ลงพื้นที่วัดความกว้างถนน หน้าคอนโดโดนร้องเรียน “ไม่ผ่าน” ทั้งสามชุมชน

สภาผู้บริโภคพร้อมเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครลงพื้นที่ตรวจสอบการสร้างตึกสูงในซอยแคบ 3 ชุมชน พบอาจผิด พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร รวมทั้งละเมิดสิทธิความเป็นอยู่เดิมของคนในชุมชน เหตุคำนิยาม เขตทางไม่ชัดเจนเสนอเร่งแก้กฎหมายลดความขัดแย้งในอนาคต

วันที่ 30 สิงหาคม 2566 สภาผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่เขต กทม. และตัวแทนของผู้อำนวยการสำนักควบคุมอาคาร พร้อมสื่อมวลชน ลงพื้นที่สำรวจ 3 ชุมชนกลางกรุงหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้อาศัยรอบข้างได้รับความเดือดร้อนจากโครงการอาคารสูงในซอยแคบ ซึ่งประกอบด้วยชุมชนโครงการเอส – ประดิพัทธ์ (ประดิพัทธ์ ซอย 23) โครงการเอส – รัชดา (รัชดา ซอย 44) และโครงการเดอะมูฟ (พหลโยธิน 37) ทั้ง 3 โครงการเป็นคอนโดแบบโลว์ไรส์ (Low Rise) คือ คอนโดที่มีความสูงไม่เกิน 23 เมตร หรือคอนโดที่มีความสูงประมาณ 8 – 9 ชั้น สร้างในซอยแคบ ที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความปลอดภัยของผู้คนในชุมชนดั้งเดิม

ทั้งนี้ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ได้กำหนดให้ทางสาธารณะที่สถานที่ก่อสร้างอาคารสูงระดับนี้ตั้งอยู่ จะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร และยาวต่อเนื่องไปถึงทางสาธารณะที่กว้างกว่า โดยในข้อ 5 ของขอบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดคำนิยาม “เขตทาง” ที่หมายความว่า ความกว้างรวมของทางระหว่างแนวที่ดินทั้งสองด้าน ซึ่งรวมความ กว้างของผิวจราจร ทางเท้า ที่ว่างสำหรับปลูกต้นไม้ คูน้ำ และอื่นๆ เข้าด้วย เพราะคำนิยามของคำว่า เขตทาง ที่ครอบคลุมความกว้างรวมของทางระหว่างแนวที่ดินทั้งสองด้าน แต่ไม่ใช่พื้นที่ถนนที่รถสามารถสัญจรสวนทางกันได้ ส่วน “ถนนสาธารณะ” หมายความว่า ทางสาธารณะที่ยวดยานผ่านได้ ขณะที่ “ทางสาธารณะ ” หมายความว่า ที่ดินที่ประชาชนมีสิทธิใช้เป็นทางคมนาคมได้ ที่ไม่ใช่ทางส่วนบุคคล ก่อให้เกิดปัญหาการก่อสร้างตึกสูงในซอยแคบเรื่องการสัญจร และส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และความปลอดภัยของชุมชนเดิมได้

ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภค และตัวแทนชุมชนได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและรังวัดจริง ใน 2 วิธีคือ 1. รังวัดตามคำนิยามของเขตทางคือวัดระยะถนนจากกำแพงด้านหนึ่งชนกับอีกด้านหนึ่ง 2. รังวัดตามข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิต และการสัญจรจากพื้นผิวถนน ซึ่งสอดคล้องกับนิยามของถนนสาธารณะเป็นหลัก ซึ่งพบว่าทั้ง 3 โครงการระยะห่างของถนนจากการวัดพื้นผิวถนนไม่ถึง 6 เมตร

กรณีโครงการเอส – ประดิพัทธ์ (ประดิพัทธ์ ซอย 23) สูง 8 ชั้น  219 ห้องที่จอดรถ 68 คัน ซึ่งขณะนี้โครงการผ่านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่ระหว่างขอใบอนุญาตก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม หากวัดตามวิธีที่ 1 คือนิยามเขตทางจะพบว่า 2 จุดมีระยะห่างไม่ถึง 6 เมตร คือ 5.6 เมตร และ 5.8 เมตร แต่มีเพียง 1 จุด ที่วัดตามนิยามของเขตทาง โดยวัดได้ประมาณ 7.5 เมตร ขณะที่หากวัดตามวิธีการที่ 2 คือพื้นผิวจราจรพบว่าทั้ง 3 จุด มีระยะถนนไม่ถึง 6 เมตร นอกจากนี้ในพื้นที่ดังกล่าวยังพบว่ารถจอดสองข้างทาง ทำให้เกิดปัญหารถไม่สามารถขับสวนกันได้ และการสัญจรติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วน (rush hour)  รวมไปถึงหากเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้รถดับเพลิงอาจไม่สามารถเข้าไปในซอยได้

ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ ตัวแทนผู้เสียหายจากโครงการเอส – ประดิพัทธ์ ให้ความเห็นถึงสิทธิผู้บริโภคโดยพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญว่า ผู้บริโภคทุกคนมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและยังชีพได้อย่างปลอดภัย และสิ่งใดที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ผู้บริโภคต้องปกป้องสิทธิของตนเอง เช่น การมีคอนโดสูงมาสร้างติดหลังบ้าน จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการอยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่เป็นอยู่  

“การมีตึกสูงอยู่หลังบ้านจะบังแดดบังลมส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งยังมี ปัญหาที่จอดในคอนโดไม่เพียงพอ หากมีรถจอดสองข้างทางมากจนเกินไป หากเกิดไฟไหม้รถดับเพลิงและรถพยาบาลไม่สามารถสัญจรเข้าได้ และระหว่างก่อสร้างจะก่อให้เกิดมลพิษทางฝุ่น เป็นปัญหาที่ผู้บริโภคต้องตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนและลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเอง” ทิววัฒน์ ระบุ

ปัญหาที่ผู้เสียหายอีกท่านหนึ่งเสนอ คือ ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในด้านกฎหมาย ที่มีไว้บังคับใช้กับชาวบ้านที่ถูกบังคับใช้อย่างไม่ยุติธรรม ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ในทุกวัน เป็นเพราะประชาชนทั่วไปไม่มีความรู้ในด้านนี้และไม่มีเงินทุนที่จะต่อสู้

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของชุมชนส่วนใหญ่ตระหนักว่าทุกคนต้องรู้จักสิทธิของตัวเองและร่วมมือกันปรับเปลี่ยนกฎหมายให้บังคับเท่าเทียมกันทุกคน ไม่ใช่มีไว้เพื่อเอื้อต่อนายทุนอสังหาฯ กฎหมายควรรองรับทุกคนให้เท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์ตัวแทนแม่ค้าในตลาด ได้ความเห็นว่า ซอยดังกล่าวมีคอนโดอยู่เป็นจำนวนมาก
ซึ่งทำให้พบปัญหาการสัญจรติดขัดทุกวันอยู่แล้ว หากมีคอนโดเกิดขึ้นอีกเห็นว่าคงเกิดปัญหาไม่ต่างกัน อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าความคิดเห็นข้างต้นอาจเกิดขึ้นจากการถูกละเมิดสิทธิจนเกิดความเคยชิน จนทำให้ผู้บริโภคอาจไม่ตระหนักถึงสิทธิความเป็นอยู่ที่ควรได้รับ เพราะการไม่มีข้อมูลหรือไม่มีความรู้ในเรื่องกฎหมาย จนส่งผลให้ถูกละเมิดสิทธิจนเกิดความเคยชิน

ส่วนกรณีโครงการเดอะมูฟ (พหลโยธิน 37) เป็นโครงการสูง 8 ชั้น จำนวน 230 ห้อง ที่จอด 80 คัน จากการลงพื้นที่รังวัดจริงทั้งหมด 3 จุด พบว่าระยะถนน ไม่ถึง 6 เมตร ทั้งการรังวัดตามวิธีการที่ 1 คือ คำนิยามของเขตทาง และวิธีการที่ 2 คือวัดตามพื้นผิวถนน โดยการวัดตามนิยามเขตทางได้ประมาณ 5.7 เมตร ซึ่งไม่ผ่านกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ที่ถนนสาธารณะจะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร

ทั้งนี้ ซอยพหลโยธิน 37 มีชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยเป็นบ้านแนวราบมานานกว่า 90 ปี และมีโรงเรียนอรรถมิตร ที่มีนักเรียนกว่า 1,700 คน ในช่วงเวลาเลิกเรียนพบปัญหารถติด ตั้งแต่หน้าโรงเรียนไปจนถึงปากซอย และความกว้างของถนนที่ค่อนข้างแคบสองข้างทางไม่ทางเท้าสำหรับสัญจรได้อย่างปลอดภัย ผู้คนที่สัญจรไปมาต้องคอยหลบรถที่เข้าออก

ด้านตัวแทนผู้เสียหายจากโครงการเดอะมูฟ (พหลโยธิน 37) กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ทราบรายละเอียดของโครงการ ส่วนตัวก็ดีใจเห็นว่าเป็นโครงการแสนสิริ เพราะเห็นว่ามีวิสัยทัศน์เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่เมื่อโครงการเข้ามาเริ่มมีการตัดต้นไม้จนหมด กระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่เดิมของผู้สูงอายุในชุมชนที่ควรได้รับอากาศบริสุทธิ์ แต่กลับต้องได้ผลกระทบด้านฝุ่น เสียง ที่ส่งผลต่อสุขภาพ รวมถึงพื้นดินจะถูกเปลี่ยนเป็นซีเมนต์ เมื่อฝนตกน้ำจะไม่ไหลลงดิน เกิดปัญหาน้ำท่วมมากกว่าเดิม และปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอทั้งนี้ โครงการเคยให้รายงานการศึกษาแต่ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง ชุมชนจึงได้ขอข้อมูลใหม่กับโครงการฯ เป็นข้อมูลการศึกษาถึงผลกระทบทุกอย่างที่คนในชุมชนควรได้รู้ เช่น ด้านสุขภาพ อนามัย เสียง ฝุ่น การบังแดดบังลม

ทั้งนี้ผู้เสียหายได้ฝากถึงหน่วยงานที่มีอำนาจในการอนุมัติ ควรตรวจสอบให้มากกว่านี้ ขอให้มีความเห็นใจผู้อยู่อาศัยเดิม ไม่ว่าเด็กหรือผู้สูงอายุที่ต้องได้รับผลกระทบจากการสร้างโครงการนี้ อีกทั้งผู้อยู่อาศัยในชุมชนต้องตระหนักในสิทธิของตนที่จะได้อยู่ในชุมชนที่มีสะอาดบริสุทธิ์ ความปลอดภัยที่ควรได้รับหากเกิดอุบัติเหตุรถพยาบาลหรือรถดับเพลิงสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้

ขณะที่กรณีโครงการเอส – รัชดา (รัชดาซอย 44) โครงการรูปตัวยู สูง 8 ชั้น ขนาด 530 ห้อง ที่จอดรถ 150 คัน จากการลงพื้นที่วัดจริง 3 จุด พบว่าบางจุดการรังวัดตามคำนิยามของเขตทางวัดได้ประมาณ 6.1 เมตร ขณะที่การวัดตามพื้นผิวจารจร ไม่ถึง 6.1 เมตร ซึ่งรถไม่สามารถวิ่งได้

ทั้งนี้ยังพบว่าซอยดังกล่าวสามารถเชื่อมไปยังเส้นทางอื่นทำให้การจราจรหนาแน่น และยังมีโรงเรียนและโรงพยาบาลผู้สูงอายุ ซึ่งมีการสัญจรของรถพยาบาลตลอดเวลา ดังนั้นหากมีการสร้างคอนโดอาจส่งผลกระทบด้านการสัญจร

นอกจากนี้ยังพบรูปแบบการก่อสร้างโครงการดังกล่าวเป็นลักษณะรูปตัวยู ล้อมบ้านของผู้อยู่อาศัยเดิมหนึ่งหลังลักษณะเป็นไข่ดาวกลางโครงการ หากมีการอนุมัติโครงการและเกิดการก่อสร้าง บ้านหลังนั้นจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างไม่ว่าจะเป็น ฝุ่น เสียง หรืออุบัติเหตุจากการก่อสร้างได้

ตัวแทนผู้เสียหายจากโครงการเอส – รัชดา (รัชดาซอย 44) ได้ระบุเพิ่มเติมว่า เนื่องจากเป็นพื้นที่เป็นซอยดั้งเดิม ตอนจัดสรรที่ดิน จึงทำให้ถนนค่อนข้างแคบกว่าที่อื่น และในซอยไม่เคยมีคอนโดกว่า 530 ยูนิต จึงเป็นกังวลเรื่องการจราจร น้ำท่วม และหากเกิดอัคคีภัยรถดับเพลิงจะไม่สามารถเข้าถึงได้

ทั้งนี้ ผู้เสียหายจากโครงการที่บ้านอยู่หลังโครงการ ได้ร่วมให้ความเห็นถึงผลกระทบที่จะได้รับเรื่องของการบังแดดและลม ที่อาจก่อให้เกิดเชื้อรา และส่งผลถึงเรื่องของสุขภาวะในระยะยาว หากมีการสร้างคอนโดจะกระทบการเป็นอยู่เดิม รวมถึงผลกระทบระหว่างก่อสร้าง

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค มีความเห็นว่า จากข้อมูลการร้องเรียนทั้ง 3 ชุมชน และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบของเจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภค พบว่า ทั้ง 3 โครงการมีปัญหาที่ส่อจะผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 เนื่องจากหลายจุดระยะถนนไม่ถึง 6 เมตร รวมไปถึงข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิตของชุมชนอาจจะถูกละเมิดได้

ดังนั้น สภาผู้บริโภค จึงเชิญเจ้าหน้าที่เขต กทม. และสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน ก่อนจะมีการอนุมัติโครงการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ นอกจากนี้ยังเห็นว่าจากข้อเท็จจริงของทั้ง 3 ชุมชนว่า นิยามเขตการทางตามกฎหมายไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของระยะถนนที่ชุมชนใช้ชีวิตอยู่จริง จึงเห็นว่าควรพิจารณาแก้ไขคำนิยามดังกล่าวให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหรือไม่

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค