ภาคประชาชน เร่งรัฐ ส่งเสริม ‘โซลาร์เซลล์’ ช่วยลดค่าไฟฟ้า

ภาคประชาชน เร่งรัฐส่งเสริม – สร้างแรงจูงใจติดตั้ง ‘โซลาร์เซลล์’ ชงระบบให้ผู้ใช้ไฟผลิตไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง โดยใช้ระบบคิดค่าไฟแบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) ช่วยประชาชนลดค่าไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ร่วมกับร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นสมาชิกสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และกองทุนแสงอาทิตย์ จัดเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ ‘พลังผู้บริโภค สู่พลังงานหมุนเวียน’ เนื่องในวันสิทธิผู้บริโภคสากล ประจำปี 2566 (World Consumer Rights Day 2023) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสื่อสารรณรงค์ให้ผู้บริโภค และทุกภาคส่วนของสังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานโดยใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ภายในครัวเรือนที่สามารถช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าได้

โดย กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวถึงแรงจูงในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อลดค่าใช้จ่ายภายในองค์กรและผลักดันการผลิตไฟฟ้าผ่านพลังงานแสงอาทิตย์มาตั้งแต่ปี 2553 ขณะนี้ถือได้ว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์ช่วยทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้จริงและประหยัดค่าไฟฟ้าไปได้ถึงร้อยละ 37.78 เมื่อเปรียบเทียบค่าไฟฟ้าในปี 2554 ก่อนใช้โซลาร์เซลล์ และปี 2555 หลังจากใช้โซลาร์เซลล์

อย่างไรก็ตามปัญหาอุปสรรคที่เจอขณะนั้นคือการขออนุญาตติดตั้งเป็นไปได้ยาก ติดปัญหาในเรื่องข้อกฎหมาย และมีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้เมื่อปี 2561 ได้เข้าร่วมกับ 14 องค์กรสถานศึกษาและองค์กรภาคประชาชนก่อตั้ง ‘กองทุนแสงอาทิตย์’ ซึ่งได้มีการระดมทุนเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับ 7 โรงพยาบาล ในระยะที่ 1 และติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้วิทยาลัย 7 แห่ง ในระยะที่ 2

กชนุช กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีราคาถูกลงจากเมื่อก่อนมาก หากรัฐผลักดันให้ประชาชนได้เข้าถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านนโยบาย ข้อมูลความรู้เข้าใจ งบประมาณ การสนับสนุนที่ดีจะเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก เพราะไม่เพียงช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องแบกรับขณะนี้และช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิล (เช่น น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน เป็นต้น) ที่กำลังจะหมดไปอีกด้วย

“หากรัฐมีแนวทางสนับสนุนผู้บริโภครายย่อยจะทำให้เกิดการตื่นตัว เพราะไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้เลย แต่เมื่อมีต้นทุนในการเข้าถึงที่สูงเกินไปอาจทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงและสุดท้ายไม่สามารถมุ่งไปสู่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้เต็มที่” กชนุช กล่าว

หลังจากนี้เครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคจะผลักดันให้พรรคการเมืองต่าง ๆ นำนโยบายไปหาเสียงและผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานโดยใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ภายในครัวเรือน รวมถึงการผลักดันระบบคิดค่าไฟแบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) หรือระบบการใช้มิเตอร์ไฟฟ้านับจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตเข้า และหักลบจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้วันต่อวัน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าหน่วยครัวเรือนสามารถผลิตไฟเพื่อใช้เองและสามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ในเวลากลางวันที่เก็บไว้ในแบตเตอร์รี่มาใช้ในเวลากลางคืนได้

ด้านพระปัญญาวชิรโมลี ประธานกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์จะช่วยประหยัดพลังงานและลดภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าไฟของประชาชนได้ หากคำนวณค่าไฟที่ประมาณ 4.5 บาท จุดคุ้มทุนของการติดโซลาร์เซลล์อยู่ที่ประมาณ 3 ปี แต่ในอนาคตหากค่าไฟแพงขึ้นก็อาจจะถึงจุดคุ้มทุนในระยะเวลาเพียง 1 – 2 ปีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมช่วยกันสร้างแรงกระเพื่อมและผลักดันให้เกิดการติดตั้งโซลาร์เซลล์ แต่ยังติดปัญหาเชิงนโยบาย

“ปัจจุบันมีกลุ่มคนที่เริ่มเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกอย่างโซลาร์เซลล์อยู่บ้าง แต่หากอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของทั้งประเทศจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐด้วย ดังนั้น โจทย์คือจะทำอย่างไร
ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ทั้งในภาคครัวเรือนรวมถึงธุรกิจขนาดใหญ่ จริงอยู่ที่ไปคนเดียวอาจจะไปได้ไว
แต่ถ้าไปพร้อมกันทั้งประเทศอาจจะไปได้ไกลกว่า” พระปัญญาวิชรโมลี ระบุ

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย ระบุว่า เรื่องการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคานั้นไม่ใช่เรื่องราคาค่าไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับการตอบรับของการประชุมระดับนานาชาติว่าด้วยการลดโลกร้อน ซึ่งมีเป้าหมายในการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล ลดการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าหลักของประเทศ และหันมาพึ่งพาพลังงานหมุนเวียน

อย่างไรตาม ปัจจุบันยังพบปัญหาเชิงนโยบายของภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนของประชาชน ยกตัวอย่างเช่น มัสยิดในจังหวัดสงขลาที่ติดตั้งแผงโซลารณ์เซลล์ และมีกำลังในการผลิตไฟฟ้าได้หลาย 100 กิโลวัตต์ ซึ่งเกินจากปริมาณการใช้ไฟของเขาแต่กลับต้องทิ้งไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตเกินจากการใช้งานลงดิน แต่หากรัฐบาลมีนโยบายที่สนับสนุนการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน และมีแนวนโยบายที่เปิดกว้าง เขาก็สามารถปันไฟฟ้าไปให้โรงเรียนหรือชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงได้

“จริง ๆ มันมีนวัตกรรม มีชุดความคิดมากมายที่เราสามารถทำได้ เพื่อลดการใช้และทำให้เกิดการพึ่งพาตัวเองด้านพลังงานอย่างแท้จริง แต่สิ่งเดียวที่ต้องทำ คือ ฝ่าฟันกับระบบราชการอันมากมายที่ปิดกันการเข้าถึงแสงแดดของประชาชน และเราก็ไม่อยากให้เรื่องการพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนกลายเป็นเรื่องขององค์กรใหญ่ ๆ เท่านั้น ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ด้วย นี่เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้ได้เลย” นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ระบุ

ด้าน เริงศักดิ์ เข็มทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี กล่าวว่า หลังจากกองทุนแสงอาทิตย์เข้ามาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับวิทยาลัยซึ่งผ่านมาประมาณ 2 ปีแล้ว พบว่าวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายลดลงจากปกติค่าไฟเดือนละ 115,000 บาท ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณเดือนละ 90,000 บาท และหากเป็นช่วงสอบหรือช่วงที่ไม่มีการเรียนการสอนค่าไฟอยู่ที่ประมาณ 40,000 บาท ซึ่งถือว่าถึงจุดคุ้มทุนของการติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้ว

ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน วิทยาลัยฯ มีการปรับวิชาเรียน โดยเปิดวิชาเลือกเสรีเกี่ยวกับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อให้นักเรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่บ้านของตัวเองด้วย และกำลังจะเปิดสอนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น ในเรื่องการติดตั้งโซลาร์เซลล์และการบำรุงรักษา ทั้งนี้ มองว่าการผลักดันให้เกิดการติดโซลาร์เซลล์อย่างแพร่หลาย นอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานและลดค่าไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นการสร้างอาชีพและเพิ่มโอกาสในการจ้างงานอีกด้วย

ในส่วนของวินัย เตชะเกียรตินันท์ ตัวแทนจากบริษัทติดตั้งโซลาร์เซลล์ ระบุว่า ปัจจุบันราคาอุปกรณ์รวมถึงค่าติดตั้งโซลาร์เซลล์ปรับลดลงจากในอดีตมากพอสมควร ส่วนต้นทุนติดตั้งแผงโซลารณ์เซลล์ต่อ 1 กิโลวัตต์นั้น ขึ้นอยู่กับขนาดกำลังไฟที่ติดตั้ง หากติดตั้งเยอะราคาต่อหน่วยก็จะถูกลง แต่หากติดตั้งกิโลวัตต์น้อยราคาเฉลี่ยต่อหน่วยก็จะสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การเลือกช่างที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ควรเลือกบริษัทที่น่าเชื่อถือและไม่ควรพิจารณาด้วยเงื่อนไขทางด้านราคาเพียงอย่างเดียว แต่ควรพิจารณาการรับประกัน การบริการอื่น ๆ รวมถึงการบำรุงรักษาโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระยะยาวประกอบด้วย

วินัย กล่าวอีกว่า ฝากถึงรัฐบาลในเรื่องโอกาสขยายกำลังการติดตั้งให้มากขึ้น และเปลี่ยนจากระบบการขายไฟฟ้าซึ่งประชาชนได้เงินกลับมาไม่ถึงครึ่งหนึ่งของราคาค่าไฟ มาเป็นระบบคิดค่าไฟแบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) ซึ่งจะเพิ่มโอกาสเรื่องการจ้างงาน จะหากทำได้จริงประชาชนน่าจะหันมาติดตั้งโซลาร์เซลล์มากขึ้น เพราะการคุ้มค่ากับการลงทุน และไม่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินไป

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค