ร้องรัฐฟื้นฟูพุทธมณฑล เอกชนถมที่ ทำต้นไม้ตาย 2 แสนต้น

Getting your Trinity Audio player ready...

จากกรณีพบการถมดินผิดลักษณะในพื้นที่พุทธมณฑล โดยมีเอกชนนำดินจากโครงการขุดอุโมงค์น้ำมาทิ้ง ส่งผลให้ต้นไม้จำนวนมากยืนต้นตายนั้น

วันนี้ (13 กรกฎาคม 2568) รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค เผยถึงสถานการณ์การทำลายพื้นที่สีเขียวริมถนนสาย ค. พุทธมณฑล ซึ่งส่งผลให้ต้นไม้กว่า 195,000 ต้นถูกโค่นถางหรือยืนต้นตายจากการถมดินสูงผิดมาตรฐาน พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเร่งฟื้นฟูพื้นที่ที่เสียหาย

จากการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะฯ พบว่า มีการแผ้วถางพื้นที่ป่าไม้จากปากทางถนนสาย ค. ต่อเนื่องถึงอาคาร 2 หลัง และยาวต่อไปจนสุดแนวการถาง รวมระยะทาง 800 เมตร ความกว้าง 61 เมตร หรือคิดเป็นพื้นที่กว่า 48,800 ตารางเมตร (30.5 ไร่) โดยพื้นที่ดังกล่าวเคยมีต้นไม้ขนาดเล็กและกลางหนาแน่นประมาณ 4 ต้นต่อตารางเมตร ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วพบว่ามีต้นไม้ถูกทำลายถึง 195,200 ต้น

สิ่งที่น่าตกใจคือ กว่าครึ่งของพื้นที่ที่ถูกถากถางมีการถมดินสูงเฉลี่ย 1.5 – 2 เมตร โดยใช้ดินจากการขุดอุโมงค์ระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร ซึ่งถูกขนมาทิ้งไว้ริมถนนสาย ค. ทั้งยังพบหลุมขนาดใหญ่ 4 หลุมสำหรับรองรับการขนดิน โดยมีรถบรรทุกสิบล้อและรถแม็คโครเข้ามาทำงานถมพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ยืนต้นตาย เนื่องจากไม่สามารถหายใจหรือดูดซึมอาหารได้

ก่อนหน้านี้ ผู้อำนวยการพุทธมณฑล ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Active เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ว่าจะลดระดับการถมดินจาก 2 เมตร เหลือเพียง 50 เซนติเมตร (ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าควรไม่เกิน 35 เซนติเมตรเพื่อให้ต้นไม้รอด) แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ปรากฏความคืบหน้าในการดำเนินการใด ๆ

รสนา ชี้ว่า พฤติกรรมการบริหารพื้นที่โดยขาดความรู้ของผู้อำนวยการพุทธมณฑลและสำนักระบายน้ำ กทม. เป็นเหตุให้ต้นไม้ใหญ่ที่ชาวบ้านร่วมกันปลูกมาตั้งแต่ปี 2525 กำลังจะยืนต้นตายอย่างช้า ๆ โดยไม่มีผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน ทั้งยังขัดต่อแนวนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่เคยประกาศปลูกต้นไม้ล้านต้นในกรุงเทพฯ

“การถมดินสูงถึง 2 เมตร ทำให้ต้นไม้ไม่สามารถหายใจ และไม่สามารถหาอาหารได้ เหมือนคนที่ถูกบีบคอ ทำให้มีต้นไม้ใหญ่จำนวนมากยืนต้นตาย สัญญาณที่เห็นคือการทิ้งใบโกร๋น เป็นที่น่าอนาถใจ ภูมิทัศน์ที่เคยร่มรื่นเขียวขจีด้วยต้นไม้เล็กกลางใหญ่ของพื้นที่พุทธมณฑล ถูกทำลายด้วยผู้บริหารที่รู้เท่าไม่การณ์” รสนา ระบุ

กรณีนี้ไม่เพียงกระทบสิ่งแวดล้อม หากยังเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิทธิในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญและสิทธิผู้บริโภคสากล ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงเรียกร้องไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและสำนักงานพุทธมณฑล ให้เร่งตรวจสอบ และแก้ไขความเสียหายอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรภาคประชาชนและอาสาสมัครสิ่งแวดล้อมร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่ดังกล่าว คืนความเขียวชอุ่มให้กับพุทธมณฑลซึ่งเป็นพุทธสถานสำคัญที่ควรคงความร่มรื่นไว้เป็นมรดกทางธรรมชาติและจิตวิญญาณของชาติ รวมทั้งการแก้ไขระบบภูมินิเวศน์ (Ecoregion) ที่ถูกทำลายไปให้กลับคืนสภาพเดิมที่เขียวชอุ่มโดยเร็วที่สุด