกรณ์กลับไปที่ห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่า ชุดแกนล้อที่มีลูกปืนประคองล้อเกิดความเสียหาย มีผลทำให้ลูกปืนหลุดออกมาจากแกน ทำให้ชุดล้อประคองหลุดตกหล่นลงมา ซึ่งทางผู้ผลิตแจ้งว่า จะทำการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องใหม่ให้ทั้งหมด ทั้งสายสีชมพูและสายสีเหลือง ประมาณ 3,400 ชุด ภายในระยะเวลา 6 เดือน

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ได้เสนอให้มีองค์กรกลาง (Third party) เข้ามาร่วมตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานการให้บริการ รวมถึงการสืบสวนสอบสวนอุบัติเหตุเชิงลึก เพื่อจัดทำข้อกำหนดรองรับแผนการจัดการด้านความปลอดภัย เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้ใช้บริการและผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน