7 เรื่องสำคัญ “กฎหมายไซเบอร์ฉบับใหม่” ที่ต้องรู้

Getting your Trinity Audio player ready...

ภัยไซเบอร์ไม่ได้หยุดแค่ปลายนิ้ว แต่ลามไปถึงกระเป๋าเงินและความปลอดภัยของผู้บริโภค เมื่อความเสียหายพุ่งสูง เสียงจากประชาชนจึงผลักให้รัฐต้องออก “กฎหมายไซเบอร์ฉบับใหม่” และนี่คือ 7 เรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคต้องรู้ก่อนจะตกเป็นเหยื่อรายต่อไป

เสียงสะท้อนจากผู้เสียหายที่ต้องวิ่งวุ่นพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง และแรงกดดันจากภาคประชาชนที่ไม่ยอมให้ปัญหาเงียบหายไปในโลกไซเบอร์ ได้ผลักดันให้รัฐต้องลงมือจริงจัง ผ่านการออก พระราชกำหนดว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 13 เมษายน 2568

พ.ร.ก. ฉบับนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่เปลี่ยนเกมในการจัดการภัยไซเบอร์ โดยเปิดช่องให้ผู้เสียหายสามารถขอคืนเงินได้ในชั้นเจ้าหน้าที่ โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ในศาล และยังกำหนดให้ธนาคาร สถาบันการเงิน ค่ายมือถือ และแพลตฟอร์มออนไลน์ ต้อง “ร่วมรับผิด” หากไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันที่หน่วยงานกำกับกำหนดไว้

ยิ่งไปกว่านั้น ยังขยายมาตรการไปสู่การป้องกันบัญชีม้า การฟอกเงิน และการแชร์ข้อมูลข้ามหน่วยงานเพื่อสกัดภัยได้ตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่รอให้ความเสียหายเกิดขึ้นแล้วค่อยไล่ตามเก็บซากความเสียใจ

7 เรื่องสำคัญจาก “กฎหมายไซเบอร์ฉบับใหม่” ที่ทุกคนต้องรู้

1. ค่ายมือถือ – สถาบันการเงิน – โซเชียลมีเดีย ต้องรับผิดร่วม!

ไม่ใช่แค่คนร้ายเท่านั้นที่จะต้องรับผิดชอบอีกต่อไป เพราะกฎหมายใหม่ระบุชัดว่า หากมีความเสียหายเกิดจากการหลอกลวงทางไซเบอร์ แล้วพบว่าค่ายมือถือ ธนาคาร หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่หน่วยงานรัฐกำหนดไว้ต้องร่วมชดใช้ ความเสียหายด้วย นี่คือการยกระดับความรับผิดชอบจากแค่ผู้ใช้งานไปสู่ผู้ให้บริการที่ไม่อาจนิ่งเฉยได้อีกต่อไป

2. องค์กรรัฐใหญ่ 5 หน่วยงาน ต้องกำหนดมาตรฐานป้องกันภัยไซเบอร์

ไม่ใช่เรื่องลอย ๆ เพราะกฎหมายใหม่ให้อำนาจองค์กรระดับชาติ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) , คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , สำนักงาน กสทช. , และคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นผู้กำหนด “มาตรการป้องกัน” ที่แต่ละภาคส่วนต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้ทุกระบบ มีมาตรฐานเดียวกัน และสามารถเชื่อมต่อป้องกันภัยไซเบอร์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

3. คัดกรอง SMS ต้องเริ่มทันที

ข้อความ SMS ที่ดูเหมือนไม่มีพิษภัย กลับกลายเป็นกับดักของมิจฉาชีพมานักต่อนัก กฎหมายฉบับนี้จึงสั่งตรงให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และโทรคมนาคมต้องมีระบบคัดกรองข้อความที่เสี่ยง เช่น SMS ปลอมหลอกกดลิงก์ โอนเงิน หรือแจ้งเตือนปลอม ไม่ใช่แค่ดูแลสัญญาณโทรศัพท์ แต่ต้องดูแลความปลอดภัยของเนื้อหาด้วย

4. พบเบอร์ทำผิด = ระงับบริการได้ทันที

ถ้าหน่วยงานอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หรือ ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอท.) พบพยานหลักฐานชัดเจนว่า เบอร์โทรใดถูกใช้กระทำความผิด เช่น ส่งข้อความหลอกลวง โทรหลอกโอนเงิน หรือเปิดบัญชีปลอม สามารถแจ้ง กสทช. เพื่อระงับเบอร์นั้นได้ทันที โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล เพราะความเร็วในการสกัดกั้นอาจเป็นจุดเปลี่ยนของการหยุดยั้งการหลอกลวง

5. ยกเลิกระงับบริการ ต้องผ่านความเห็นชอบร่วม

หากเจ้าของเบอร์หรือบัญชีที่ถูกระงับ ยืนยันว่าตนเองไม่ได้ทำผิด การคืนสิทธิให้ใช้งานได้อีกครั้ง จะไม่เกิดขึ้นลอย ๆ ต้องผ่านความเห็นชอบร่วมกันของ 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, DSI, ปปง., ศปอท. และสำนักงาน กสทช. เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการใช้ช่องว่างในทางที่ผิดอีก

6. ตั้งหน่วยงานใหม่ “ศปอท.” คุมเกมไซเบอร์ระดับชาติ

ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ “ศปอท.” เป็นกลไกใหม่ที่ตั้งขึ้นในสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ มีหน้าที่เชิงรุกในการสกัดภัยไซเบอร์ตั้งแต่ต้นทาง เช่น

  • รับแจ้งเหตุจากผู้เสียหาย
  • ระงับธุรกรรมต้องสงสัยในบัญชีเงินฝากหรือบัญชีอิเล็กทรอนิกส์
  • เผยแพร่รายชื่อบัญชีต้องสงสัย / กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล
  • แจ้งข้อมูลเบอร์โทรและ SMS ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมให้ กสทช. ดำเนินการ หน่วยงานนี้จึงเป็นเส้นเลือดใหญ่ ที่ทำให้มาตรการทั้งหมดขับเคลื่อนได้จริง

7. ลงทะเบียนเบอร์มั่ว = มีโทษจริง!

หมดเวลาของการขายเบอร์แบบไม่แคร์ หรือลงทะเบียนให้ใครก็ไม่รู้ เพราะหากผู้ขายหรือผู้ลงทะเบียนรู้ (หรือควรรู้) ว่าเบอร์นั้นจะถูกใช้ทำความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นี่คือบทลงโทษที่จริงจัง เพื่อปิดประตูบัญชีม้า และเบอร์ผีที่เป็นจุดเริ่มของการฉ้อโกงออนไลน์

อย่างไรก็ตาม กฎหมายจะทรงพลังได้จริง ก็ต่อเมื่อการบังคับใช้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เขียนไว้สวยหรูในกระดาษ เพราะในโลกที่ภัยไซเบอร์ฉลาดขึ้นทุกวัน สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการไม่ใช่แค่คำปลอบใจ แต่คือระบบที่ลุกขึ้นมาปกป้องตั้งแต่ก่อนจะตกเป็นเหยื่อ