การยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นทนายความ สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อสนับสนุนการดำเนินคดี ประจำปี พ.ศ. 2568

ประกาศสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค
เรื่อง การยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นทนายความ สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อสนับสนุนการดำเนินคดี ประจำปี พ.ศ. 2568

ด้วยมาตรา 14 (7) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 บัญญัติให้สภาองค์กรของผู้บริโภคมีอำนาจดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามที่เห็นสมควรหรือเมื่อมีผู้ร้องขอหรือให้ความช่วยเหลือในการดำเนินคดี ในกรณีที่ผู้บริโภคหรือองค์กรของผู้บริโภคถูกฟ้องคดีจากการใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภคหรือใช้สิทธิแทนผู้บริโภคแล้วแต่กรณี ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามที่เจตนารมณ์ของกฎหมาย สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงออกระเบียบคณะกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภคว่าด้วยการดำเนินการด้านคดี พ.ศ. 2566 โดยกำหนดให้มีทนายความ สภาองค์กรของผู้บริโภค ขึ้นเพื่อเป็นผู้รับผิดชอบ การดำเนินการทางคดีตามที่ได้รับมอบหมายจากสภาองค์กรของผู้บริโภค

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 22 ของระเบียบคณะกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค ว่าด้วยการดำเนินการด้านคดี พ.ศ. 2566 สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภคจึงประกาศการยื่นขอขึ้นทะเบียนทนายความสภาองค์กรของผู้บริโภคเพื่อสนับสนุนการดำเนินคดี ดังรายละเอียดต่อไปนี้


1.1 ประเภททั่วไป

  • 1.1.1 เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นทนายความตามกฎหมายว่าด้วยทนายความ
  • 1.1.2 เป็นทนายความมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี เว้นแต่มีประสบการณ์เชิงประจักษ์ว่าเคยดำเนินคดีในศาลเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 2 ปี
  • 1.1.3 มีผลงานด้านคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคหรือคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ
  • 1.1.4 ไม่อยู่ในระหว่างถูกพักใบอนุญาตว่าความ หรือเคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตว่าความ
  • 1.1.5 ต้องไม่เป็นผู้เคยถูกสอบสวนคดีมรรยาททนายความ หรือเคยถูกลงโทษฐานประพฤติผิดมรรยาททนายความ
  • 1.1.6 ไม่กระทำการอันเป็นปรปักษ์กับการคุ้มครองผู้บริโภค

1.2 ประเภทพิเศษ

  • 1.2.1 เป็นผู้มีคุณสมบัติตามข้อ 1.1.1 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 1.1.4 ข้อ 1.1.5 และข้อ 1.1.6
  • 1.2.2 ผ่านการอบรมโครงการหลักสูตรพัฒนาศักยภาพนักกฎหมายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคของสภาองค์กรของผู้บริโภคในระดับภูมิภาค ที่จัดโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค

2.1 หน้าที่ ทนายความที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นทนายความ สภาองค์กรของผู้บริโภคมีหน้าที่ในการดำเนินคดีในนามสภาองค์กรของผู้บริโภค รวมถึงการช่วยเหลือการดำเนินคดีทั้งคดีผู้บริโภค คดีแพ่ง คดีอาญาคดีปกครอง รวมถึงคดีอื่น ตามที่ได้รับมอบหมายจากสภาองค์กรของผู้บริโภค

2.2 วินัยและความประพฤติ – การปฏิบัติงานของทนายความ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้กำหนดเรื่องวินัยและความประพฤติไว้ดังนี้

  • 2.2.1 ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความและข้อกำหนดตามสัญญาจ้างโดยเคร่งครัด
  • 2.2.2 ดำเนินการโดยเร็วเพื่อมิให้เสียหายต่อคดี พึงระมัดระวังมิให้คดีเกิดความเสื่อมเสียซึ่งสิทธิประโยชน์หรือเกิดความเสียหาย
  • 2.2.3 ห้ามเรียกค่าบริการหรือค่าจ้างหรือผลประโยชน์ใดหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ไม่เหมาะสมอันเป็นการขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ทนายความ สภาองค์กรของผู้บริโภค
  • 2.2.4 เสนอรายงานความคืบหน้าการดำเนินคดีให้กับสภาองค์กรของผู้บริโภคทราบ ดังนี้
    (1) กรณีมีการยื่นฟ้องคดี ให้ส่งคำฟ้องภายใน 30 วัน หลังจากนับแต่วันที่ได้ ยื่นฟ้องคดี
    (2) กรณีเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้สั่งคำฟ้องภายใน 15 วัน นับแต่วันที่สามารถขอคัดถ่ายคำพิพากษาหรือคำสั่งได้
  • 2.2.5 กรณีที่คู่ความมีข้อเสนอการเยียวยาความเสียหายเพื่อยุติคดี โดยการประนีประนอมยอมความระหว่างการดำเนินคดี ให้แจ้งต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคเพื่อพิจารณาก่อนการดำเนินการดังกล่าว
  • 2.2.6 ห้ามมิให้มีการถอนฟ้อง หรือยอมความ หรือดำเนินการอย่างอื่นอันจะเป็นการจำหน่ายสิทธิ หรือยุติคดี จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคยิ่งกว่าการดำเนินคดี
    การถอนฟ้อง หรือยอมความ หรือดำเนินการอย่างอื่นอันจะเป็นการจำหน่ายสิทธิ หรือยุติคดี ต้องได้รับอนุมัติจากเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภคถึงจะดำเนินการได้

2.3 การถูกเพิกถอน – กรณีที่ทนายความมีการกระทำการฝ่าฝืนตามกำหนดไว้ในข้อ 2.2 หรือประพฤติไม่สมควรโดยประการอื่น ให้พ้นสภาพการเป็นทนายความ สภาองค์กรของผู้บริโภค


ทนายความ สภาองค์กรของผู้บริโภค จะได้รับค่าตอบแทนจากการที่ได้รับมอบหมาย ให้ปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการทางคดีตามตารางแนบท้ายแสดงหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค ว่าด้วยการดำเนินการด้านคดี พ.ศ. 2566 โดยจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้บันทึกข้อตกลงที่กำหนดไว้

ทนายความที่ประสงค์จะยื่นคำขอขึ้นทะเบียนทนายความ สภาองค์กรของผู้บริโภค
เพื่อสนับสนุนการดำเนินคดี สภาองค์กรของผู้บริโภค สามารถยื่นคำขอขึ้นทะเบียนได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้

4.1 ยื่นคำขอทางอินเตอร์เน็ต โดยผ่านทางเว็บไซต์ https://www.tcc.or.th โดยให้กรอกข้อความให้ถูกต้องและครบถ้วนพร้อมทั้งแนบเอกสารตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5 โดยรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมลงวันที่ในสำเนาเอกสารทุกฉบับ ระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 – วันที่ 16 กันยายน 2568 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ

4.2 ยื่นคำร้องด้วยตนเอง โดย Download แบบคำขอขึ้นทะเบียนทนายความ สภาองค์กรของผู้บริโภค ที่เว็บไซต์ https://www.tcc.or.th และนำส่งแบบคำขอขึ้นทะเบียนทนายความ สภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมเอกสารตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5 โดยรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลงวันที่ในสำเนาเอกสารทุกฉบับ ที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค วันจันทร์ ถึงวันศุกร์ ระหว่างเวลา 09.00 น. ถึง 17.00 น. เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 – วันที่ 16 กันยายน 2568

ทนายความที่ประสงค์ของยื่นขึ้นทะเบียนเป็นทนายความ สภาองค์กรของผู้บริโภคต้องจัดส่งเอกสารหลักฐานประกอบการยื่นขอขึ้นทะเบียน ดังนี้

  • 5.1 แบบคำขอขึ้นทะเบียนทนายความ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตามแบบที่กำหนดแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ จำนวน 1 ชุด
  • 5.2 รูปถ่ายขนาด 1 นิ้วครึ่ง ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 1 รูป
  • 5.3 สำเนาปริญญาบัตร ซึ่งสำเร็จการศึกษาในสาขานิติศาสตร์ จำนวน 1 ชุด
  • 5.4 สำเนาประกาศนียบัตร ของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา (ถ้ามี)
  • 5.5 สำเนาใบอนุญาตว่าความ ของสภาทนายความ
  • 5.6 ผลงานด้านคดีที่เกี่ยวข้อง กับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค หรือคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ อย่างน้อย 1 เรื่อง ตามแบบที่กำหนดไว้แนบท้ายของประกาศนี้ ซึ่งมีเนื้อหาประกอบด้วย
    5.6.1 คำอธิบายโดยย่อของคดี
    5.6.2 เอกสารประกอบ เช่น คำฟ้อง คำพิพากษา หรือคำสั่งศาล (หากมี)
    5.6.3 หลักฐานอื่นที่แสดงบทบาทของผู้สมัครในคดีนั้น
  • 5.7 ประกาศนียบัตรหรือเกียรติบัตรหรือหนังสือรับรอง การผ่านการอบรมโครงการหลักสูตรพัฒนาศักยภาพนักกฎหมายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคของสภาองค์กรของผู้บริโภคในระดับภูมิภาค ที่จัดโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค (กรณีประเภทพิเศษ) จำนวน 1 ชุด

ทั้งนี้ เอกสารหลักฐานดังกล่าวจะถูกใช้เพื่อประกอบการพิจารณาเท่านั้น และจะเก็บไว้เป็นความลับ


6.1 การขึ้นทะเบียนทนายความสภาองค์กรของผู้บริโภค ยังไม่ถือเป็นการว่าจ้างหรือมีพันธะผูกพันทางสัญญา แต่อย่างใด เป็นเพียงการรับรองว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมและมีความพร้อมที่จะรับงานคดีที่ได้รับมอบหมายจากสภาองค์กรของผู้บริโภคเท่านั้น การว่าจ้างให้ดำเนินคดีแต่ละกรณีจะพิจารณาเป็นรายเรื่องและทำสัญญาว่าจ้างแยกเป็นครั้ง ๆ ไป

6.2 แนวปฏิบัติและเงื่อนไข ในการขึ้นทะเบียนทนายความเพื่อให้ผู้สมัครสามารถพิจารณาและตัดสินใจได้อย่างรอบคอบก่อนยื่นคำขอ สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภคจะจัดทำเอกสารแนบท้ายแสดง แนวทางปฏิบัติ และเงื่อนไข ที่ทนายความที่ขึ้นทะเบียนจะต้องถือปฏิบัติ รวมถึงสิทธิหน้าที่ และจรรยาบรรณที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถศึกษารายละเอียดได้จากเว็บไซต์ https://www.tcc.or.th หัวข้อ “แนวปฏิบัติสำหรับทนายความขึ้นทะเบียน”

สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภคจะดำเนินการตามข้อ 22 วรรคสาม ของระเบียบคณะกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภคว่าด้วยการดำเนินการด้านคดี พ.ศ. 2566 โดยจะทำการตรวจสอบคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม เอกสารประกอบ และผลงานคดีตามที่ผู้สมัครยื่นไว้ แล้วรวบรวมบัญชีรายชื่อทนายความเพื่อขึ้นทะเบียน และจะประกาศผลการขึ้นทะเบียนทนายความ สภาองค์กรของผู้บริโภค ภายใน 30 วัน นับแต่วันปิดรับสมัครผ่านทางเว็บไซต์ https://www.tcc.or.th หรือช่องทางอื่นที่leนักงานกำหนด

ทนายความที่ประสงค์จะยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นทนายความสภาองค์กรของผู้บริโภคสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค หมายเลขโทรศัพท์ 081-134-9215 หรือที่อีเมล์ [email protected]


ประกาศสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค

แบบคำขอขึ้นทะเบียนทนายความ