ร้อง อย. ไร้การควบคุม ปล่อยอาหารเสริม โฆษณาเกินจริงเกลื่อนเมือง

สภาผู้บริโภคเรียกร้อง อย.กำกับดูแลผลิตภัณฑ์ก่อนอนุญาตเลขสารบบอาหาร และตรวจสอบผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ท้องตลาด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค หลังพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอวดอ้างเกินจริงจำหน่ายทั่วท้องตลาด หวั่นผู้บริโภคหลงเชื่อทำให้เสียเงินและโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง

จากกรณีที่มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ “Optimores VC-1” แอบอ้างงานวิจัยว่า สามารถ ช่วยให้ตาชุ่มชื้นและช่วยแก้ปัญหาตาพร่ามัว โดยอ้างชื่อว่าได้รับการรับรองจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ด้านจักษุแพทย์ นพ.ศีตธัช วงศ์กุลศิริ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย เตือนผู้บริโภคว่า ผลการวิจัยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีเพียงการทดลองในเซลล์เพาะเลี้ยง ยังไม่มีการทดลองทางคลินิกในคนมาก่อน และงานวิจัยนี้อยู่ในขั้นตอนการทดลอง แต่ขณะนี้พบว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากหลงเชื่อได้ซื้อผลิตภัณฑ์มาใช้ ทำให้สูญเสียเงินและขาดโอกาสในการรักษาอาการทางตา

วันนี้ 14 พฤศจิกายน 2566 มลฤดี โพธิ์อินทร์ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค กล่าวว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นอาหารเสริม จะอวดอ้างสรรพคุณในการรักษาโรคไม่ได้แต่ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริมสามารถลงทะเบียนออนไลน์และนำสินค้าออกวางขายได้ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการโฆษณาเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากหลงเชื่อ จึงเรียกร้องให้ อย. เร่งตรวจสอบและนำผลิตภัณฑ์อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีการโฆษณาเกินจริงทุกชนิดออกจากท้องตลาด

“อย. ต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้ ควรตรวจสอบและตรวจทานก่อนอนุญาตและการโฆษณาตอนจำหน่ายแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้บริโภค และการที่ให้ผู้ประกอบการสามารถขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ผ่านออนไลน์ได้เอง อาจกลายเป็นช่องโหว่ที่ทำให้มีการโฆษณาเกินจริงและ อย. ไม่ได้ไปกำกับติดตามผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เพียงอนุญาตผลิตภัณฑ์แล้วปล่อยผ่าน เมื่อพบปัญหาจึงตรวจสอบและออกมาเตือน ไม่มีการเยียวยาผู้บริโภค และควรมีระบบติดตามสินค้าหลังอนุญาตให้วางจำหน่าย (Post-Marketing) ว่ามีการโฆษณาหรือจำหน่ายที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งหากเกิดผลกระทบกับผู้บริโภคจะทำให้สามารถติดตามต้นตอและแหล่งผลิต ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ถูกจุดและทันการณ์มากขึ้น” มลฤดีระบุ

อาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary supplements) จัดเป็นอาหารชนิดหนึ่งตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 เพราะฉะนั้นการทานอาหารเสริม ก็คือการทานอาหารชนิดหนึ่ง จึงมีฤทธิ์ในการรักษาโรคที่ไม่ใช่จากยา เพราะการจะขึ้นทะเบียนตำรับยาได้นั้น ต้องมีการพิสูจน์เชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ว่า ยาตัวนั้นมีผลออกฤทธิ์ตามที่กล่าวอ้างจริง ๆ

หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีข้อความที่สื่อแสดงสรรพคุณอันทำให้เข้าใจว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรค ถือว่าเข้าข่ายการโฆษณาสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เกินจริง ซึ่งถือว่าเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 และมาตรา 41 จึงไม่ควรหลงเชื่อและซื้อมารับประทาน เพราะอาจเป็นการสูญเงินเปล่า และได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรสมาชิกทั่วทั้งประเทศ จะช่วยกันตรวจสอบเฝ้าระวัง และติดตามผลการดำเนินงานต่อไป

ด้าน นายแพทย์ศีตธัช ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานฝ่ายวิชาการด้านส่งเสริมสุขภาพตาเพื่อสังคม ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัยของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวว่า ในตามหลักการแพทย์หากจะอ้างว่าสารนั้นมีสรรพคุณอย่างไรก็จะต้องมีงานวิจัยรองรับ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีเพียงการทดลองในเซลล์เพาะเลี้ยง แต่ยังไม่มีการทดลองทางคลินิกในคนมาก่อน และงานวิจัยนี้อยู่ในขั้นตอนการทดลองโดยนำเซลล์ของกระจกตาของคนเอาออกมา และหยดสารจนได้ผลคือเซลล์กระจกตายังปกติดี แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยรักษาโรคตาได้ เนื่องจากเซลล์กระจกตาที่นำมาวิจัยนั้นไม่ได้เป็นโรคที่เกี่ยวกับตา อย่างไรก็ตาม ในการทดลองดังกล่าวเป็นการหยดสารไปที่เซลล์กระจกตาโดยตรง แต่ผลิตภัณฑ์กลับให้ใช้วิธีรับประทานเข้าไป ดังนั้นมีวิธีการดูดซึมตัวสารที่แตกต่างกัน และที่สำคัญการวิจัยนี้ยังไม่เคยมีการทดลองกับคน จึงไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่ารักษาได้จริงตามคำโฆษณา

ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 กำหนดว่า ‘หากผู้ประกอบการกระทำการเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความเป็นเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ’ ซึ่งหากหน่วยงานกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังก็คาดว่าจะช่วยลดปัญหาผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายในท้องตลาดและในออนไลน์ลงได้ แต่ปัจจุบันพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีการโฆษณาเกินจริงอย่างแพร่หลายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากยังมีการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มข้นมากพอ ขณะที่ผู้บริโภคที่ซื้อผลิตภัณฑ์ไปใช้กลับต้องได้รับผลกระทบ ทั้งสูญเสียเงินและสูญเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง และอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว

ดังนั้น อย. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เพื่อปกป้องและคุ้มครองสุขภาพของประชาชนให้ได้บริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย จึงควรเร่งจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและท่วงที เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค และควรมีช่องทางในการเรียกคืนสินค้า รวมถึงการชดเชยเยียวยาและคืนเงินให้กับผู้บริโภคด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีการอ้างกรณีที่ผู้บริโภคกินผลิตภัณฑ์นี้แล้วรู้สึกดีขึ้น กรณีนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นอาการ ‘ปรากฎการณ์ยาหลอก’ (Placebo Effect) หรือเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้ป่วยกินยาเข้าไปและคิดว่าอาการจะหายและเหมือนว่าสมองถูกกระตุ้นจนทำให้ร่างกายคิดว่ากำลังได้รับการรักษาและอาการปวดลดลงจริง ๆ

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคได้รับปัญหาจากอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สามารถติดต่อไปที่สายด่วนของ อย. ที่เบอร์ 1556 และหากที่ไม่รับความเป็นธรรมหรือหากไม่มีความคืบหน้า สามารถร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค ได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้

• ร้องเรียนออนไลน์ : https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain   
• Line Official : @tccthailand ลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U     
• เฟซบุ๊กอินบ็อกซ์ : สภาองค์กรของผู้บริโภค
• โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1
• อีเมล : [email protected]

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค