พบสารปนเปื้อน ที่ อย. ห้ามใช้ในไส้กรอก 17 ตัวอย่าง

‘ฉลาดซื้อ’ พร้อมองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง เผยผลทดสอบ ‘วัตถุกันเสียในไส้กรอกในพื้นที่อยุธยา’ จำนวน 17 ตัวอย่าง พบสารอันตรายที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขห้ามใช้ หรือใช้เกินปริมาณที่กำหนดในทุกตัวอย่าง ซึ่งสารเหล่านั้นคือ สารไนเตรท และพบสารซอร์บิก เกินมาตรฐาน 1 ตัวอย่าง สารเบนโซอิก พบใน 3 ตัวอย่าง และสารไนไตรท์ แต่ไม่เกินมาตรฐานใน 12 ตัวอย่าง

การทดสอบนี้ สืบเนื่องมาจากกรณีที่พบอุบัติการณ์ เด็กป่วยจากภาวะเมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) ในเวลาใกล้เคียงกันจากการบริโภคไส้กรอกไม่มียี่ห้อและไม่มีเอกสารกำกับ ใน 5 จังหวัด ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา จึงเร่งรัดให้มีการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง และเตือนภัยให้รวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย
 
วันที่ 29 มีนาคม 2565 ภก.สันติ โฉมยงค์ เภสัชกร องค์กรผู้บริโภคภาคกลาง กล่าวว่า การทดสอบครั้งนี้เป็นการสุ่มตัวอย่างจากผลิตภัณฑ์ไส้กรอก 17 ตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ตลาดวังน้อย เมืองใหม่ ตลาดเจ้าพรหม ห้างแม็คโคร อยุธยา และร้านซีพีเฟรชมาร์ท สาขาอยุธยา เดชาวุธ จากนั้นจึงส่งวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุเจือปนอาหารประเภทกรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก ไนเตรท และไนไตรท์ ซึ่งเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้เป็นสารกันเสีย สารคงสภาพของสี รวมถึงใช้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด ว่าปริมาณสารเหล่านี้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดไว้หรือไม่ (อ่านรายละเอียดในกรอบด้านล่าง)

โดยการทดสอบครั้งนี้เป็นความร่วมมือของ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กับองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สสส.

ทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการ มพบ. และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า จากผลการทดสอบมีข้อสังเกตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไส้กรอก คือ 1. มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอก 1 ตัวอย่างที่ตรวจพบทั้งซอร์บิก เบนโซอิก และไนเตรท ได้แก่ ฮอทดอกไก่ (ไส้กรอกไก่) ตราพีแอนด์เจ ซึ่งตามกฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้สารกลุ่มซอร์บิกร่วมกับสารกลุ่มไนไตรท์ และไม่อนุญาตการใช้เบนโซอิก เท่ากับว่าผิดมาตรฐานเพิ่ม

และ 2. พบสารไนเตรทในทุกตัวอย่าง ทำให้เกิดข้อสงสัยในการผลิตไส้กรอก เนื่องจากเป็นสารที่ไม่ได้กำหนดมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์ไส้กรอกชนิดสุก หรือก็คือห้ามใช้ หากเป็นไส้กรอกที่ไม่ผ่านการปรุงสุกกำหนดมาตรฐานให้ใช้ในปริมาณไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) แต่กลับพบในทุกตัวอย่าง ทั้งนี้ การปนเปื้อนของไนเตรทอาจเป็นไปได้ว่า ผู้ผลิตอาจจงใจใช้ ทั้งที่กฎหมายห้าม หรืออาจเกิดจากการที่ผู้ผลิตยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนสูตรการผลิต เนื่องจากเดิมเคยอนุญาตให้ใช้ได้ในปริมาณไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งต่อมาปรับเป็นไม่ได้กำหนดให้ใช้ ตั้งแต่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ.2559 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ.2561 และประกาศฉบับปัจจุบัน (ฉบับที่ 418) พ.ศ.2563 หรือการที่พบในปริมาณน้อยอาจเกิดจากการปนเปื้อนที่มาจากวัตถุดิบหรือวัตถุเจือปนอาหารชนิดอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมกันในการผลิต

ขณะที่กรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า เมื่อ อย. ทราบเบาะแสแหล่งผลิตอาหารอันตรายต้องไปตรวจค้นและต้องรายงานข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบ ทั้งยี่ห้อ โรงงาน และผลตรวจทันที อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงที่ผ่านมา สอบ.เคยส่งข้อเรียกร้องไปยัง อย. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล และข้อแนะนำไปยังหน่วยงานอื่นและผู้บริโภค เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ ดังนี้ 

1. เรียกร้องให้ อย. ประสานข้อมูลกับพื้นที่และพัฒนาระบบเฝ้าระวังและระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพและทันการณ์มากยิ่งกว่านี้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นซ้ำอีก โดยให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

  • เชื่อมโยงข้อมูลทั้งระบบเข้าด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการส่งต่อข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค นอกจากนี้ ยังต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับสถานพยาบาลที่มักเป็นแหล่งที่มีผู้ป่วยจากการกินหรือใช้ผลิตภัณฑ์อันตรายเข้ารักษาตัวด้วย
  • นำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงานเพื่อให้เกิดระบบการเฝ้าระวังและตรวจจับอัตโนมัติ เพื่อเตือนภัยผู้บริโภคได้ทันเหตุการณ์ หากเจอผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย
  • สนับสนุนให้ผู้บริโภคและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง โดยใช้เทคโนโลยีที่ง่าย ไม่ซับซ้อนและส่งต่อข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ส่งต่อข้อมูลจากสถานพยาบาลไปยังจังหวัดที่พบเด็กป่วยจากการกินไส้กรอก และให้จังหวัดเหล่านั้นตรวจสอบพิสูจน์ต่อว่าโรงงานผลิตไส้กรอกที่มีอยู่ในจังหวัดขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ และไส้กรอกที่ผลิตใส่สารกลุ่มไนเตรทหรือไนไตรท์เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หากพบว่าผิดกฎหมายจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้ผลิต ไม่ควรทำเพียงแค่การตักเตือน เนื่องจากมีผู้ที่ได้รับอันตรายจากการกินอาหารอันตรายเข้าไป

3. ผู้บริโภคจะต้องไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลากระบุอยู่ และต้องให้ข้อมูลหรือส่งต่อข้อมูลให้กับบุตรหลาน และผู้บริโภครายอื่น ๆ อีกทั้ง ยังต้องช่วยกันเฝ้าระวังและส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบติดตาม

และล่าสุดเมื่อ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา องค์กรของผู้บริโภคร่วมประชุมกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยมีข้อเสนอ 3 ประเด็น คือ 1. เสนอให้มีระบบการเรียกคืนสินค้าประเภทอาหาร กรณีพบการปนเปื้อนหรือเข้าข่ายอาหารอันตราย 2. มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในกรณีที่พบอาหารไม่ปลอดภัย เพราะจะทำให้สามารถสืบพบต้นตอของปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังลดโอกาสที่ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบจากอาหารไม่ปลอดภัย และ 3. เสนอให้ อย. ยกระดับความสำคัญของกระบวนการตรวจสอบ จัดการปัญหาหลังจำหน่าย หรือโพสต์มาร์เก็ตติ้ง (Post-Marketing) ให้เท่ากับกระบวนการตรวจสอบ อนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายสินค้า หรือ พรีมาร์เก็ตติ้ง (Pre-Marketing)

สำหรับข้อแนะนำในการบริโภคนั้น หากผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์แปรรูปประเภทลูกชิ้น หมูยอ หรือไส้กรอกชนิดสุก ในเบื้องต้นอาจสังเกตสีของไส้กรอกที่ไม่สดจัดจนเกินไป เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเลขสารบบอาหาร 13 หลัก (เลข อย.) สำหรับการซื้อจากร้านค้าที่อาจไม่ทราบว่าไส้กรอกเป็นผลิตภัณฑ์ยี่ห้อใด อาจขอให้ผู้ขายแสดงหีบห่อบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่นำมาขาย เพื่อให้ทราบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเลข อย.หรือไม่

นอกจากนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ควรบริโภคในปริมาณพอเหมาะ ไม่บ่อยครั้งจนเกินไป และผู้ปกครองควรพิจารณาให้เด็กเลือกรับประทานอย่างเหมาะสม เนื่องจากเด็กชอบรับประทานอาหารประเภทนี้ แต่ก็เป็นกลุ่มเสี่ยง คือ มีความไวต่อวัตถุกันเสีย โดยเฉพาะประเภทไนไตรท์

รายละเอียดของผลทดสอบ มีดังนี้

  1. พบสารไนเตรทในทุกตัวอย่าง ปริมาณตั้งแต่ 20.67 – 112.61 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ.2563 ไม่อนุญาตให้ใช้สารไนเตรทในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีโดยใช้ความร้อน (ไส้กรอกสุก หมูยอ ไก่ยอ ลูกชิ้น)
  2. พบสารซอร์บิก ปริมาณเกินมาตรฐาน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ ฮอตด็อกไก่ (ไส้กรอกไก่) ตราพีแอนด์เจ ปริมาณ 2191.75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเกินมาตรฐานที่กำหนด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ.2563 ที่อนุญาตให้ใช้กรดซอร์บิก ซึ่งเป็นสารกันเสีย ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีได้ไม่เกิน 1500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามใช้ร่วมกับสารกันเสียในกลุ่มไนไตรท์
  3. พบสารเบนโซอิก 3 ตัวอย่าง ได้แก่ KFM ไส้กรอกไก่รมควันหนังกรอบ ป๊อบปูล่า ปริมาณ 148.28 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ฮอทดอกไก่ (ไส้กรอกไก่) ตราพีแอนด์เจ ปริมาณ 58.87 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ CFP ไส้กรอกจัมโบ้หมูรมควันหนังกรอบ ปริมาณ 41.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ.2563 ไม่มีเกณฑ์กำหนดให้ใช้วัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก
  4. พบสารไนไตรท์ใน 12 ตัวอย่าง ไม่พบ 5 ตัวอย่าง ทั้งนี้ ปริมาณที่พบอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (<10.00 – 53.74 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ.2563 อนุญาตให้ใช้สารกลุ่มไนไตรท์ ในปริมาณไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
ผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกในพื้นที่จังหวัดอยุธยา จากศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค