ข้อเสนอต่อปัญหาการปล่อยสินเชื่อออนไลน์

สถานการณ์

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น ทั้งการซื้อสินค้าออนไลน์ การชำระเงินออนไลน์ หรือแม้แต่การกู้เงินออนไลน์ แม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาและก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ หากแต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และการเท่าทันต่อความไม่ปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเป็นจำนวนมากใช้ช่องโหว่จากความไม่รู้ของผู้บริโภคแสวงหาผลประโยชน์จากผู้บริโภคอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ (Peer to peer lending : P2P)

ขณะที่ ในประเทศไทย แม้จะยังไม่มีการเก็บสถิติจำนวนเรื่องร้องเรียนของผู้ได้รับผลกระทบจากการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ หากแต่ปรากฏข่าวพบผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยถูกเอาเปรียบจากการปล่อยเงินกู้ผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น NEGU, NICE LOAN, CASH CARD, CASH LOAN เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด การทวงหนี้ที่มีการคุกคามและข่มขู่ประจาน รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลในมือถือโดยไม่ได้รับอนุญาต ถึงแม้ว่าผู้กระทำการเหล่านี้จะถูกจับและดำเนินคดีบ้างแล้วก็ตาม แต่ยังมีแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดียอื่น ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ เป็นต้น ชักชวนให้กู้ยืมเงิน ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจที่ปล่อยสินเชื่อเหล่านี้ บางส่วนยังไม่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ทำบริการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวได้ ส่งผลให้ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิเป็นจำนวนมาก


การดำเนินงาน

จากปัญหาข้างต้น สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลความคิดเห็นของผู้บริโภค ในการใช้บริการสินเชื่อออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือที่กระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค และคณะอนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาผู้บริโภคจัดเวทีสร้างความร่วมมือด้านการควบคุม กำกับแอปพลิเคชันเงินกู้กับหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย และกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ และจัดทำข้อเสนอถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค

1. ธนาคารแห่งประเทศไทย ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ดำเนินการดังนี้

1.1 จัดตั้งหน่วยงาน One Stop Service รับเรื่องร้องเรียนปัญหาแอปพลิเคชันเงินกู้ออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับบริการแอปฯ เงินกู้ออนไลน์  


1.2 จัดทำฐานข้อมูลของแอปฯ เงินกู้ที่ขึ้นทะเบียนกับธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้โดยง่าย


1.3 จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ข้อมูลเกี่ยวกับการขอกู้ยืมเงินจากแอปฯ เงินกู้ออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย เช่น การคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ช่องทางตรวจสอบค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการต่าง ๆ ของแอปฯ เงินกู้ และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น


1.4 จัดให้มีการแสดงตราสัญลักษณ์หรือลักษณะที่จะตรวจสอบ ณ จุดใช้บริการทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถระบุได้ว่าแอปฯ เงินกู้นั้นถูกกฎหมายหรือไม่

1.5 จัดหาแหล่งเงินทุนที่ถูกกฎหมายที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยไม่ต้องมีหลักประกันเพิ่มขึ้น

1.6 ขอให้ประสานแจ้งไปยัง ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อทบทวนความเข้มงวด ของ KYC (Know Your Customer) และ CDD (Customer Due Diligence) โดยเฉพาะการโอนเงินที่ผิดปกติ หรือมีรูปแบบการโกงซ้ำ (Repeated Pattern) เนื่องจากผลสำรวจพบว่า แอปฯ เงินกู้ออนไลน์ส่วนใหญ่ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เป็นแอปฯ ที่เปิดบัญชีโดยธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮาส์ จำกัด (มหาชน)

2. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลดำเนินการ ดังนี้

2.1 เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการกับแอปฯ เงินกู้ที่ผิดกฎหมายในส่วนของการคุ้มครองความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

2.2 ควรมีมาตรการกำกับดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ โดยจัดให้มีระบบตรวจสอบ กลั่นกรองผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ให้ประกอบธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย

2.3 ควรมีระบบการกำกับ/ป้องกันการเผยแพร่/โฆษณาข้อมูลแอปฯ เงินกู้ผิดกฎหมายบนสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

2.4 ควรดำเนินการตรวจตรา ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และปราบปรามแอปฯ โดยใช้เครื่องมือการค้นหาผ่านกูเกิล (Google) และหากพบว่าเป็นแอปฯ ที่ผิดกฎหมาย ขอให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 เพื่อเป็นการป้องปรามผู้กระทำความผิด

2.5 สร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภคให้เท่าทันต่อการปล่อยกู้ออนไลน์ผ่านช่องทางต่าง ๆ

3. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขอให้สำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลดำเนินการ ดังนี้

3.1 ให้มีมาตรการระงับการส่งข้อความ (SMS) ที่อาจมีข้อความโฆษณาเชิญชวน หรือหลอกลวงให้ผู้บริโภคทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ได้ตั้งใจผ่านโทรศัพท์มือถือ

3.2 ให้บังคับใช้ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่าย หรือการโฆษณา อันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ.2558 เนื่องจากกฎหมายนี้มีโทษปรับสูง ซึ่งอาจจจะช่วยป้องกันปัญหาได้

3.3 ให้ควบคุมแอปฯ ที่แฝงผ่านระบบเครือข่ายโทรคมนาคม โดยมีกระบวนการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค โดยผู้บริโภคไม่รู้ตัว โดยเฉพาะแอปฯ ที่ให้เข้าถึงผ่านระบบไมโครโฟนบนโทรศัพท์มือถือ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ แอปฯ ตกแต่งใบหน้า เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันมีการเข้าถึงข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายมือถือ ที่มีนโยบายคุกกี้เก็บข้อมูลชั่วคราวบนคลาวด์ ซึ่งผู้บริโภคไม่รู้ว่ามีการเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภคได้ถึงระดับไหน

4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลดำเนินการ ดังนี้

4.1 ต้องไม่ปฏิเสธการรับแจ้งความ เมื่อมีผู้ที่ได้รับความเสียหายไปแจ้งความดำเนินคดีกับแอปฯ เงินกู้ที่ผิดกฎหมาย ถึงแม้ว่าจะเป็นการยินยอมทำธุรกรรมร่วมกัน เนื่องจากเป็นการกระทำภายใต้เงื่อนไข ที่ไม่เป็นธรรมและผิดกฎหมาย รวมถึงกรณีทวงหนี้ผิดกฎหมายด้วย

4.2 ควรสนับสนุนกระบวนการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดอย่างรวดเร็วทันการณ์ ภายใน 1 – 2 วัน เช่น การอายัดเงินหรือบัญชี

4.3 ควรประสานงานกันระหว่างตำรวจท้องที่และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในการดำเนินการ เช่น จัดส่งหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงธนาคาร หรือระงับบัญชีธนาคารได้ทันที

4.4 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และสถานีตำรวจในท้องที่ ควรเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กับประชาชนให้รับทราบเรื่องคดีที่เกิดขึ้นจากแอปฯ เงินกู้ ที่ผิดกฎหมาย และระบบการส่งเอกสารประกอบหลักฐาน

5. บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด ขอให้บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ให้บริการดำเนินการ ดังนี้

5.1 ควรมีนโยบายและมาตรการคัดกรองแอปฯ เงินกู้ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล และปิดกั้นการเข้าถึงแอปฯ ที่ผิดกฎหมายก่อนที่จะให้บริการดาวน์โหลดบน Play Store เพื่อเป็นการคัดกรองแอปฯ ที่ผิดกฎหมาย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการให้แก่ผู้บริโภค

5.2 มีการเชื่อมฐานข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อตรวจสอบแอปฯ เงินกู้ก่อนอนุญาตให้มีการเผยแพร่ให้ผู้บริโภคดาวน์โหลด


ความคืบหน้า

      อยู่ระหว่างการติดตามข้อเสนอแนะ