หารือสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เร่งช่วยรายย่อย หุ้นกู้สตาร์ค

สภาผู้บริโภค หารือสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ช่วยเหลือผู้ลงทุนรายย่อย กรณีหุ้นกู้สตาร์ค หลังธนาคารกสิกรไทยให้ผู้ลงทุนรายย่อยซื้อหุ้นผ่านแอปฯ K My invest ได้ ทั้งที่กำหนดให้ซื้อขายเฉพาะผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น เห็นพ้องการบังคับใช้กฎหมายหลักทรัพย์ฯ ของหน่วยงานกำกับดูแลยังไม่เข้มข้นพอ จนทำให้นักลงทุนและผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการลงทุน

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ร่วมประชุมกับ สิริพร สงบธรรม เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (Thai Investors Association : TIA) เพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือในการช่วยเหลือผู้ลงทุนรายย่อยที่ซื้อหุ้นกู้สตาร์ค (STARK) หลังที่ผ่านมาเกิดกรณีที่ธนาคารกสิกรไทยและบริษัทในเครือ ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้สตาร์ค ได้เปิดให้ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถซื้อหุ้นกู้ได้ผ่านแอปพลิเคชัน K My invest ทั้งที่หุ้นกู้ดังกล่าวกำหนดให้ซื้อขายเฉพาะผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น

สารี ระบุว่า สภาผู้บริโภคต้องการให้ผู้บริโภคได้รับการชดเชยเยียวยาและได้รับความคุ้มครองจากกรณีที่ได้รับความเสียหายจากหุ้นกู้สตาร์ค สภาผู้บริโภคเห็นด้วยกับประโยคที่ว่า ‘การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน’ ที่ผู้บริโภคจะต้องระมัดระวังก่อนจะเข้าไปลงทุน แต่ผู้บริโภคไม่ควรต้องมาเสี่ยงกับพฤติกรรมที่เข้าข่ายไม่โปร่งใส ทั้งสภาพการซื้อขายที่ผิดปกติ หรือปัญหาการทุจริตภายในองค์กร ดังเช่นกรณีหุ้นกู้สตาร์คนั้นเห็นว่าพฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้นจะไม่เกิดขึ้นหากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเข้มแข็งหรือมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคได้ส่งข้อเสนอแนะและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ โดยให้ ก.ล.ต.กำหนดมาตรการการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นโดยทางอ้อม (Backdoor Listing) ให้รัดกุมขึ้น และการเข้าซื้อสินทรัพย์หรือหุ้นของบริษัทที่ต้องการจะเข้าตลาดหุ้นโดยทางอ้อมจะต้องไม่ต่ำกว่าเกณฑ์การเสนอขายหุ้นครั้งแรกของบริษัทให้กับสาธารณะชน (Initial Public Offering : IPO) รวมถึงขอให้ตรวจสอบธนาคารกสิกรไทยและบริษัทในเครือ ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่เปิดให้ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถซื้อหุ้นกู้ได้ผ่านแอปฯ K My invest

นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคได้เสนอให้มีการปรับปรุง แก้ไข หลักเกณฑ์ ควบคุมองค์กรที่เกี่ยวข้อง (Stakeholder) ได้แก่ บริษัทหรือสถาบันที่ทำหน้าที่จัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ให้มีความรัดกุมสมกับเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ และต้องมีการระบุรายการการตรวจสอบก่อนการประเมิน (Checklist) รวมถึงการสัมภาษณ์หรือตรวจสอบคู่ค้าหรือองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เพียงพอในการประเมินหรือ

การจัดอันดับ และการเปิดช่องทางให้ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกร้องได้ด้วยตนเองเมื่อเกิดกรณีผิดนัดชำระ โดยไม่ต้องรอการดำเนินการของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคไม่ถูกจำกัดสิทธิและมีทางเลือกในดำเนินการเพื่อสิทธิผู้บริโภคของตัวเอง อีกทั้ง ก.ล.ต. ควรจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้เสียหายกรณีหุ้นกู้สตาร์ค

ขณะที่เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย มีความคิดเห็นว่า พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่ประเทศไทยใช้ในการกำกับดูแลตลาดหุ้นและตลาดทุนต่าง ๆ นั้นมีความก้าวหน้ามากพอสมควร แต่ยังเห็นว่าการบังคับใช้ยังมีไม่เพียงพอ จึงทำให้เกิดปัญหาดังเช่นที่พบได้ในปัจจุบัน ทั้งนี้สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยจะหารือร่วมกับสภาผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ลงทุนรายย่อยจากกรณีได้รับความเสียหายจากหุ้นกู้ข้างต้น เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ลงทุนและเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะนี้ขึ้นอีกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากหุ้นกู้สตาร์คนั้น สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยได้ออกประกาศรวบรวมข้อมูลผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากหุ้นกู้ดังกล่าว เนื่องจากได้สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแก่ผู้ลงทุน และจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือ อีกทั้งมีการให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) และจะเป็นตัวกลางในการอำนวยความสะดวกระหว่างผู้เสียหายได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลและกำหนดแนวทางการดำเนินร่วมกันต่อไป

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค