Getting your Trinity Audio player ready... |

“The Mountain of Tomorrow” ไม่ใช่แค่ชื่อกิจกรรม แต่หากคือการวางแผนเป้าหมายในอนาคตที่ท้าทาย ซึ่งทุกคนต้องร่วมลงมือทำเพื่อไปให้ถึง การประชุมหน่วยประสานงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ภาคใต้ ครั้งนี้จึงเป็นมากกว่าการพบปะหรือสรุปงาน เพราะคือเวทีของการทบทวน แลกเปลี่ยน และเตรียมความพร้อมเพื่องานคุ้มครองผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 4–5 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมรอยัล จังหวัดภูเก็ต หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคใต้ของสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อ “วางแผนการดำเนินงานของหน่วยประสานงานสภาองค์กรของผู้บริโภค” ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการสร้างพลังการทำงานร่วมกันในพื้นที่ภาคใต้ โดยการประชุมไม่ได้เป็นเพียงแค่การรายงานผล แต่คือการ วางกลยุทธ์ คิดเป้าหมายใหม่ และสร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนภารกิจเพื่อผู้บริโภค มีตัวแทนจากหน่วยประสานงานสภาองค์กรของผู้บริโภคจังหวัดกระบี่และภูเก็ต รวมถึงเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ ทีมงานหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคใต้ หน่วยงานประจำจังหวัดสงขลา และฝ่ายสนับสนุนสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภคจากส่วนกลางเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง
จุดเริ่มต้นของการทบทวนและออกแบบแผน
ภญ.ชโลม เกตุจินดา หัวหน้าหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคใต้ เป็นผู้กล่าวเปิดประชุม ซึ่งได้นำเสนอข้อมูลสถานการณ์และบริบทการทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภค จากนั้นเป็นการรายงานผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา โดยหน่วยประสานงานจังหวัดกระบี่และภูเก็ต ได้สรุปผลการดำเนินงานตามแผนงบประมาณปี 2567 ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบ ถัดมาในช่วงบ่าย เป็นกิจกรรมที่ชื่อว่า “The Mountain of Tomorrow” ซึ่งดำเนินรายการโดย นางสาวจุฑา สังขชาติ หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดสงขลา โดยให้แต่ละหน่วยร่วมกันตั้ง “เป้าหมาย” ที่อยากไปให้ถึง พร้อมทบทวนภารกิจด้านการรับเรื่องร้องเรียน การพัฒนาองค์กร การขยายเครือข่าย และการยื่นจดแจ้งองค์กร เพื่อเชื่อมโยงเป้าหมายนั้นให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม
เพิ่มทักษะด้วยระบบเรื่องร้องเรียนที่เข้มแข็ง
สำหรับวันที่ 2 ชวนระดมความคิดเพื่อยกระดับการทำงาน โดยหัวข้อสำคัญ การวิเคราะห์เรื่องร้องเรียนในระบบ CRM นางสาวกนกพรรณ แสงหิรัญ ฝ่ายสนับสนุนสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภค ได้อธิบายถึง ข้อควรระวังในการบันทึกข้อมูลในระบบ และความสำคัญของการเก็บข้อมูลให้ครบถ้วน เพื่อใช้วิเคราะห์และติดตามแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อด้วยช่วงฝึกปฏิบัติจริงในหัวข้อ “การพัฒนาศักยภาพการวิเคราะห์เรื่องร้องเรียน” ที่ให้แต่ละหน่วยลองวิเคราะห์เคสจริงจากระบบ CRM ตามเกณฑ์ 10 ข้อ และรับคำแนะนำจาก นางสาวเรือนอรุณ ศิริพรประสิทธิ์ เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน และ นางสาวกนกพรรณ แสงหิรัญ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด
สู่แผนปฏิบัติที่พร้อมเดินหน้า ปี 2568
เดินทางมาถึงช่วงบ่ายวันสุดท้าย ที่ประชุมได้ร่วมกัน ออกแบบแผนการดำเนินงาน ปีงบประมาณ 2568 โดยเน้นความสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และปิดท้ายด้วยการสะท้อนบทเรียนและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคใต้และหน่วยงานประจำจังหวัดสงขลา เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของระบบสู่หน่วยประสานงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ภาคใต้ เป็นสองวันที่ไม่เพียงเติมเต็มแผนงาน แต่ยังเติมพลังใจให้กับการทำงานในระยะยาว ทั้งนี้ปัจจุบัน หน่วยประสานงานสภาองค์กรของผู้บริโภคมีทั้งหมด 12 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่
- หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระ มาตรา 50(5) จังหวัดกำแพงเพชร
- ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน จังหวัดนครสวรรค์
- ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จังหวัดพิจิตร
- เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จังหวัดอุบลราชธานี
- เครือข่ายตลาดนัดสีเขียว จังหวัดบุรีรัมย์
- ชมรมสภาองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค บ้านร่องเก้าเหนือ ม.15 จังหวัดศรีสะเกษ
- ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา
- ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จังหวัดฉะเชิงเทรา (ประเด็นเกษตรกร)
- หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน มาตรา 50(5) อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี
- เครือข่ายผู้บริโภค จังหวัดภูเก็ต
- เครือข่ายผู้บริโภค จังหวัดกระบี่
- ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จังหวัดเพชรบุรี
ผลการประชุมที่เป็นมากกว่าการทบทวนแผนงาน เพราะคือ “การเสริมพลัง” ให้หน่วยประสานงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ภาคใต้สามารถยืนหยัดเพื่อสิทธิของผู้บริโภคอย่างมั่นคงในฐานะด่านหน้า ขณะเดียวกันหน่วยประสานอีก 10 แห่งทั่วประเทศต่างก็เดินหน้าพัฒนา เตรียมความพร้อม และวางแผนร่วมกัน เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในระดับพื้นที่เกิดผลอย่างทั่วถึง





