รถเถื่อน ตั๋วแพง อุบัติเหตุ ชง ‘ขนส่ง’ ลงโทษสูงสุด เจ้าของรถ – คนขับ ลดภัยผู้บริโภคช่วงสงกรานต์

สภาผู้บริโภค ชงกรมการขนส่งทางบก คุมเข้มความปลอดภัย ‘รถโดยสารสาธารณะ’ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ เสนอหน่วยงานกำหนดบทลงโทษสูงสุด – ตรวจความพร้อมทั้งรถและคนขับอย่างต่อเนื่อง รวมถึงชื่อผู้ประกอบการที่ถูกร้องเรียนหรือถูกปรับเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ หลังที่ผ่านมาผู้บริโภคมักพบปัญหาซ้ำเดิม ทั้งค่าตั๋วโดยสารแพง รถเถื่อน ทิ้งผู้โดยสาร หรือแม้กระทั่งเกิดอุบัติเหตุ แต่ผู้บริโภคกลับไม่ถูกเยียวยาอย่างเหมาะสม

จากกรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวปัญหาการขับรถโดยสารเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดของพนักงานขับรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ ที่มีระยะทางไกลกว่า 350 กิโลเมตร ติดต่อกันจนร่างกายอ่อนล้าพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงกรณีข่าวรถทัวร์บริษัทดังราคาพรีเมี่ยม แต่เมื่อถึงเวลากลับเป็นรถเสริมที่ไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในตั๋วโดยสารนั้น

วันนี้ (12 เมษายน 2566) นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร ประธานคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค เห็นว่า ทั้งสองกรณีเป็นสัญญาณเตือนถึงมาตรการความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะของรัฐที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งหน่วยงานกำกับภาครัฐมักจะไม่ทราบปัญหาของผู้บริโภคหากสื่อมวลชนไม่ได้นำเสนอหรือเผยแพร่ออกมา หรือแม้แต่กระทั่งเกิดความเสียหายกับผู้บริโภคแล้วนั้นแต่ภาครัฐยังไม่ทราบและไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคได้

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงหยุดยาวของเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีปริมาณการเดินทางบนท้องถนนและการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะจำนวนมาก สภาผู้บริโภคเห็นว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการขนส่งต้องเร่งเดินรถหลายรอบเพื่อรับผู้โดยสารให้ได้มากที่สุด และหากเป็นเส้นทางระยะทางไกลที่มีการจราจรหนาแน่นจะส่งผลให้พนักงานขับรถใช้ระยะเวลาบนท้องถนนนาน เพิ่มความอ่อนล้า และนำไปสู่อาการหลับในได้

“ผู้ที่เดินทางในช่วงเทศกาลมักพบปัญหาซ้ำรอยเดิม ไม่ว่าจะเป็นค่าตั๋วโดยสารแพง รถเถื่อนรถผี บรรทุกเกิน ทิ้งผู้โดยสาร หรือแม้กระทั่งเกิดอุบัติเหตุมีผู้โดยสารบาดเจ็บและเสียชีวิต นำมาสู่ปัญหาการชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค” ประธานคณะอนุกรรมการด้านการขนส่ง ระบุ

อย่างไรก็ตาม แม้ในระยะหลังอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีจำนวนลดลง ตามข้อมูลกรมการขนส่งทางบก ที่ระบุว่าในปี 2564 เกิดเหตุ 4 ครั้ง เสียชีวิต 7 ราย และบาดเจ็บ 12 ราย ขณะที่ในปี 2565 เกิดเหตุ 5 ครั้ง เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 9 ราย แต่สถานการณ์และพฤติกรรมการเอาเปรียบผู้บริโภคของผู้ประกอบการขนส่งบางรายก็ยังคงมีอยู่ อีกทั้งกฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ. 2558 กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องปฏิบัติจะละเลยไม่ได้

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภค ในฐานะผู้แทนผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 จึงมีข้อห่วงใยต่อมาตรการความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมีผู้บริโภคใช้บริการเป็นจำนวนมาก จึงมีข้อเสนอแนะต่อกรมการขนส่งทางบกและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนี้

1. ขอให้กำหนดมาตรการกำกับบทลงโทษสูงสุด สำหรับผู้ประกอบการขนส่งที่กระทำผิดซ้ำซาก หรือเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ปฎิบัติตามกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายและไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยในลักษณะเดียวกันนี้

2. ขอให้มีระบบติดตามเชิงป้องกันแบบเรียลไทม์ (Real Time) ผ่านระบบช่วยระบุตำแหน่ง (Global Positioning System : GPS) ในรถโดยสารสาธารณะ โดยเมื่อพบว่ามีการขับรถเกินระยะเวลาที่กำหนด หรือขับรถด้วยความเร็วสูง หรือเข้าเส้นทางเสี่ยงอันตรายสามารถแจ้งเตือนหรือสกัดจับได้ทันที และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการควบคุมควรเชื่อมต่อหรือส่งข้อมูลในหน่วยงานอื่น ๆ ในระดับพื้นที่ เช่น ตำรวจทางหลวง สำนักงานขนส่งแต่ละจังหวัด เป็นต้น

3. ขอให้กำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุ โดยการตรวจความพร้อม ณ สถานประกอบการตามแบบรายการที่ต้องตรวจสอบ (Checklist) และตรวจสอบสภาพความพร้อมของรถและพนักงานขับรถ พร้อมตรวจสอบความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารตามจุด ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารและจุดจอดทุกจังหวัดโดยเคร่งครัด

และ 4. ขอให้เผยแพร่รายชื่อผู้ประกอบการขนส่งที่ถูกร้องเรียนหรือถูกปรับ กรณีหลีกเลี่ยงไม่ปฎิบัติตามกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เพื่อเป็นข้อมูลการเฝ้าระวังรถโดยสารไม่ปลอดภัยและเป็นทางเลือกประกอบการตัดสินใจใช้บริการของผู้บริโภค

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค